Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ กรณี ” การโอนที่ดินให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ” ?

กรณี ” การโอนที่ดินให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ” ?

52521

กรณี ” การโอนที่ดินให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ” ?

 

15-03-2012001

 

 

 

สารบัญ

ความหมาย

ที่สาธารณประโยชน์  หมายถึง  ที่ดินที่ประชาชนโดยทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทหนึ่ง  ตามที่บัญญัติไว้ใน  ป.พ.พ. มาตรา  ๑๓๐๔ วรรคสอง ซึ่งมีที่มาหรือบ่อเกิดแห่งที่สาธารณประโยชน์ได้  ๓  ประการ  คือ

๑)  เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ  เช่น  แม่น้ำ  ลำคลอง  เป็นต้น

๒)  เกิดขึ้นโดยสภาพการใช้  เช่น  ที่เลี้ยงสัตว์สาธารณะ  หนองน้ำสาธารณะ  ป่าช้าสาธารณะ  เป็นต้น

๓)  เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย  เช่น  การสงวนหวงห้ามตามกฎหมาย  การอุทิศให้เป็นที่สาธารณะ  ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยปริยาย  การยกให้หรือซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  เป็นต้น

 

ประเภทการจดทะเบียน

          ๑.  โอนเป็นที่สาธารณประโยชน์  หมายถึง  กรณีที่ผู้มีชื่อในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ขอจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งแปลงให้เป็นที่สาธารณประโยชน์  ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม

๒.  แบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์  หมายถึง  กรณีที่ผู้มีชื่อในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ขอโอนที่ดินเพียงบางส่วนไม่เต็มทั้งแปลงให้เป็นที่สาธารณประโยชน์  โดยมีการรังวัดกันส่วนที่ประสงค์จะโอนให้เป็นที่สาธารณะออกจากหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน  ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม

 วิธีดำเนินการ

           ๑. การขอจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์

                 –  ผู้ขอยื่นคำขอตามแบบพิมพ์ ท.ด.๙  และ ท.ด.๑  โดย ท.ด.๑  เป็นรายงานการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนสอบสวนและดำเนินการตามระเบียบ

๒.  การขอแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์

–  ผู้ขอยื่นคำขอแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามแบบพิมพ์ ท.ด.๙  แล้ว  ส่งเรื่องให้ฝ่ายรังวัดดำเนินการ

–   เมื่อฝ่ายรังวัดดำเนินการเสร็จแล้ว  จะส่งเรื่องคืนฝ่ายทะเบียนเพื่อแจ้งผู้ขอมาดำเนินการจดทะเบียน

                         –    ในวันที่ผู้ขอมาจดทะเบียน ให้ยื่นคำขอตามแบบพิมพ์ ท.ด.๑ สอบสวน และดำเนินการตามระเบียบ

กฎหมายและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง

–  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๐๔ – ๑๓๐๗

–  คำสั่งกรมที่ดินที่ ๒๔/๒๕๑๓   ลงวันที่  ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๑๓

สาระสำคัญ

– การโอนที่ดินให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ คือ การที่เจ้าของที่ดินมีเจตนายกที่ดินของตนให้เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน  หรือจะขายให้แก่ส่วนราชการก็ได้  แต่ไม่ว่าจะเป็นการยกให้หรือขายตาม ป.พ.พ. ก็ตาม ที่ดินนั้นย่อมตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔

–  สาธารณสมบัติของแผ่นดิน  ถือเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ตาม  ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๓  ใครจะนำ

สาธารณสมบัติของแผ่นดินไปให้ผู้อื่นเช่า สัญญาเช่าย่อมเป็นโมฆะ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๒๐-๙๒๑/๒๕๒๒)  การจะอ้างสิทธิขอจดทะเบียนภาระจำยอมตาม  ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๒ นั้นจะนำมาใช้แก่สาธารณสมบัติของแผ่นดินมิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๑๕๙/๒๕๑๑  ประชุมใหญ่)  ซื้อที่สาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจากการขายทอดตลาด ตามคำสั่งศาล ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๐  (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๒/๒๕๑๐)  นอกจากนี้ใครจะนำที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไปทำสัญญา  ก่อให้เกิดภาระจำยอม  สิทธิอาศัย  สิทธิเหนือพื้นดิน  และภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ สัญญานั้นย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐

–  ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันไม่ได้ (ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๕)  กล่าวคือจะนำไปทำสัญญาซื้อขาย  ให้  แลกเปลี่ยน  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ หากกระทำไปสัญญาดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ  (คำพิพากษาฎีกาที่  ๕๐๖/๒๕๐๕, ๔๕๓/๒๕๑๒) เว้นแต่จะอาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาจึงจะทำได้  ดังรายละเอียดในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘ วรรคสอง

–  ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  (ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๖)  กล่าวคือจะนำมาตรา ๑๓๘๒  ถึง มาตรา ๑๓๘๖  มาใช้บังคับกับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้  เช่นหนองน้ำสาธารณะเป็นสมบัติของแผ่นดิน  ใครจะอ้างอายุความครอบครองยันต่อแผ่นดินไม่ได้  (คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๐๙/๒๕๐๐)  ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น  ผู้ใดจะอยู่มาช้านานเท่าใดก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่  (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๔๒/๒๕๐๖)

–  ในการรังวัดเพื่อการออกโฉนดที่ดินหรือการรังวัดเพื่อการแบ่งแยกที่ดินเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายไประวังแนวเขตจะทำการกันเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ จะต้องพิจารณาจากหลักฐานให้ได้ความว่า เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เพราะเหตุใด  เช่นเคยเป็นทางมาก่อนและเข้าลักษณะซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์ ถ้าสอบสวนแล้วเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น ก็ควรยืนยันไปตามนั้น ไม่ใช่ว่าจะกันออกหรือไม่ก็ได้ เพราะที่ดินที่มีสภาพเป็นที่สาธารณประโยชน์จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้โดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเท่านั้น  และในกรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นควรกันเขตที่ดินสาธารณะ  เช่น ทางสาธารณะให้กว้างออกไปกว่าเดิมโดยรุกล้ำที่ดินของเจ้าของที่ดินหรือขอกันที่ดินเป็นทางสาธารณะเพื่อความเจริญของท้องถิ่น ไม่ควรให้เจ้าของที่ดินให้ความยินยอมในขณะนั้น  แต่ควรเสนอเรื่องให้ผู้มีอำนาจในการดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร หรืออาจขอร้องให้เจ้าของที่ดินอุทิศที่ดินให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์โดยความสมัครใจ  แต่หากไม่เป็นที่ตกลงกัน  จะถือเหตุที่ไม่รับรองเขตที่ดินตามที่เจ้าของที่ดินขอรังวัดออกโฉนดหรือขอรังวัดแบ่งแยกหาได้ไม่   (หนังสือกระทรวงมหาดไทย  ที่๖๙๐๒/๒๕๐๐  ลงวันที่  ๒๕ เมษายน  ๒๕๐๐)

–  การแบ่งหักที่ดินของผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถให้เป็นที่สาธารณประโยชน์  ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถ  (เฉพาะผู้อนุบาลประเภทที่ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยความปกครองมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๘๑ (ปัจจุบันคือมาตรา ๑๕๙๘/๒๕๑๘)) ขออนุญาตศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔๖ (๑)  (ปัจจุบันคือมาตรา ๑๕๗๔ (๑) )  เสียก่อน  เป็นไปตามคำสั่งกรมที่ดิน  ที่  ๒๔/๒๕๑๓  ลงวันที่  ๒๘ พฤษภาคม  ๒๕๑๓  เรื่อง  การจดทะเบียนแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์  เวียนโดยหนังสือกรมที่ดิน  ที่  มท  ๐๖๐๘/ว  ๑๖๖๗๘  ลงวันที่  ๔  มิถุนายน  ๒๕๑๓

–  การจดทะเบียนแบ่งขายที่ดินที่ถูกเขตทางหลวง  กรณีกรมทางหลวงไม่ขอรับโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่ถูกเขตทางหลวง  ไม่จำต้องเขียนโฉนด  ต่อเลขที่ดิน  หน้าสำรวจ   และเรียกค่าธรรมเนียม  ค่าโฉนดที่ดินในรูปแผนที่ให้หมายสีเขียว  โดยหมายเหตุให้ทราบว่าได้แบ่งขายเป็นทางสาย……….ตามวิธีการแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์โดยอนุโลม  (หนังสือกรมที่ดิน  ที่  มท  ๐๖๐๘/๒๕๗๓๗  ลงวันที่  ๖  กรกฎาคม  ๒๕๑๕  เรื่อง  การจดทะเบียนแบ่งขายที่ดินที่ถูกเขตทางหลวง   เวียนโดยหนังสือกรมที่ดิน ที่  มท  ๐๖๐๘/ว  ๒๖๓๑๗  ลงวันที่  ๑๘  กรกฎาคม  ๒๕๑๕)

–   การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามผังปรับปรุงบริเวณเพลิงไหม้  เพื่อสร้างเป็นทางสาธารณประโยชน์ให้จดทะเบียนประเภทแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ หรือโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์แล้วแต่กรณี  ตามหนังสือที่ มท ๐๖๐๘/๓๒๖๔๘  ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๕  เวียนโดยหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๖๐๘/๙๓๐๗๒  ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม  ๒๕๑๕  (ส่วนกรณีไม่มีค่าตอบแทน  ให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๖๑๒/๑/ว ๑๐๕๑๕  ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม  ๒๕๒๒)

–  พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๐๖   บัญญัติให้กระทรวงการคลังมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวการเงินของแผ่นดิน  ภาษีอากร  และรัษฎากร  หรือกิจการอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์  อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน  นอกจากสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฯลฯ  ฉะนั้น นับแต่วันใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง  ทบวง  กรม พ.ศ.๒๕๐๖  แล้ว  กระทรวงการคลังย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในกิจการอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินต่อไป  จะเกี่ยวข้องได้ก็แต่เพียงอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้ในราชการของกระทรวงการคลังโดยเฉพาะเท่านั้น (หนังสือกระทรวงหมาดไทย ที่ มท ๐๓๐๙/ว ๓๕  ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๑๕)

–  การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินที่ถูกเขตทางหลวง  ให้จดทะเบียนประเภท  ”โอนเป็นที่สาธารณประโยชน์”  หรือ  ”แบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์”  ในช่องผู้รับโอนหรือรับสัญญา  ให้ลงชื่อ  “ทางหลวงสาย………”  ไม่ว่าการโอนดังกล่าวจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม  ตามหนังสือกรมที่ดิน  ที่  มท  ๐๖๑๒/๑/ว  ๘๗๒๓  ลงวันที่ ๒๐  พฤษภาคม ๒๕๑๙

–  เมื่อได้มีการจดทะเบียนประเภท  ”โอนเป็นที่สาธารณประโยชน์”  แล้ว  ให้เก็บโฉนดฉบับเจ้าของ

ที่ดินเข้าสารบบ  ส่วนโฉนดฉบับสำนักงานที่ดินให้คงไว้ในเล่มตามเดิม  ตามหนังสือกรมที่ดิน  ที่  มท  ๐๖๑๒/๑/๒๔๑๗๙  ลงวันที่  ๑๙  สิงหาคม  ๒๕๑๙  เรื่อง  การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินที่ถูกเขตทางหลวง (หนังสือกรมที่ดิน  ที่  มท  ๐๖๑๒/๑/ว  ๒๔๓๐๖  ลงวันที่  ๒๐  สิงหาคม  ๒๕๑๙)

–  เพื่อให้ปรากฏประวัติการได้มาและการจ่ายค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเขตทางหลวงตามความประสงค์ของกรมทางหลวง   ให้พนักงานเจ้าหน้าที่บรรยายข้างเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม  (ท.ด.๑)  หมายเหตุในรายการจดทะเบียนด้วยอักษรสีแดงว่า  ”การโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์ (หรือแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์)  รายนี้ผู้โอนได้รับค่าทดแทนจากกรมทางหลวงหรือไม่ได้รับค่าทดแทนจากกรมทางหลวง”  แล้วแต่กรณี  รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของบันทึกการจ่ายเงินค่าทดแทน  และลงนามประทับตราประจำตำแหน่ง  (หนังสือกรมที่ดิน ที่  มท  ๐๖๑๒/๑/ว  ๓๗๕๒๘  ลงวันที่ ๘ ตุลาคม  ๒๕๑๙)

–  การโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง  โดยมิได้มีการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์  ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม  ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่  ๒๙๕  ลงวันที่  ๒๘  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๑๕  (ฉบับที่  ๒) พ.ศ.  ๒๕๓๐  ข้อ  ๖๓  วรรคสอง  ซึ่งกรมที่ดินแจ้งให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติตามหนังสือ  ที่  มท  ๐๗๐๘/ว  ๒๑๙๒๙  ลงวันที่  ๒๐  ตุลาคม  ๒๕๓๐  ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติทางหลวง  พ.ศ.  ๒๕๓๕  ยกเลิกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  ๒๙๕  แล้ว  และตามพระราชบัญญัติทางหลวงฯ  มาตรา  ๖๘  ยังคงบัญญัติให้การโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง  โดยมิได้มีการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม

–   การสอบเขตหรือแบ่งแยกสภาพที่ดินที่มีทางสาธารณประโยชน์ผ่าน  ให้แนะนำเจ้าของที่ดิน

ผู้ขอรังวัดนำรังวัดแบ่งแยกหรือกันเขตทางสาธารณประโยชน์ออก  โดยการแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์หากผู้ขอไม่ยอมแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์ โดยอ้างว่าไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์ให้บันทึกถ้อยคำของผู้ขอและให้งดทำการรังวัดไว้ก่อน  แล้วทำหนังสือสอบถามไปยังผู้ดูแล รักษาว่าทางในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือไม่  ถ้าได้รับการยืนยันว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์ให้แจ้งผู้ขอทราบเพื่อนำทำการรังวัดแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์ แต่ถ้าผู้ขอรังวัดไม่ยอม ให้บันทึกถ้อยคำไว้แล้วงดดำเนินการ  (หนังสือกรมที่ดิน  ที่  มท  ๐๗๑๐/ว  ๙๗   ลงวันที่  ๓  มกราคม  ๒๕๓๔)

–   โดยทั่วไปที่สาธารณประโยชน์จะมีเส้นทางที่ประชาชนใช้สัญจรเข้า –  ออก อยู่แล้ว  ซึ่งทางดังกล่าวจะตกเป็นทางสาธารณะด้วย  ดังนั้น  เมื่อมีการออกโฉนดที่ดินบริเวณนี้  เจ้าหน้าที่ควรกันเขตทางสาธารณะก่อนแล้วจึงออกโฉนดให้ไป   ถ้าเป็นกรณีไม่มีทาง เข้า – ออก  เมื่อยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบให้อำนาจเจ้าหน้าที่หรือบังคับให้เจ้าของที่ดินจะต้องกันที่ดินขอตนให้เป็นทางไว้ จึงจำเป็นต้องใช้หลักรัฐศาสตร์  โดยผู้ปกครองท้องที่อาจขอร้องให้เจ้าของที่ดินบริจาคที่ดินบางส่วนเป็นทาง   ซึ่งได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตาม ป.ที่ดิน มาตรา ๑๐๓ ทวิ  (หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท  ๐๖๑๘/ว ๑๒๓๘  ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม  ๒๕๓๕)

 

แนวทางการวินิจฉัยที่สำคัญเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์และแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์

๑.  ที่ดินส่วนที่พังเป็นคลองตาทองตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน  การรังวัดแบ่งหักที่พังในกรณีดังกล่าว  จึงถือว่าเป็นการจำหน่ายที่สาธารณประโยชน์ออกจากทะเบียนที่ดินตามหลักการทางทะเบียนเท่านั้น  แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคำพิพากษาจะไม่มีการตกลงให้แบ่งหักที่สาธารณะก็ควรจดทะเบียนแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์  และแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้แก่จำเลยไปแต่ฝ่ายเดียว  โดยถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนโจทก์ได้

๒.  กรณีการจดทะเบียนแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ที่เป็นคลองนั้น   เมื่อปรากฏว่าส่วนที่แบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ตกเป็นที่สาธารณประโยชน์อยู่ก่อนแล้วการจดทะเบียนแบ่งหักเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการจดทะเบียนนิติกรรม   เป็นเพียงการจำหน่ายที่ดินส่วนที่ตกเป็นที่สาธารณประโยชน์ออกจากหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น  ซึ่งการจดทะเบียนดังกล่าวถือว่าเป็นความจำเป็นเพื่อให้มีการจดทะเบียนแบ่งแยกเป็นไปตามคำพิพากษาจึงดำเนินการจดทะเบียนให้ได้

๓.  เมื่อตามหนังสืออุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ว่า ส. และ อ.เจ้าของที่ดินได้ยกที่ดินบางส่วนตามโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณประโยชน์โดยไม่มีเงื่อนไขว่า  จะต้องให้กรุงเทพมหานครหรือสำนักงานเขตสร้างถนนในที่ดินส่วนที่ยกให้นี้ก่อนแต่อย่างใด  แม้ต่อมาจะปรากฏว่ากรุงเทพมหานครหรือสำนักงานเขตจะสร้างหรือไม่สร้างถนนในที่ดินที่อุทิศนี้ก็ตาม  การอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์นับแต่วันที่อุทิศแล้ว  หาจำต้องจดทะเบียนการโอนแต่ประการใดไม่  (เทียบฎีกาที่ ๕๐๖/๒๔๙๐) เมื่อสำนักงานเขตขอให้แจ้งให้เจ้าของที่ดินดำเนินการแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ยกให้ออกต่างหาก  และจดทะเบียนในที่ดินให้ปรากฏหลักฐานว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์ต่อไป  กรณีของเรื่องนี้จึงควรแจ้งให้ ส. และ อ. เจ้าของที่ดินผู้อุทิศ  ได้ทราบตามที่สำนักงานเขตได้ยืนยัน พร้อมทั้งแจ้งให้บุคคลทั้งสองและเจ้าของที่ดินคนอื่นๆ มาดำเนินการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวม  และแบ่งหักให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ให้เป็นการถูกต้องต่อไป

๔.  การที่ น. ยื่นคำขอแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์และ  ส.กทม. ได้ส่งช่างไปทำการรังวัดแล้ว ในวันทำการรังวัด  เจ้าของที่ดิน  เจ้าของทีดินข้างเคียง ผู้แทนสำนักงานเขตได้ไประวังชี้แนวเขตที่ดินรวมทั้งลงนามรับรองแนวเขตที่ดินแล้วก็ตาม  เมื่อผู้ขอได้เปลี่ยนความประสงค์โดยขอยกเลิกเรื่องรังวัดแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวก็ย่อมทำได้เพราะการยื่นคำขอแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ก็ดี   การนำรังวัดแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ก็ดี  ไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาที่เสร็จเด็ดขาดเมื่ออยู่ในขั้นเตรียมการยังไม่ได้จดทะเบียนอันเป็นการแสดงเจตนาขั้นสุดท้าย    จะถือว่ามีการแสดงเจตนาอุทิศหรือโอนให้เป็นที่สาธารณะแล้วไม่ได้  ผู้ขอจึงย่อมเปลี่ยนแปลงเจตนาได้  และในทางปฏิบัติก็ได้ถือเอาขั้นตอนแสดงเจตนาในการจดทะเบียนเป็นเกณฑ์พิจารณา  ทั้งนี้นอกจากกรณีที่เป็นการขอแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์เนื่องจากสภาพที่ดินตกเป็นสาธารณประโยชน์อยู่แล้ว  การแบ่งหักฯ ก็เพื่อจำหน่ายทะเบียนเท่านั้น  ส่วนกรณีที่ น. ได้ยื่นคำขอแบ่งหักทางสาธารณประโยชน์เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ขอสอบเขตหรือขอแบ่งแยกในนามเดิมแต่อย่างใด  ถึงแม้สภาพที่ดินจะตกเป็นทางสาธารณประโยชน์อยู่แล้วก็ตาม  พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถบังคับให้ผู้ขอแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้  ดังนั้น  ผู้ขอชอบที่จะยกเลิกคำขอได้

๕.  ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์  เมื่อมีผู้นำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปยื่นขอจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการสอบสวน  หากไม่มีกรณีขัดข้องประการใด  พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ตามความประสงค์ของผู้ขอ  โดยจะจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์ให้ปรากฏเป็นหลักฐานในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้งฉบับเจ้าของที่ดินและฉบับสำนักงานที่ดิน  ส่วนกรณีเจ้าของที่ดินได้ทำหนังสือแสดงเจตนาอุทิศที่ดินให้ใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์  แม้มิได้จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่สาธารณประโยชน์  ที่ดินนั้นก็เป็นที่สาธารณประโยชน์แล้ว  ส่วนกรณีที่  ส. เจ้าของที่ดินเดิมได้ทำหนังสือแสดงเจตนาอุทิศที่ดินเพื่อให้ใช้สร้างถนนไว้แล้วย่อมตกเป็นทางสาธารณประโยชน์  อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา  ๑๓๐๔  โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ม. ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจาก ส. ย่อมไม่สิทธิในที่ดินส่วนที่ ส. ได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ไปแล้ว  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๔๓/๒๕๒๓)

๖.  กรณีผู้จัดการมรดกยื่นคำขอโอนที่ดินของเจ้ามรดกให้เป็นทางสาธารณะโดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้ามรดกได้ทำหนังสืออุทิศที่ดินแปลงนี้ให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์เพื่อให้ประชาชนใช้ร่วมกันโดยทายาทของเจ้ามรดกได้ให้ถ้อยคำว่าที่ดินดังกล่าวมีสภาพเป็นทางที่ประชาชนใช้ประโยชน์มานานหลายสิบปีและยินยอมให้ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินแปลงนี้เป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ซึ่งในการจัดการทรัพย์มรดก  ผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจที่จะจัดการกันทรัพย์ส่วนที่ไม่เป็นมรดกหรือส่วนที่เป็นหนี้สินออกจากกองมรดกเสียก่อนที่จะแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทได้การที่ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินของเจ้ามรดกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ถือว่าเป็นการจำหน่ายทางทะเบียนเพื่อกันที่ดินส่วนที่เป็นทางสาธารณประโยชน์ออกจากกองมรดกอันเป็นการจัดการมรดกโดยทั่วไป  ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๑๙  มิใช่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โอนทรัพย์มรดกให้เป็นทางสาธารณะแต่อย่างใดจึงดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามความประสงค์ของผู้ขอได้

๗.  ว. กับพวก ได้ยื่นคำขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวม  (ระหว่างเช่า) ในวันทำการรังวัดได้แบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก ๑ แปลง  ซึ่งเจ้าของที่ดินเดิมยินยอมสำนักงานเขตกันเป็นถนนสาธารณประโยชน์ตั้งแต่ปี ๒๔๗๒  จึงน่าเชื่อว่าที่ดินส่วนที่แบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์นี้ เป็นที่สาธารณะอยู่ก่อนการเช่า  แต่ผู้เช่าไม่ยินยอมให้ที่ดินแปลงแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวปลอดการเช่า กรณีนี้แม้ตรวจสอบแล้วไม่พบหลักฐานการอุทิศ  ก็ต้องถือว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้ยอมอุทิศที่ดินส่วนดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยาย  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  ๑๑๓๘-๑๑๓๙/๒๕๐๑)ดังนั้น  ตามสัญญาเช่าซึ่งมีการเช่าทั้งแปลง  การเช่าย่อมไม่ผูกพันที่ดินส่วนที่เป็นที่สาธารณะอยู่ก่อนการเช่า  เนื่องจากสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันจะให้เช่ากันไม่ได้  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๒๑/๒๕๐๗) จึงถือได้ว่าการจดทะเบียนเช่ารายนี้ไม่รวมถึงที่ดินส่วนที่แบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์แต่อย่างใด  เมื่อ ว. กับพวก ยินยอมให้แบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์   จึงจดทะเบียนแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์โดยพ้นจากการเช่าดังกล่าวได้

๘.  ทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๐๔  (๒)   ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๑)  สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันย่อมเกิดขึ้นและเป็นอยู่ตามสภาพที่ดิน  และการใช้ร่วมกันของประชาชนไม่จำเป็นต้องทำพิธีหรือจดทะเบียนอย่างเอกชน  หรือต้องมีเอกสารของทางราชการกำหนดให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน   การที่ที่ดินจะตกเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน  อาจเป็นโดยเจ้าของที่ดินอุทิศโดยตรงหรือโดยปริยาย  ที่จะให้ที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์  หากมีสัญญาว่าที่ดินนั้นได้ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้วหรือไม่ก็สามารถใช้พยานบุคคลนำสืบได้  หากมีการโอนที่ดินซึ่งตกเป็นทางสาธารณประโยชน์ให้บุคคลใดไป ผู้รับโอนก็ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินที่ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้วนั้น  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๐/๒๕๑๕ และ ๗๔๓/๒๕๒๓)  การที่ที่ดินจะตกเป็นทางสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าโดยการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์อันเป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินที่จะยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒)  เมื่อกรณีนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับการตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ไม่ใช่เรื่องการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ ตามมาตรา ๖  แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น กรณีที่สำนักงานเขตแจ้งให้อธิบดีกรมที่ดินยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามมาตรา ๖ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงมิอาจกระทำได้  ส่วนปัญหาว่าที่ดินได้ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาแล้วหรือไม่  ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงซึ่งอาจจะต้องมีการพิสูจน์กันต่อไป  และหากสำนักเขตประสงค์จะให้ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนก็ต้องแจ้งให้ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินหรือทายาทไปขอจดทะเบียนโอนให้เป็นที่สาธารณประโยชน์

๙.  การจดทะเบียนเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดินจะขอจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้  หากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้เจ้าของที่ดินมาจดทะเบียนโอนที่ดินให้เป็นที่สาธารณประโยชน์แล้วเจ้าของที่ดินไม่มาจดทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่อาจจะจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม  การที่ที่ดินจะตกเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒)  ย่อมตกเป็นได้โดยการแสดงเจตนาของเจ้าของที่ดินโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะทำการอุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์  ไม่จำเป็นต้องทำพิธีจดทะเบียนอย่างโอนให้แก่เอกชน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๔๓/๔๕๒๓)  สำหรับที่ดินแปลงนี้เมื่อศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงได้ว่าเจ้าของที่ดินได้อุทิศเป็นให้ทางสาธารณประโยชน์แล้วตั้งแต่ปี ๒๕๓๑  ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม  ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔  (๒)  กรณีของเรื่องนี้จึงเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องเรียกเจ้าของที่ดินมาจดทะเบียนโอนที่ดินที่เป็นสาธารณประโยชน์  แต่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หมายเหตุในโฉนดที่ดินฉบับสำนักงานที่ดินไว้ว่า  ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วให้งดการจดทะเบียนใดๆ ทุกชนิด  เว้นแต่จะเป็นการจดทะเบียนให้เป็นที่สาธารณประโยชน์เท่านั้น

 

คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง

๑.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๗๗/๒๔๗๙  ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อตัดฟ้องมิได้

๒.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๗๕๐/๒๔๗๙  การเข้าครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินก่อนที่ทางการจะได้ประกาศและขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์นั้น  หาทำให้ที่ดินสาธารณประโยชน์นั้นเปลี่ยนสภาพเป็นอื่นไปไม่  จะครอบครองอยู่นานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์

๓.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๖๕/๒๔๘๒  เจ้าของที่ดินจดทะเบียนที่ดินของตนให้เป็นทางสาธารณะแล้ว  ย่อมหมดกรรมสิทธิ์แม้เจ้าหน้าที่จะออกโฉนดในนามของตนหรือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของภายหลังต่อมาก็ตามก็ไม่ทำให้ได้กรรมสิทธิ์กลับคืนมา

การอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะหรือทางหลวงนั้นไม่จำต้องโอนให้โฉนดกลับให้แก่แผ่นดิน  เพียงการอุทิศโดยแจ้งชัด เช่นบอกความจำนงแก่เจ้าหน้าที่หรือจดทะเบียนในหน้าโฉนดก็เป็นการเพียงพอ

๔.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๕๘๓/๒๔๘๓  การอุทิศที่ดินเป็นถนนสาธารณะนั้นไม่ต้องมีการจดทะเบียน

เจ้าของที่ดินได้อุทิศทางให้เป็นถนนสาธารณะโดยเจตนาอุทิศเช่นนั้น  และได้ใช้กันมาถึง ๘ ปี ย่อมเป็นผลสมบูรณ์นับแต่วันเปิดให้ใช้  ไม่จำต้องรอให้มีการแก้ทะเบียนโฉนดโอนอีกตามมาตรา  ๑๒๙๙  เพราะมาตรานี้บัญญัติเฉพาะแต่การได้มาโดยนิติกรรมเท่านั้น  หาได้บัญญัติเลยไปถึงการได้มาโดยวิธีอื่นด้วยไม่

๕.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๖๗/๒๔๘๔  ที่ดินที่กรมชลประทานซื้อมาขุดคลองและทำประตูน้ำ  แม้จะมีโฉนดก็เป็นที่หลวงหวงห้าม  จะยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้ไม่ได้

การรังวัดสอบเขตที่ดิน เจ้าพนักงานซึ่งทำหน้าที่อยู่ในที่ดินนั้น ไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนรัฐบาลในการชี้เขตโดยมิได้รับการแต่งตั้ง

๖.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๔๙/๒๔๘๗  ที่รกร้างว่างเปล่านั้น  แม้ถูกยึดมาขายทอดตลาดก็ไม่ทำให้กลายสภาพไปจากประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  ผู้รับซื้อจากการขายทอดตลาดจึงไม่มีอำนาจกีดกันไม่ให้ผู้อื่นจับจอง

๗.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๕๐๖/๒๔๙๐  การยกที่ดินให้ใช้เป็นทางสาธารณะจะให้แก่รัฐหรือเทศบาล  ก็มีผลเช่นเดียวกัน  และไม่จำต้องจดทะเบียนอย่างการโอนให้แก่เอกชน

๘.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๗๗/๒๔๙๐  ที่ดินที่ถูกน้ำเซาะพังจนเปลี่ยนสภาพกลายเป็นทางน้ำแล้วนั้น ย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  ภายหลังผู้ใดจะได้กรรมสิทธิ์ที่ตรงนั้น  ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาแห่งกรรมสิทธิ์….

๙.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๓๗/๒๔๙๒  ที่ดินซึ่งกระทรวงการคลังรับโอนจากเอกชนมาขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ  แล้วเอามาให้เอกชนเช่าอยู่นั้น  ย่อมเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน  ผู้ใดไม่มีอำนาจยึด

๑๐.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๗๗๖/๒๔๙๓  การอุทิศที่ดินให้เป็นทางหลวงนั้น  อุทิศโดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้  และที่จะเป็นทางหลวงก็หาจำต้องมีทะเบียนอะไรไม่

๑๑.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๓/๒๔๙๔  ทางอยู่ในโฉนดซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนและจำเลยยอมรับโอนกรรมสิทธิ์มานั้น  จะกลับกลายเป็นทางหลวงหรือทางสาธารณะได้ ต้องมีการอุทิศโดยตรง หรือโดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงแต่ได้ความว่ามีคนเดินผ่านไปมาหลายสิบปีแล้วเท่านั้น  หาทำให้ทางนั้นเป็นทางหลวงหรือทางสาธารณะเสมอไปไม่

๑๒.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๙/๒๔๙๕  ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น ผู้ใดหามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแต่ประการใดไม่

แต่เมื่อมีผู้ไปปลูกสร้างโรงเรือนอยู่ในสาธารณสมบัติดังกล่าวแล้ว   มีผู้อื่นไปรื้อเสียแล้วปลูกโรงเรือนของตนขึ้นแทนบ้าง  เช่นนี้ ย่อมถือว่าเป็นการรบกวนสิทธิของผู้ปลูกโรงเรือนคนแรกในอันที่จะใช้ที่สาธารณสมบัตินั้น และถือว่าผู้ปลูกโรงเรือนคนแรกได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ  จึงย่อมมีสิทธิฟ้องให้ผู้ปลูกโรงเรือนที่หลังรื้อโรงเรือนที่ปลูกนั้นไปให้พ้นที่นั้นได้

๑๓.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๔๘๘/๒๔๙๗  ที่ดินในโฉนด  ถ้าตลิ่งพังก็ย่อมกลายสภาพเป็นทางน้ำสาธารณะ

๑๔.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๗๙/๒๕๐๐  ที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้นบุคคลอาจได้มาตามกฎหมายที่ดิน  และที่ดินประเภทนี้การที่เจ้าพนักงานที่ดินจะออกโฉนดให้แก่ผู้ครอบครองหรือไม่นั้น  เป็นเรื่องของเจ้าพนักงานที่ดินจะวินิจฉัย  เทศบาลไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะไปคัดค้านการขอรับโฉนดดังกล่าว

๑๕.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๑๓๘–๑๑๓๙/๒๕๐๑  การอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่ต้องมีพิธีการ  ถ้าโจทก์จำเลยและประชาชนใช้เป็นทางเดินสู่ทางสาธารณะร่วมกันมาหลายปี  ก็ต้องถือว่าได้อุทิศโดยปริยาย

๑๖.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๔๙๒/๒๕๐๒  การที่จะเป็นหนองสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้น  กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องจะขึ้นทะเบียนไว้  เพราะการจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เป็นไปตามสภาพของที่นั้นเอง  ว่าเป็นทรัพย์สินใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่

๑๗.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๐๓๕/๒๕๐๔  ที่สาธารณประโยชน์นั้น  ไม่จำเป็นที่ทางราชการต้องสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามสภาพ

๑๘.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๐๒๐–๑๐๒๑/๒๕๐๕  คลองหรือคูที่เจ้าของที่ดินขุดขึ้น  เมื่อเจ้าของไม่ได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณะแม้จะยอมให้ประชาชนใช้ในการสัญจรไปมาบ้าง  ก็ไม่ทำให้กลายสภาพเป็นทางสาธารณะ ฉะนั้น ถึงเจ้าของจะใช้ทำนบหรือคันดินปิดกั้น  ก็ไม่มีความผิดฐานปิดกั้นทางสาธารณะ

๑๙.  คำพิพากษาฎีกา ๑๑๒๑/๒๕๐๗  สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันจะให้เช่ากันไม่ได้

๒๐.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๒๒/๒๕๑๐  รับซื้อที่หนองน้ำสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจากการขายทอดตลาดของศาล ไม่ทำให้ผู้ซื้อมีสิทธิในที่ดินและไม่มีสิทธิที่จะเอาไปให้บุคคลอื่นเช่าได้

๒๑.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๐๔๖/๒๕๑๗  จำเลยได้ตกลงยกถนนในที่ดินมีโฉนดของจำเลยให้แก่สุขาภิบาล ๆ รับเอาและได้ลงหินลาดยางถนนดังกล่าว   มีผู้ใช้ถนนนั้นเป็นทางสัญจรไปมาและต่อมาจำเลยไปยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์  ดังนั้นจำเลยได้แสดงเจตนาอุทิศถนนนั้นให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว  แม้จำเลยจะขอยกเลิกคำขอจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน และบอกเลิกการยกถนนให้แก่สุขาภิบาลก็ตาม  ก็หาทำให้ถนนซึ่งกลายสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์ไปแล้ว เปลี่ยนสภาพกลับคืนมาเป็นทางเอกชนอีกไม่

๒๒.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๖๑๖/๒๕๑๗  ตามบันทึกคำแสดงเจตนาอุทิศที่ดินให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์มีข้อความชัดเจนว่า  จำเลยยอมยกที่ดินให้ทางราชการจัดการเข้าทำการสร้างถนนสาธารณะได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  และเทศบาลก็ได้ยอมรับที่ดินที่จำเลยและคนอื่นอุทิศให้เป็นทางสาธารณะอยู่ตรงไหนดังนี้  แม้เทศบาลจะยังมิได้ทำถนนตามแนวทางพิพาท  ทางพิพาทก็ตกเป็นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว  การที่จำเลยขอให้ทางการออกโฉนดทับแนวทางพิพาทในภายหลังก็ดี  การที่จำเลยกั้นรั้วปิดแนวทางพิพาทก็ดี ไม่ทำให้แนวทางพิพาทกลับคืนมาเป็นของจำเลยอีกได้

๒๓.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๙๒๐/๙๒๑/๒๕๒๒  การที่โจทก์หรือภริยาโจทก์นำที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๓) มาให้จำเลยเช่า  สัญญาเช่าเป็นโมฆะ  โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่เรียกเอาค่าเช่าหรือค่าเสียหายจากจำเลยได้

๒๔.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๑๑–๑๑๒/๒๕๒๓  การอุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณะ  แม้จะไม่แก้โฉนดก็เป็นที่สาธารณะได้

๒๕.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๗๘๒/๒๕๒๓  การยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

๒๖.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๔๓/๒๕๒๓  การอุทิศที่ดินให้ใช้เป็นทางสาธารณะ   เป็นการสละที่ดินให้เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา  ๑๓๐๔  ไม่จำเป็นต้องทำพิธีจดทะเบียนอย่างโอนให้เอกชน  แม้เป็นที่ดินในเขตโฉนด ผู้ซื้อที่ดินก็ไม่มีสิทธิในที่ดินส่วนที่ได้อุทิศเป็น ทางสาธารณะไปแล้ว

๒๗.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๓๙๒/๒๕๒๕  ………..เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแม้โจทก์จะครอบครองมาและได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วก็ไม่ได้สิทธิครอบครองและได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว  ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองและใช้ยันจำเลยร่วมไม่ได้

๒๘.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๙๕/๒๕๓๘  ที่ดินที่จำเลยให้แก่โจทก์   บางส่วนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ  จึงเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ซึ่งไม่อาจซื้อขายกันได้  สัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าว   จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะ   เท่ากับว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาขายที่ดินส่วนดังกล่าวกับโจทก์  จึงไม่มีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินส่วนดังกล่าวที่จำเลยจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิ

๒๙.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๑๘๑/๒๕๓๘  จำเลยยกที่ดินของจำเลยทั้งหมดให้แก่ทางราชการเพื่อตัดเป็นถนนสาธารณะ  ย่อมทำให้ที่ดินตกเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  แม้ทางราชการไม่ได้ใช้ที่ดินทั้งหมดโดยคงเหลือส่วนของที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์เป็นที่ว่างระหว่างที่ดินของโจทก์กับถนนสาธารณะ  ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่และแม้ที่ดินของโจทก์เพิ่งมาติดกับที่ดินที่พิพาทเมื่อจำเลยยกที่ดินให้แก่ทางราชการแล้วก็ตาม  โจทก์ย่อมมีสิทธิเดินและนำรถผ่านที่ดินที่พิพาทเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ถนนสาธารณะได้….

๓๐.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๓๘๑/๒๕๓๙  ..….ที่ดินแปลงใดเป็นที่สาธารณะหรือไม่  ต้องพิจารณาตามสภาพของที่ดินและการใช้ว่าเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ หรือไม่  หากโดยสภาพของที่ดินเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์  แม้ทางราชการมิได้ออกราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นที่หวงห้ามและมิได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๕  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  พ.ศ.๒๔๗๘  ซึ่งถูกยกเลิกโดยมาตรา ๕  แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ.๒๔๙๗  แล้ว  ก็ไม่ทำให้ไม่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์

๓๑.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๕๗/๒๕๔๑  ขณะที่บิดาของ  ต. ครอบครองที่พิพาท  ที่พิพาทยังไม่มีผู้ใดสงวนหรือตกลงยินยอมให้เป็นสนามกีฬาของหมู่บ้าน  ในการแจ้งการครอบครองของ ต. ในปี ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นปีที่ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ ประกาศใช้  จึงเป็นการแจ้งการครอบครองถูกต้อง  การที่ทางราชการกันที่พิพาทเป็นสนามกีฬาของหมู่บ้าน  โดย  ต. หรือโจทก์ผู้ครอบครองมิได้สละสิทธิครอบครองหรือให้ความยินยอม  เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิครอบครองของโจทก์การกันที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์จึงไม่ชอบ   แม้ภายหลังการกันที่พิพาทเป็นสนามกีฬาของหมู่บ้านจะปรากฏในรูปแผนที่แบบแจ้งการครอบครองก็ตาม  ก็ไม่ทำให้สิทธิครอบครองที่พิพาทของโจทก์หมดสิ้นไป

๓๒.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๕๐/๒๕๔๑  ….เจ้าของที่ดินเดิมได้อุทิศที่ดินส่วนที่เป็นถนนในโครงการศูนย์การค้าที่จัดสรรทุกสายซึ่งรวมถึงถนนที่ที่พิพาทรวมอยู่ด้วยให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยาย  ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยผลของการแสดงเจตนาอุทิศดังกล่าว  แม้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็ตาม  ก็ต้องถือว่าเจ้าของเดิมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและจะโอนแก่กันไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา

ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินก่อนโจทก์จะรับโอนที่ดินมา  การรับโอนที่ดินพิพาทของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย  โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งไม่มีสิทธิยึดถือที่ดินพิพาทเอาเป็นของตนเอง  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

๓๓.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๗๔๔/๒๕๔๑  จำเลยได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทที่เช่ามาจากโจทก์ ด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางสีทองในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ซึ่งเดิมมีหลักเขตที่ดินแน่นอน  แต่ต่อมาแนวเขตที่ดินด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางสีทองถูกน้ำเซาะตลิ่งอยู่เสมอและเป็นเวลานาน  ทำให้ตลิ่งใต้อาคารที่จำเลยปลูกบ้านบนที่ดินพิพาทพังลงและหลักเขตที่ดินหายไปทำให้ที่ดินพิพาทใต้อาคารกลายสภาพเป็นที่ชายตลิ่งโดยจำเลยยังครอบครองอาคารนั้นอยู่และจำเลยยังเช่าที่ดินพิพาทของโจทก์ตลอดมา จึงถือได้ว่าโจทก์ยังคงใช้สิทธิแห่งความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทนั้นอยู่ โดยมิได้ทิ้งปล่อยให้เป็นที่ชายตลิ่งสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน   ที่ดินพิพาทจึงยังมิได้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม  ป.พ.พ.  มาตรา ๑๓๐๔ (๒) เมื่อสัญญาเช่าที่ดินพิพาทสิ้นสุดลง  โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองได้

๓๔.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๙๖๘/๒๕๔๑  การสละที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  แม้เป็นการแสดงเจตนายกให้ด้วยวาจา  ก็มีสมบูรณ์ตามกฎหมายเมื่อที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว  ย่อมไม่สามารถโอนให้แก่กันได้โดยทางนิติกรรม

ช.  เจ้าของที่ดินเดิมได้อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนสามารถใช้ร่วมกันไปแล้ว  แม้จำเลยจะได้รับโอนที่ดินพิพาทจาก  ช. เจ้าของเดิม  จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท  และไม่มีสิทธิขัดขวางมิให้โจทก์และราษฎรคนอื่นเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท

ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒)  ศาลจึงไม่อาจห้ามจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องเสียทั้งหมดได้  เพราะเป็นการขัดวัตถุประสงค์ของการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทนี้  ศาลห้ามจำเลยได้เฉพาะกรณีที่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยที่มิใช่เป็นไปเพื่อการใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ของสาธารณสมบัติของแผ่นดินเท่านั้น

๓๕.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๙๕๓/๒๕๔๒  ผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทมาให้ผู้ร้องใช้ร่วมกับคูคลองและลำห้วยซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่เดิมเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในกิจการของผู้คัดค้านและเพื่อประโยชน์ของราษฎรในบริเวณนั้น  จึงมีลักษณะเป็นการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์  ประกอบกับการที่ผู้คัดค้านแจ้งแก่ผู้ร้องว่า  ยินดีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง  เป็นการยืนยันเจตนาว่าจะให้ใช้ที่ดินพิพาทเพื่อสาธารณประโยชน์  ถือว่าผู้คัดค้านมีเจตนาสละที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  การแสดงเจตนาย่อมมีผลทันที  ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔  ผู้คัดค้านไม่อาจยกเงื่อนไขที่ตนมีต่อผู้ร้องขึ้นอ้างเพื่อลบล้างสภาพของที่ดินซึ่งตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  อีกทั้งทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้  เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๕

๓๖.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๔๘๗/๒๕๔๒ การที่จะพิจารณาว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือไม่ ต้องพิจารณาตามสภาพของทางพิพาทและการใช้ทางพิพาทว่าเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ หรือไม่ ประกอบกับเจตนาของผู้ที่อุทิศที่ดินให้ทำทางพิพาท ได้ความว่า ทางพิพาทเฉพาะส่วนที่ผ่านที่ดินจำเลยซึ่งโจทก์ทั้งสี่และจำเลยได้ร่วมกันนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดมีความกว้าง ๓ เมตร ยาว ๒๔ เมตร และถนนดินที่ต่อจากทางพิพาทก็มีความกว้างใกล้เคียงกับทางพิพาทผ่านที่ดินแปลงอื่น ๆ อีกหลายแปลง ความกว้างของทางพิพาทดังกล่าวจึงไม่น่าจะใช้เฉพาะเป็นผนังกั้นน้ำหรือใช้เป็นทางเดินผ่านเท่านั้น แต่น่าจะใช้สำหรับเป็นทางล้อเกวียนและใช้รถยนต์แล่นผ่านได้ด้วยประกอบกับที่ดินจำเลยทางด้านทิศใต้จดถนนลูกรังสาธารณประโยชน์และถนนดินเริ่มต้นตั้งแต่ถนนลูกรังสาธารณประโยชน์ดังกล่าวผ่านที่ดินจำเลยที่ดินโจทก์ทั้งสี่และที่ดินของบุคคลอื่นอีกหลายแปลงเข้าไปเป็นระยะทางยาวประมาณ ๓ กิโลเมตร เชื่อได้ว่าถนนดินดังกล่าวทั้งสี่และชาวบ้านทั่วไปได้ใช้เป็นทางเดิน ใช้ล้อเกวียนสำหรับลากขนสัมภาระในการทำนาและใช้รถแล่นผ่าน นอกจากนี้จำเลยเคยลงชื่อมอบที่ดินบริเวณทางพิพาทให้ทางสุขาภิบาลคลองหลวงเพื่อทำถนนให้เป็นสาธารณประโยชน์ต่อส่วนรวมซึ่งมีพื้นผิวถนนกว้าง ๒ วา แสดงว่าจำเลยไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงใช้ถนนพิพาทเป็นผนังกั้นน้ำหรือคันกั้นน้ำเข้านาเท่านั้น แต่ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้อุทิศทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์โดยความสมัครใจของจำเลย ทางพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒) จำเลยจึงไม่มีสิทธิกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการใช้ทางพิพาทของโจทก์ทั้งสี่

๓๗.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๑๒๘/๒๕๔๒  ช.อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรของตนและประชาชนทั่วไปใช้เป็นทางสัญจร  ย่อมมีผลตามกฎหมายทันทีนับตั้งแต่วันที่ ช. อุทิศให้  โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนให้ปรากฏเป็นทางสาธารณะอีก  เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะแล้ว  แม้ต่อมา ช. จะนำที่ดินดังกล่าวไปขายให้แก่จำเลยหรือจะเลยนำไปจดทะเบียนจำนองต่อ  ก็หาทำให้ที่ดินพิพาทสิ้นสภาพเป็นสาธารณะไม่

๓๘.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๔๒๔/๒๕๔๒  ทรัพย์สินของแผ่นดินมี ๒ ประเภท คือ ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาซึ่งเป็นของรัฐกับสาธารณของแผ่นดินซึ่งมีลักษณะสำคัญอยู่ที่ว่าใช้เพื่อประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ฉะนั้น ทรัพย์สินของแผ่นดินที่จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับสภาพของทรัพย์สินนั้นเองว่าได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาปรากฏว่าที่ดินพิพาทซึ่งบริษัท ซ. ยกให้โจทก์ได้ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียน ป. และเนื่องจากโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐทรัพย์สินของโจทก์จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู่ได้ตามาตรา ๑๓๐๖

๓๙. คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๘๐๕ – ๓๘๐๖ /๒๕๔๒ โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท แต่เนื่องจากที่ดินพิพาทมีบางส่วนเป็นร่องวังอ่างซึ่งเป็นร่องสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒) โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มิใช่ร่องวังอ่างสาธารณประโยชน์ส่วนที่เป็นร่องวังอ่างสาธารณประโยชน์นั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองครอบครอง ที่ดินพิพาทส่วนนี้อยู่ จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนนี้ดีกว่าจำเลยที่โจทก์ทั้งสองขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาททั้งหมดนั้น จึงห้ามได้เฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครอง แต่ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นร่องวังอ่างนั้นไม่อาจห้ามจำเลยมิให้เกี่ยวข้องเสียทั้งหมดได้ เพราะจะเป็นการขัดวัตถุประสงค์ของการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทนี้จะห้ามได้เฉพาะกรณีที่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยที่มิใช่เป็นไปเพื่อการใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ของสาธารณสมบัติของแผ่นดินเท่านั้น

๔๐. คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๗๙/๒๕๔๒   ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน การเข้ายึดถือครอบครองย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้ราษฎรผู้ครอบครองไม่อาจยกสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันย่อมยกการยึดถือครอบครองก่อนขึ้นยันคนอื่นที่เข้ามารบกวนได้ การยึดถือครอบครองเช่นนี้สามารถเปลี่ยนมือกันได้ด้วยการครอบครองให้หรือสละการครอบครอง เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ช. บิดาจำเลย โจทก์จึงได้มาซึ่งสิทธิในการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท แต่ผู้ยึดถือครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นนี้จะหวงกันผู้อื่นได้แต่ขณะที่ตนยังยึดถือครอบครองอยู่เท่านั้น  ดังนั้น  การที่โจทก์ให้จำเลยและผู้อื่นเช่าที่ดินพิพาทจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิเพราะเท่ากับนำที่ดินของรัฐไปให้บุคคลอื่นเช่าโดยที่รัฐไม่ยินยอม  และมีผลเป็นการมอบการยึดถือครอบครองให้ถือครอบครองให้จำเลยและผู้เช่าอื่น  ทำให้โจทก์ขาดการยึดครอบครองที่ดินพิพาท   จำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์

๔๑. คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๖๖๗/๒๕๔๒  แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินของรัฐ  แต่ราษฎรก็อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ได้  เพียงแต่เมื่อรัฐต้องการที่ดินดังกล่าว  ราษฎรจะยกเอาการครอบครองมาเป็นข้อโต้แย้งรัฐมิได้  แต่ระหว่างราษฎรด้วยกันเองผู้ที่ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๔  เมื่อมีกฎหมายรับรองสิทธิในกรณีดังกล่าว  ผู้มีสิทธิก็ย่อมสละสิทธินั้นได้  การที่จำเลยขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐให้โจทก์พร้อมส่งมอบการครอบครอง  ย่อมถือได้ว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทโดยโจทก์เข้ายึดถือครอบครองแล้ว

๔๒. คำพิพากษาฎีกาที่  ๙๘๑๗–๙๘๑๙/๒๕๔๒  เดิมบริเวณที่พิพาทเป็นเกาะอยู่กลางแม่น้ำกก  ต่อมาแม่น้ำกกเปลี่ยนทางเดินของน้ำลงมาทางทิศใต้  ทำให้แม่น้ำกกส่วนที่อยู่ระหว่างเกาะกับที่ชายตลิ่งเขินขึ้นน้ำท่วมไม่ถึง  และทำให้เกาะกับตลิ่งเชื่อมติดต่อกันกลายเป็นที่พิพาท  ที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒)  แม้โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา  ก็หามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่จะยันต่อรัฐบาลได้ไม่  โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาทได้

๔๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๙/๒๕๔๓  เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึง จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนน  ดังนั้น ก่อนหน้านี้ที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว โจทก์ครอบครองไม่ถึง ๑๐ ปี โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒

๔๔. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๑๐/๒๕๔๓   บิดาโจทก์อนุญาตให้บิดาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๙  ใช้ที่พิพาทสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ประมาณปี ๒๔๘๗  จนกระทั่งบิดาโจทก์ถึงแก่ความตายในปี ๒๕๑๗ และเมื่อบิดาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๙  ถึงแก่ความตายในปี ๒๕๒๐  โจทก์ก็ยังอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ สอนศาสนาในที่พิพาทต่อไป  เป็นการที่บิดาโจทก์และโจทก์อุทิศที่พิพาทให้ใช้เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามตามหลักของศาสนาอิสลาม  ทำให้ผู้ใดจะยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทไม่ได้ที่พิพาทจึงเป็นที่ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ของชาวมุสลิมและตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีที่บิดาโจทก์อุทิศให้  โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่

๔๕  คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๗๐/๒๕๔๓  เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันย่อมมีผลทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียนเป็นทางสาธารณประโยชน์อีก  และจะโอนแก่กันโดยทางนิติกรรมมิได้  เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือ พ.ร.ฎ. ฉะนั้นแม้จำเลยจะซื้อจากการขายทอดตลาดของศาล  ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท

๔๖. คำพิพากษาฎีกาที่  ๗๕๙๐/๒๕๔๓  ความในมาตรา ๗  แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน  หมายถึง  ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดินโดยทั่ว ๆ  ไป  ซึ่งถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  จึงให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินที่จะดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวนั้นได้  แต่ในเรื่องที่สาธารณประโยชน์อันเป็นของกลางสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น  ได้มีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗  มาตรา  ๑๒๒  บัญญัติไว้ให้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอ  ซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ   ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  พ.ศ.๒๕๓๔  มาตรา  ๖๒  วรรคสาม  เห็นได้ว่าประมวลกฎหมายที่ดินมิได้ยกเลิกเพิกถอนอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอซึ่งมีอยู่ตามมาตรา  ๑๒๒  แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่  พ.ศ.๒๔๕๗

๔๗. คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๙๘/๒๕๔๔   เดิมทางพิพาทรวมอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่ของ ก.  แล้ว ก.  แบ่งให้บุตรแยกครอบครองเป็นสัดส่วน  บุคคลทั่วไปได้ใช้ทางพิพาทเดินออกสู่ทางสาธารณะเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี  โดยไม่มีการหวงห้าม  ทางดังกล่าวจึงเป็นทางสาธารณะโดยปริยาย  อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒)  โดยไม่จำต้องมีการจดทะเบียนยกให้เป็นทางสาธารณะต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

๔๘.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๐๐๔/๒๕๔๔  การที่มีผู้จัดการมรดกอยู่แต่ผู้จัดการมรดกไม่ดำเนินการใด ๆ  เกี่ยวกับทรัพย์มรดก  ย่อมไม่ทำให้สิทธิของทายาทในฐานะทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกที่จะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกองมรดกเสียไป

จ. อุทิศที่ดินให้เป็นถนนสาธารณะและได้จดทะเบียนยกให้แล้ว   จึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา  ๑๓๐๔ (๒)  และสภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจสูญสิ้นไปเพราะการไม่ได้ใช้ตามมาตรา  ๑๓๐๕  แม้กรุงเทพมหานครจำเลยจะมิได้ใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ที่ขอบริจาค และ จ. ได้กลับเข้าครอบครองใช้ประโยชน์นานเพียงใดก็ไม่ทำให้กรรมสิทธิ์ตกไปเป็นของ จ.ได้อีก  เพราะตามมาตรา  ๑๓๐๖  ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

๔๙. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๖๖/๒๕๔๔   พ. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่ถูกเวนคืนกับนายอำเภอภาษีเจริญและรับเงินค่าทดแทนไปครบถ้วนแล้ว  โดยสัญญาจะซื้อจะขายมีข้อความว่า พ. ผู้ขายตกลงขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อเพื่อจัดสร้างถนน  โดยจะนำโฉนดที่ดินไปขอรังวัดแบ่งแยกเป็นที่ดินสาธารณะและให้ผู้ซื้อมีสิทธิเข้าดูแลสถานที่ได้ทันทีนับแต่วันทำสัญญา  เห็นได้ชัดเจนว่า  พ. มีเจตนาขายที่ดินพิพาทเพื่อให้ก่อสร้างถนนสาธารณะโดยยอมให้สร้างได้ทันที   ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันทันทีนับแต่วันทำสัญญา    แม้ภายหลังจะไม่ได้มีการจดทะเบียนโอนกันก็ตาม  ที่ดินพิพาทจึงจะโอนให้แก่กันมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๕  การที่ พ. แบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทออกเป็นชื่อของ พ. แล้วมีการโอนต่อให้ อ.  และ อ. นำไปขายฝากให้แก่ น.  แล้ว  น.โอนให้แก่โจทก์   ผู้รับโอนต่อมารวมทั้งโจทก์ก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของ พ. ไม่

๕๐. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๔/๒๕๔๕   ทรัพย์สินของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่  ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวทรัพย์นั้นว่า  ราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน  แม้ทางราชการจะไม่ได้ทำหลักฐานหรือขึ้นทะเบียนไว้  ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายที่ไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินและไม่อาจโอนให้แก่กันได้  เว้นแต่จะอาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือ พ.ร.ฎ.

