Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ สาระสำคัญของร่างภาษีมรดก

สาระสำคัญของร่างภาษีมรดก

5542

ร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ฉบับผ่านวาระ1 สนช..pdf

18 ธันวาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. … ด้วยคะแนน 160 ต่อ 16 เสียง พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาอีก 90 วัน และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาอีก 90 วัน จึงจะนำกฎหมายนี้มาใช้จริงในเดือนมิถุนายน 2558  โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษีเพื่อลดความ เหลื่อมล้ำ  มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนองค์กรสาธารณกุศล เพิ่มรายได้ให้รัฐ และกระตุ้นการบริโภค

สมชัย จิตสุชน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้อธิบายถึงการใช้กฎหมายการรับมรดกในอดีตไว้ ว่า ประเทศไทยเคยมี พ.ร.บ.อากรมฤดกและการรับมฤดก พ.ศ.2476 ในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา บังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี และยกเลิกในปี 2487 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะเก็บภาษีได้น้อย มีภาระในการดูแลสูง และมักหลบเลี่ยงมาก ต่อมาในปี 2552 ทรัพย์มรดกถูกเก็บแฝงในรูปภาษีเงินได้ กล่าวคือ ถ้าขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกต้องเสียภาษีเงินได้ ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน

สาระสำคัญของร่างภาษีการรับมรดก คือ ให้เก็บภาษีจากผู้รับมรดก (Inheritance Tax)กล่าวคือ เมื่อเจ้าของมรดกตายไป และมีการแจกจ่ายทรัพย์สินให้ญาติ ลูกหลาน กรมสรรพากรจะไปประเมินมูลค่าทรัพย์สินและเก็บภาษีจากผู้รับมรดกแต่ละราย แทนที่จะเก็บกับภาษีจากกองมรดก  (Estate Tax) ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทันทีที่เจ้ามรดกตายโดยยังไม่ได้แบ่งให้ทายาท เพราะมักมีปัญหาตรงที่ทายาทไม่มีเงินจ่าย จนอาจต้องขายทรัพย์สินมาจ่ายภาษี

ใน การจัดเก็บภาษีเป็นหน้าที่ของกรมสรรพาการ ซึ่งเก็บ ทรัพย์สินทั้งหมดหักด้วยหนี้สิน แล้วนำทรัพย์สินที่เหลือมาคิดคำนวณ โดยผู้รับมรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียว หรือหลายคราว เมื่อรวมกันแล้วเกิน 50 ล้านบาท ต้องเสียภาษีในส่วนที่เกิน ด้วยอัตราคงที่ ไม่เกิน 10%  (อัตราเพดาน) ซึ่งจะมีการตราพระราชกฤษฎีกาลดลงตามเห็นสมควร เช่น ลดตามความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ามรดกกับผู้รับมรดก หากมีความใกล้ชิดกันมาก เช่น เป็นพ่อลูกกัน อาจลดหย่อนได้มากกว่าญาติ

ใครบ้างต้องเสียภาษีมรดก?

1) ผู้มีสัญชาติไทย
2) ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีภูมิลำเนาหรือมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ ต้องเสียภาษีทั้งมรดกที่ทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศไทย
3) ผู้ไม่มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ให้เสียภาษีเฉพาะมรดกที่ทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทย ส่วนกรณีที่ผู้ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคล ถ้าจดทะเบียนในประเทศไทย หรือจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายไทย หรือมีคนสัญชาติไทยถือหุ้นเกิน 50% หรือผู้มีอำนาจบริหารเกินกึ่งหนึ่งมีสัญชาติไทย ให้ถือว่านิติบุคคลนั้นมีสัญชาติไทย

มรดกเพื่อสาธารณประโยชน์ไม่ต้องจ่ายภาษี
ข้อยกเว้นในร่างพ.ร.บ.นี้ คือ ไม่บังคับใช้กับมรดกที่เจ้ามรดกเสียชีวิตก่อนกฎหมายนี้ประกาศใช้ และถ้าคู่สมรสเป็นเจ้ามรดก คู่สมรสไม่ต้องเสียภาษีเพราะถือว่าหากินมาด้วยกัน เป็นคนคนเดียวกัน  นอกจากนี้ ยังยกเว้นภาษีให้ผู้รับมรดก หากใช้มรดกเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา การศึกษา และสาธารณประโยชน์ ยกเว้นให้หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน  รวมทั้งยกเว้นให้บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศด้วย

ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี
รวมทั้งทรัพย์สินที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียน เช่น ที่ดิน บ้าน เงินในบัญชี หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ นาฬิกา เพชร รูปภาพ รูปปั้น เป็นต้น ซึ่งจะเป็นปัญหาในการจัดเก็บ เพราะทรัพย์สินบางอย่างประเมินมูลค่าได้ยาก ต้องใช้ต้นทุนในการสืบเสาะสูง ส่วนการคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินให้ถือตามมูลค่าในวันที่ได้รับทรัพย์สินเป็น มรดก กรณีอสังหาริมทรัพย์ ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้ใช้ราคาหลักทรัพย์ในวันสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับ มรดก ส่วนกรณีอื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดก และสามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 5 ปี โดย 2 ปีแรก ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

 

ทำลาย – ย้าย –  ซ่อน –  เสี่ยงถูกปรับครึ่งล้าน

สำหรับ โทษกรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท กรณีทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 400,000 บาท  กรณีผู้ใดจงใจยื่นข้อความเท็จ โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบายโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือแนะนำ หรือสนับสนุนให้คนอื่นกระทำตามที่กล่าวมาข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ควบแก้ไขประมวลรัษฎา: มรดกเกิน 10ล. ต้องเสียภาษี

โดย ทั่วไประบบการจัดเก็บภาษีมรดกมักจะเก็บควบคู่กับภาษีการให้ เพื่อป้องกันการหลบเสี่ยงภาษีและการยักย้ายทรัพย์สินก่อนเสียชีวิต ดังนั้น วันที่ 18 ธันวาคม 2557 สนช. จึงเห็นชอบในหลักการของร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก จึงกำหนดให้เงินได้ ที่รับจากมรดกได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และจากเดิมการโอนทรัพย์สินของพ่อให้แก่ลูกไม่ต้องเสียภาษี แก้ไขเป็น ถ้าพ่อแม่ให้บุตร บุพการีให้ผู้สืบสันดาน หรือการให้บุคคลอื่นโดยหน้าที่ธรรมจรรยา  หรือโดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เกิน 10ล้านบาท ต้องเสียภาษีในอัตรา 5%  ซึ่งจะไปกระทบกับผู้ที่มีรายได้เกิน 10 ล้านบาท แต่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท จึงมีผู้ที่มีทรัพย์สินเกิน 50 ล้านบาท จะทยอยโอนทรัพย์สินปีละ 9.9 ล้านบาท ทุกปี เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีใดๆ หรืออาจหลบเลี่ยงด้วยการทำสัญญาเงินกู้ระหว่างพ่อลูก การทำประกันชีวิตโดย ให้ลูกหลานเป็นผู้รับผลประโยชน์ การตั้งกองทรัสต์เพื่อกระจายมูลค่ามรดก เป็นต้น

 

ต่างชาติเลิกภาษีมรดก เหตุกำไรน้อย
ภาวิน ศิริประภานุกูล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้อธิบายถึงการเก็บภาษีมรดกในต่างประเทศไว้ว่า หากเราไปสำนวจประเทศอื่นๆ จะพบว่ามี 30 ประเทศทั่วโลกที่เก็บภาษีมรดก ซึ่งการที่ประเทศไทยเก็บภาษีเพียง 10% ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อาทิ สหรัฐอเมริกา เก็บในอัตราไม่เกิน 40% และปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกเลิกการเก็บภาษีมรดก เช่น แคนาดา ยกเลิกในปี 1972 เพราะภาษีมรดกไม่ได้เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ และได้นำภาษีกำไรจากการขายทรัพย์สินมาใช้แทน (capital gains tax) สิงคโปร์ ยกเลิกปี 2008 เพราะต้องการสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติมาลงทุน และนอร์เวย์ ยกเลิกปี 2014 เพื่อลดภาระในการส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้รุ่นถัดได้
ภาษีมรดกลดความเหลื่อมล้ำได้จริง?
สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเก็บภาษีมรดกว่า ไม่ได้คาดหวังรายได้มากนัก แต่จำเป็นต้องเก็บเพื่อเป็น “สัญลักษณ์ลดความเหลื่อมล้ำ” และเชื่อว่าจะทำให้คนบริจาคเงินมากขึ้น เหมือนสหรัฐอเมริกามีการบริจาคเงินจำนวนมากให้มหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนี้ มีการประมาณการว่า 1 ใน 6 ของผู้เสียภาษีมรดกจะใช้จ่ายในการบริจาคเพื่อการกุศล

ขณะ ที่พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ ภัทร จำกัด เห็นว่า การเก็บภาษีมรดกเป็นการกระจายภาระภาษีไปที่ฐานทรัพย์สิน และกระจายภาระจากมนุษย์เงินเดือนไปสู่คนที่มีความมั่งคั่ง แต่จากงานวิจัยการเก็บภาษีในประเทศอังกฤษ ระหว่าง ปี 1999-2001 ด้วยอัตราคงที่ 10% พบว่าคนรวยสูงสุดมีสัดส่วนความมั่งคั่งเพิ่มจาก 47% เป็น 56% อาจกล่าวได้ว่าการเก็บภาษีมรดกอัตราคงที่ ไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำมากนัก

เหตุผลหนึ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสนับสนุนให้เก็บภาษีมรดก เพราะ ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วเก็บภาษีได้ 30-40% ต่อจีดีพี ในขณะที่ประเทศไทยเก็บได้เพียง 18% คาดว่าหากจัดเก็บภาษีมรดกจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 21-22%

ใน อีกมุมมองของ อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คือ หากคำนวณรายได้จากภาษีมรดกโดยใช้ฐานข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม ของครัวเรือน ปี 2556 พบว่า กระทรวงการคลังจะมีรายได้จากภาษีมรดกปีละประมาณ 2,174 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.01%  ของรายได้ภาษีทั้งหมดของประเทศ ถือว่าน้อยมาก

นอกจากนี้ ภาษีมรดกยังส่งผลกระทบให้เงินออมซึ่งเป็นเงินทุนของประเทศลดลง เพราะการเก็บภาษีจะสร้างแรงจูงใจให้เศรษฐีใช้จ่ายเงินมากขึ้น หรือไม่ก็อาจโยกย้ายทรัพย์สินไปต่างประเทศ  รวมถึงเปลี่ยนรูปการถือครองทรัพย์สินจากทรัพย์ที่สืบค้นง่ายเป็นทรัพย์สิน ที่สิบค้นยาก เช่น อัญมณี เพชร พลอย เป็นต้น ซึ่งแม้ว่ากฎหมายจะครอบคลุมการเก็บภาษีทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศและ ทรัพย์สินไม่จดทะเบียน แต่ในความเป็นจริงการติดตามสืบเสาะมูลค่าทรัพย์สินเหล่านี้เป็นเรื่องยาก ต้นทุนในการไล่เก็บแพง อาจไม่คุ้มค่ากับภาษีที่เก็บได้ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่อาจทุจริตในการประเมินราคา

ขอบคุณข้อมูลจาก ilaw

 

 

Facebook Comments