Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ คำพิพากษาฉบับเต็ม คดีทนายสมชาย

คำพิพากษาฉบับเต็ม คดีทนายสมชาย

5381

 

image

คำพิพากษาฉบับเต็ม
ดาว์นโหลดคำพิพากษา

ศาลฎีกา พิพากษายืน ยกฟ้อง คดีอุ้ม ทนายสมชาย นีละไพจิตร ชี้ พยานให้การสับสน ส่วนพยานเอกสารข้อมูลใช้โทรศัพท์ระหว่างจำเลย ขณะเกิดเหตุ รับฟังไม่ได้ ขาดความสมบูรณ์ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 29 ธ.ค.58 เวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีอุ้มนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน หมายเลขดำ ด.1952/2547 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 และนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย และบุตรรวม 5 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีต สว.กอ.รมน.ช่วยราชการกองปราบปราม ( ขณะนี้หายสาบสูญ) , พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อายุ 46 ปี อดีตพนักงานสอบสวน กก.4 ป.,จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อายุ 44 ปี อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท.,ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อายุ 42 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน อายุ 49 ปี อดีตรอง ผกก.3 ป. ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นภันต์วุฒิ ดำรงตำแหน่ง พ.ต.อ.นภันต์วุฒิ ผกก.ฝอ.สพ. จำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพโดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และ 391โดยอัยการ ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.47 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.47 จำเลยทั้งห้ากับพวก ร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายสมชาย ผู้เสียหายซึ่งหายตัวไป และลักทรัพย์เอารถยนต์ หมายเลขทะเบียน ภง 6768-กรุงเทพฯ,นาฬิกาข้อมือยี่ห้อโรเล็กซ์ 1 เรือน,ปากกายี่ห้อ มองบลังค์ 1 ด้าม และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง รวมราคาทรัพย์ทั้งสิ้น 903,460 บาท โดยพวกจำเลยได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชากตัวนายสมชาย ให้เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้า แล้วจับตัวพาไปซึ่งจนถึงขณะนี้ ไม่ทราบว่า นายสมชาย จะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ต่อมาวันที่ 16 มี.ค.47 พนักงานสอบสวนยึดรถยนต์ของนายสมชาย ผู้เสียหาย ที่ถูกจำเลยทั้งห้า ร่วมกันปล้นทรัพย์ไปดังกล่าว เป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 8 เม.ย.47 จำเลยที่ 1-4 เข้ามอบตัว และวันที่ 30 เม.ย.47 จำเลยที่ 5 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งห้า ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขณะที่ระหว่างพิจารณานางอังคณา ภรรยาและบุตรของนายสมาชย รวม 5 คน ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีขณะที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ม.ค.49 ว่า การกระทำของ พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ม.309 วรรคแรก และ ม.391 พิพากษาให้จำคุก 3 ปี ส่วนความผิดฐานปล้นทรัพย์แม้ข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกขับรถนายสมชายไปจอดทิ้งไว้ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ก็เพื่ออำพรางหลบหลีกการสืบสวนจับกุม ไม่แสดงให้เห็นเจตนาว่า พวกจำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ ส่วนทรัพย์สินอื่นก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้นำทรัพย์สินไปจริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ สำหรับจำเลยที่ 2-5 พิพากษายกฟ้องต่อมาอัยการโจทก์ และภรรยากับบุตรของนายสมชาย โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วย และ พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยที่ 2-5 ตามศาลชั้นต้น ส่วน พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำให้การของพยานโจทก์ ยังสับสนเรื่องการยืนยันตัวจำเลย เมื่อมีเหตุความสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่ 1 จึงพิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งระหว่างอุทธรณ์นี้ ศาลได้ออกหมายจับ พ.ต.ต.เงิน พร้อมสั่งปรับนายประกันจำเลย จำนวน 1.5 ล้านบาท ไว้ เนื่องจากจำเลยไม่มาศาลตามนัด และศาลอุทธรณ์ ยังมีคำสั่งให้ยกคำร้อง การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนางอังคณา ภรรยาและบุตร ตามที่ฝ่ายจำเลย ได้ยื่นคำร้องคัดค้านด้วย โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดียังไม่ชัดเจนว่านายสมชาย จะเสียชีวิตแล้วหรือไม่ ภรรยาและบุตร จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีและไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.5 (2)
ภายหลังอัยการโจทก์ และภรรยากับบุตรของนายสมชาย ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลย และการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี ซึ่งขณะที่ฎีกา ในส่วนของ พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 ปรากฏว่า ได้มีการประกาศคำสั่งศาลจังหวัดปทุมธานีลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 พ.ค.55เรื่องให้เป็นคนสาบสูญ ซึ่งทนายความและครอบครัวของ พ.ต.ต.เงิน มีข้อมูลว่า พ.ต.ต.เงิน ได้หายสาบสูญ ช่วงวันที่ 19 ก.ย. 51 จากเหตุการณ์คันกันน้ำถล่มที่เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก โดยมีการยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปทุมธานี ที่เป็นพื้นที่ซึ่งพ.ต.ต.เงิน มีภูมิลำเนาพักอาศัย และศาลได้ไต่สวนแล้ว พ.ต.ต.เงิน ได้จากภูมิลำเนา เป็นเวลา 2 ปีแล้ว และไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร จึงมีคำสั่งให้ พ.ต.ต.เงิน เป็นคนสาบสูญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.61 (3 )ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว การฎีกาขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดียังไม่ชัดเจนว่านายสมชาย ถูกทำร้ายหรือกระทำการต่อชีวิตที่จะได้รับบาดเจ็บหรือจนกระทั่งเสียชีวิต ดังนั้น นางอังคณา ภรรยาและบุตรของนายสมชาย จึงไม่ใช่ผู้ที่จะเข้าขอเป็นโจทก์ร่วมได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจยื่นฎีกาคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ฎีกาของอัยการโจทก์ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งโจทก์นำสืบถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยทั้งห้าว่า สืบเนื่องจากนายสมชายได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางคดีเกี่ยวกับความมั่นคงกับกลุ่มผู้ต้องหา 5 รายในเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนและก่อเหตุความไม่สงบภาคใต้เมื่อปี 2547 โดยนายสมชายได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อผบ.ตร.กรณีที่ผู้ต้องหาระบุว่า ถูกพวกทำร้ายร่างกายเพื่อกลับคำให้การ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งห้าไม่ได้พบหรือเคยเห็นนายสมชายมาก่อน ขณะที่การทำหนังสือร้องเรียนนั้นก็ฟังได้ว่านายสมชายไม่ใช่ผู้ลงชื่อในหนังสือโดยตรง ดังนั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าพวกจำเลยจะรู้ว่านายสมชายเป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือเพื่อยื่นเรื่องร้องเรียน ขณะที่พยานบุคคล 5 ปาก ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เห็นนายสมชายเป็นครั้งสุดท้ายบริเวณ ถ.รามคำแหง แม้เป็นประจักษ์พยาน แต่คำให้การในชั้นสอบสวนในหลายประเด็นยังมีข้อพิรุธขัดแย้งกับความเป็นจริง และคำเบิกความในชั้นศาลทั้งในเรื่องความสว่างของแสงไฟ ระยะการมองเห็นที่ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งพยานบางปากให้การสับสนระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ที่มีการระบุว่าเป็นผู้ขับรถยนต์ของนายสมชายไป โดยส่วนใหญ่พยานจะให้การทำนองเดียวกันว่าเห็นคนร้าย 3-4 คนยื้อยุดฉุดกระชากกัน แต่ไม่ให้ความสนใจมากนัก กระทั่งทราบข่าวภายหลังว่านายสมชายหายตัวไป จึงได้มาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งช่วงเวลาเกิดเหตุที่จะมองเห็นเพียงไม่ถึงนาที รวมทั้งปัญหาแสงไฟ อาจทำให้ไม่ชัดเจนเพียงพอ โดยลักษณะเด่นของจำเลยที่โจทก์นำสืบว่าบางคนขาวสูงคล้ายคนจีน ก็ไม่ใช่ลักษณะเด่น แต่เป็นลักษณะทั่วไป อีกทั้งคำเบิกความของพยานในชั้นศาลก็ไม่ได้ยืนยันชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นคนร้าย และที่โจทก์นำสืบว่าได้ทราบถึงการพูดคุยของจำเลย เพื่อจะทำร้ายนายสมชายก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำนายตำรวจที่ทราบถึงประเด็นดังกล่าวมานำสืบให้ชัดแจ้งส่วนพยานเอกสารที่เป็นข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งห้า ที่มีการตรวจสอบเน้นในเกิดเหตุวันที่ 12 มี.ค.47 ตั้งแต่เวลา 07.00-21.00 น. และมีการจัดทำพิกัดพื้นที่การใช้โทรศัพท์นั้น ที่โจทก์นำสืบว่ามีการติดต่อโทรศัพท์ระหว่างจำเลยมากผิดปกติถึง 75 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว สะกดรอยตามนายสมชายโดยตลอด โดยมีพยานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจัดทำข้อมูลมาเบิกความว่า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ส่วนหนึ่งได้จากการที่ผู้ช่วย ผบ.ตร.ประสานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบพยานโจทก์ว่า ผู้ช่วย ผบ.ตร.ไม่ได้เป็นผู้บันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์ด้วยตนเอง แต่เป็นกรณีที่ได้รับข้อมูลเป็นเอกสาร ซึ่งถึงเป็นเพียงพยานบอกเล่ามาเท่านั้น อีกทั้งเอกสารนั้นเป็นเพียงสำเนา ไม่ได้มีการรับรองผู้จัดทำโดยตรง ดังนั้น พยานดังกล่าวจึงถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 ที่จะอ้างเป็นพยาน ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงเลื่อนลอย ยังไม่อาจนำมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งห้าได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้นางอังคณา และบุตรสาวได้เป็นตัวแทนของครอบครัว นีละไพจิตร เดินทางมาฟังคำพิพากษา ขณะที่มีสื่อมวลชนต่างประเทศและนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่งมาติดตามผลคำพิพากษาด้วย หลังจากที่นายสมชายหายตัวไป 11 ปี 9 เดือน ภายหลังฟังคำพิพากษายกฟ้อง นางอังคณา ก็มีสีหน้าเรียบเฉยส่วนจำเลย วันนี้ เดินทางมามาศาลเพื่อฟังคำตัดสินทั้งสิ้น 4 คน คือ พ.ต.อ.นภันต์วุฒิหรือชัดชัย เลี่ยมสงวน , พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อดีตพนักงานสอบสวน กก.4 ป. , จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท. และ ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อายุ 42 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. โดยทั้งหมดเดินทางกลับทันที ไม่ให้สัมภาษณ์ใด ๆ ส่วน พ.ต.ต.เงิน ทองสุก จำเลยที่ 1 ได้หายสาบสูญไปตั้งแต่ปี 2551″
อ่านต่อที่: http://www.nationtv.tv

Facebook Comments