๕๑. คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๗๒ – ๓๗๗๕/๒๕๔๕   ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินที่ประกาศให้เป็นที่หวงห้ามสำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์  จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน  การที่โจทก์ออกโฉนดที่ดินโดยอาศัยสิทธิจากการแจ้งการครอบครองภายหลังประกาศดังกล่าว  แม้โจทก์จะซื้อมาโดยสุจริตและโฉนดที่ดินยังไม่ถูกเพิกถอนก็ตาม  ก็หาทำให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท  เมื่อโจทก์มิได้ครอบครองอยู่ก่อนแล้วจำเลยเข้าแย่งจากโจทก์  จำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์

๕๒. คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๖๓๔/๒๕๔๕ ที่ดินพิพาทเดิมเป็นหาดทรายชายทะเลชาวบ้านใช้ตากกุ้งและตากปลาอันเป็นการใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน แม้ต่อมาจะเปลี่ยนแปลงสภาพโดยธรรมชาติทะเลตื้นเขินขึ้น แต่ก็เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน  จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ตราบใดที่ทางราชการยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา ๘ วรรคสอง ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ ผู้ใดหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ไม่ เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ยึดถือที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่

๕๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๔๐/๒๕๔๖   ที่ดินใดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและผู้ครอบครองไม่สามารถแสดงสิทธิใด ๆ ตามกฎหมาย  ที่ดินเหล่านั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. ที่ดินที่โจทก์นำยึดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน  ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นของรัฐตาม ป.ที่ดินฯ  มาตรา ๒  ซึ่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินฯ  ให้อำนาจ ส.ป.ก.นำไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา ๘  กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงเป็นของ ส.ป.ก. หาใช่ของจำเลยที่โจทก์จะมีสิทธินำยึดไม่  ทั้งยังถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ห้ามยึดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๗  อีกด้วย  เมื่อที่ดินแปลงดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการปฏิรูป  แม้จำเลยจะเป็นผู้ถือครองแต่ก็หาใช่ว่าจำเลยจะได้สิทธิในที่ดินไม่ เพราะเป็นเรื่องในอนาคต  โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ยึดทรัพย์ที่ดินแปลงดังกล่าวมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้โจทก์

๕๔. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๔๔/๒๕๔๖ จำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทที่เช่าจากโจทก์ ต่อมาที่ดินพิพาทใต้บ้านถูกน้ำกัดเซาะเป็นเหตุให้ตลิ่งพังทลายลงสู่แม่น้ำกลายสภาพเป็นที่ชายตลิ่งโดยที่จำเลยยังคงทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ตลอดมาและโจทก์ยังคงสงวนสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เป็นค่าเช่าที่ดินพิพาทอยู่ มิได้ปล่อยทิ้งให้เป็นที่ชายตลิ่งที่ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา ๑๓๐๔ (๒)  เมื่อสัญญาเช่าที่ดินพิพาทสิ้นสุดลงจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์อีกต่อไป โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้

ค่าธรรมเนียม

๑. การจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือการจดทะเบียนแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ มีค่าตอบแทน  เรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละ  ๒  ของราคาประเมินทุนทรัพย์ตามหนังสือกรมที่ดิน  ที่  มท ๐๖๑๒/๑/ว  ๘๗๒๓ ลงวันที่ ๒๐  พฤษภาคม  ๒๕๑๙

๒. การจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือการจดทะเบียนแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่มีเงื่อนไขที่จะต้องให้ทางราชการปฏิบัติตอบแทนแล้วย่อมได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนตามมาตรา  ๑๐๓  ทวิ  แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน  กรณีการรังวัดแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการรังวัดด้วย   (ตามหนังสือกรมที่ดิน  ที่  มท  ๐๖๑๒/๑/ว  ๑๐๕๑๕  ลงวันที่  ๓๑  พฤษภาคม ๒๕๒๒)

กรณีการยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์ในการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๑  วรรคสอง  แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง  พ.ศ.๒๔๘๕  คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วว่า  ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์ในการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฯ  ดังกล่าว  หมายความถึงค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตาม  ข้อ  ๒ (๗) (ก)   แห่งกฎกระทรวง  ฉบับที่  ๓๒  (พ.ศ.๒๕๒๒)  ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ.๒๔๙๗  (ปัจจุบันคือ ข้อ  ๒ (๗) (ก)  แห่งกฎกระทรวง  ฉบับที่  ๔๗ (พ.ศ.๒๕๔๑)   ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ.๒๔๙๗) เท่านั้น  มิได้หมายความรวมถึงค่าธรรมเนียมในขั้นตอนก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วย   เวียนให้ทราบตามหนังสือกรมที่ดิน  ที่  มท  ๐๗๑๒/ว  ๑๑๖๗๗  ลงวันที่  ๓๑  พฤษภาคม  ๒๕๓๔

 

ค่าอากรแสตมป์

            –  การให้ การโอนกรรมสิทธิ์หรือครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ส่วนราชการอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร  ๒๘ (ข.)   แห่งอัตราอากรแสตมป์และมาตรา  ๑๐๔ แห่งประมวลรัษฎากร  โดยเสียค่าอากรแสตมป์จากทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วแต่อย่างใดมากกว่า (หนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๕๑๕/ว  ๑๕๐๓๕  ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗)

–   กรณีการแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์  ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกรมสรรพากร  จึงยังไม่ต้องเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์แต่อย่างใด

 

ส่วนมาตรฐานการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน

กรกฎาคม  ๒๕๔๘

_______________

  คำสั่งกรมที่ดิน

ที่  ๒๔/๒๕๑๓

เรื่อง  การจดทะเบียนแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์

____________________________

 

ด้วยได้พิจารณาเห็นว่าในการขอรังวัดแบ่งหักที่หักให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ด้วยความสมัครใจ  มิใช่แบ่งตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือตามกฎหมายอื่นใดโดยได้รับเงินทดแทนจากทางราชการด้วย  ถ้าได้ตกลงในเรื่องเงินค่าทำขวัญก่อนขอรังวัดแบ่งหักที่สาธารณ  การตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยฝ่ายหนึ่งได้ที่ดินไป   อีกฝ่ายหนึ่งได้เงินค่าที่ดินนั้นมา  มีลักษณะเช่นการซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๕๓ ดังนั้น  เมื่อมีผู้มาขอทำธุระเกี่ยวกับที่ดินตามนัยดังกล่าว จึงต้องดำเนินการตามระเบียบวิธีการว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในประเภทขาย

สำหรับการขอแบ่งหักที่ดินของผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถให้เป็นทางสาธารณประโยชน์  หากเข้าลักษณะดังกล่าว  ก็ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถ  (เฉพาะผู้อนุบาลประเภทที่ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยความปกครองมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘๑)  ขออนุญาตศาลตามมาตรา ๑๕๔๖ (๑)  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนด้วย

ทั้งนี้  ให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.

 

สั่ง   ณ   วันที่  ๒๘  พฤษภาคม  ๒๕๑๓

(ลงชื่อ)        อ.  วิสูตรโยธาภิบาล

(นายอรรถ   วิสูตรโยธาภิบาล)

อธิบดีกรมที่ดิน

ข้อมูลจาก http://www.dol.go.th/dol/images/medias/dol/example/lo/smt/handbook/july-48/news28.htm

นายเกรียงศักดิ์   นวลศรี

น.บ   น.บ.ท   วิชาชีพว่าความ   ที่ปรึกษากฎหมาย   และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

Facebook Comments