Home คดีอาญา ความรู้เกี่ยวกับการร้องขอคืนของกลางในคดีอาญา

ความรู้เกี่ยวกับการร้องขอคืนของกลางในคดีอาญา

22921

การร้องขอคืนของกลางในคดีอาญา

โดยทั่วไปย่อมต้องบังคับตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 กล่าวคือ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว เจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดต้องเสนอคำขอคืนของกลางต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดจึงน่าจะถือได้ว่าศาลต้องมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินนั้นไปแล้ว จึงจะร้องขอคืนได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะในความผิดบางประเภท ก็ต้องบังคับตามบทกฎหมายดังกล่าว เช่น พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ เป็นต้น

คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลงขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นศาลยังไม่มีคำสั่งให้ริบของกลาง ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 ว่าผู้ร้องยังยื่นคำร้องขอคืนของกลางไม่ได้ ต้องรอให้ศาลสั่งริบของกลางเสียก่อน แต่ความผิดคดีนี้ เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องการรับและการร้องขอคืนของกลางไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯมาตรา 30 วรรคสอง กำหนดให้บุคคลที่อ้างเป็นเจ้าของต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ว่าในคดีนั้นจะปรากฏตัวบุคคล ซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตามและคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2545 วินิจฉัยไว้ว่า การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบรถยนต์ตามคำร้องของโจทก์ และคดีถึงที่สุดแล้ว จึงต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งตามมาตรา 30 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัตินี้ ยังบัญญัติห้ามนำ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 มาใช้บังคับด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวข้างต้น ปรับบทวินิจฉัยข้อกฎหมายคนละฉบับ สำหรับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีการดำเนินการในเรื่องขอริบทรัพย์สินตามบทกฎหมายดังกล่าว กล่าวคือ ตามมาตรา 30 ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น เพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สิน อันได้แก่บรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ยานพาหนะ เครื่องจักรกลหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน เพื่อให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งทั้งนี้ ไม่ว่าในคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตามตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นการบัญญัติไว้ชัดแจ้งเช่นกันว่า ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของก็ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้ เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศหนังสือพิมพ์รายวันตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสาม ดังนั้น การร้องขอคืนของกลางในคดีอาญา จึงต้องพิจารณาว่าเป็นการยื่นโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายใด เมื่อคดีที่หมายเหตุนี้โจทก์มิได้ดำเนินการขอริบทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่ง พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ อันเป็นกฎหมายเฉพาะ และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาการยื่นตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวนี้จึงมิได้ขัดหรือแย้งกันแต่ประการใด แต่ก่อนหน้านี้ได้เคยมี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6187/2540 วินิจฉัยถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 เกี่ยวกับระยะเวลายื่นคำร้องขอคืนของกลางไว้ว่า”ในคดีอาญาที่โจทก์นำคำขอให้ริบของกลางนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36เพียงแต่บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ 34 แล้วก็ให้เจ้าของแท้จริงยื่นคำเสนอขอคืนต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดได้เท่านั้น แต่หาตัดสิทธิเจ้าของที่แท้จริงจะยื่นคำเสนอก่อนเวลาดังกล่าวไม่ ฉะนั้นเจ้าของที่แท้จริงจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางระหว่างพิจารณาคดีได้” จากคำวินิจฉัยดังกล่าวแสดงว่าคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่หมายเหตุนี้กลับแนววินิจฉัยเดิมของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6187/2540 ดังกล่าว ข้อพิจารณาจึงมีว่า เมื่อคดีอยู่ระหว่างพิจารณาศาลยังมิได้มีคำสั่งให้ริบของกลาง จะมีมูลที่จะอ้างเพื่อขอคืนได้อย่างไร เพราะศาลอาจพิพากษายกฟ้องหรือสั่งไม่ริบของกลางในคดีดังกล่าวก็ได้ ประกอบกับตัวบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ 34 ไปแล้ว ย่อมแสดงว่าต้องมีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้ริบทรัพย์สินนั้นแล้ว ทั้งนี้ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2543 สนับสนุนด้วยว่า กรณีขอคืนทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ศาลต้องมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินก่อน จึงจะมีคำสั่งในเรื่องของกลางได้ ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย และมีคำสั่งให้ริบของกลางแล้ว แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งให้คืนของกลาง และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องขอคืนของกลางจึงไม่ชอบพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้น รอฟังผลคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย และขอให้ริบของกลางก่อน แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับหมายเหตุนี้ก็เดินตามแนววินิจฉัยนี้โดยมิได้ยกคำร้องเสียทีเดียว จึงน่าจะเป็นการวินิจฉัยตรงตามบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ทั้งไม่ทำให้ผู้ร้องเสียสิทธิในการขอคืนของกลางด้วย

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา 0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments