Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ทำอย่างไรเมื่อได้รับ”หมายศาล”

ทำอย่างไรเมื่อได้รับ”หมายศาล”

20143

ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายศาล หมายศาลเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่อยากเห็นแขวนที่น่าบ้านวันนี้ทางผู้เขียนจึงขอแนะนำดังนี้

image
image

คนทั่วไปเมื่อได้รับหมายศาลมักจะตกใจกลัวลนลานจนทำอะไรไม่ถูก เพราะเมื่อมีหมายศาลมาถึงตัวมักจะคิดถึงเรื่องการถูกฟ้องร้องไว้ก่อน ทั้งที่จริงๆ แล้วหมายศาลมีหลายชนิดซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นหมายศาลที่ถูกฟ้องร้องเสมอไป อาจเป็นหมายศาลในเรื่องอื่นๆ ก็ได้

ก่อนอื่นจะต้องตั้งสติให้ดีเมื่อได้รับหมายศาล ดูให้รอบคอบว่าเป็นหมายอะไร ส่งมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และได้รับหมายในฐานะอะไร เนื่องจากหมายศาลมีหลายประเภท ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจในเบื้องต้นไว้บ้าง ดังนี้

หมายศาลในคดีแพ่งที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1. หมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หรือหมายเรียกคดีแพ่งสามัญ

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นหมายในคดีแพ่ง หากได้รับหมายนี้แสดงว่าผู้มีชื่อในหมายได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว หากได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว มีหน้าที่ต้องทำคำให้การยื่นต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมายหรือถือว่าได้รับหมาย การที่จะถือว่าได้รับหมาย เช่นการปิดหมาย ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ถูกฟ้องไม่ยอมรับหมายเรียก จึงต้องทำการปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ ณ ภูมิลำเนาของผู้ถูกฟ้อง แต่วิธีการปิดหมายจะมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันปิดหมายได้ล่วงพ้นไปแล้ว ดังนั้น ผู้ที่ถูกฟ้องยังมีเวลาที่จะยื่นคำให้การแก้คดีได้รวมแล้ว 30 วัน นับถัดจากวันปิดหมาย เพื่อให้การต่อสู้คดี มิฉะนั้นจะหมดสิทธิ์ในการต่อสู้คดี ทำให้ต้องแพ้คดีและต้องรับผิดตามฟ้อง ดังนั้น เมื่อได้รับหมายต้องรีบติดต่อทนายความทันทีเพื่อปรึกษาและดำเนินการในการต่อสู้คดี

2. หมายเรียกคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ,หมายเรียกคดีมโนสาเร่

คดีมโนสาเร่ คือ คดีที่ฟ้องร้องกันโดยมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 40,000 บาท หรือคดีฟ้องขับไล่ออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าเช่าขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จำเลยต้องมาศาลตามวันนัดพิจารณาในหมายเพื่อการไกล่เกลี่ย และต้องให้การแก้คดีและสืบพยาน จำเลยจะยื่นคำให้การแก้คดีก่อนวันนัดก็ได้ แต่อย่างช้าต้องไม่เกินวันนัดนั้น ถ้าจำเลยไม่ได้ให้การในวันนัด ศาลจะพิจารณาคดีต่อไปโดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และถ้าจำเลยไม่ได้มาศาลในวันนัดดังกล่าวโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี ศาลจะสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาด้วย และศาลจะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว

คดีไม่มีข้อยุ่งยาก คือ คดีสามัญที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินจำนวนที่แน่นอนตามตั๋วเงิน (ตั๋วสัญญาใช้เงิน ,ตั๋วแลกเงิน ,เช็ค) หรือฟ้องตามสัญญาที่เป็นหนังสือสัญญาที่แท้จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยต้องมาศาลและให้การแก้คดีในวันนัดซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาด้วย ถ้าจำเลยไม่ได้ให้การในวันกำหนด ศาลจะพิจารณาคดีต่อไปโดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และถ้าจำเลยไม่ได้มาศาลในวันนัดดังกล่าวโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี ศาลจะสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา และศาลจะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว

3. หมายเรียกพยานเอกสารหรือวัตถุ

อันที่จริงเป็น “คำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ(คดีแพ่ง) ” เมื่อได้รับหมายดังกล่าวแล้ว ผู้มีชื่อในหมายมีหน้าที่ต้องจัดส่งเอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลตามรายการที่ระบุไว้ในหมาย หากขัดขืนอาจมีความผิดฐานขัดขืนหมายศาลซึ่งมีโทษถึงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้จะมีระบุไว้ในด้านหลังของหมาย

แต่หากไม่มีเอกสารหรือวัตถุพยานตามหมายเรียกอยู่ในครอบครองก็ให้ทำหนังสือชี้แจงไปยังศาลเพื่อให้ศาลและผู้ขอหมายเรียกทราบต่อไป แต่หากมีบางส่วนหรือมีแต่ไม่อาจส่งไปให้ทันตามกำหนดเวลาได้ ก็ต้องทำหนังสือแจ้งเหตุไปให้ทราบเช่นกัน

4. หมายเรียกพยานบุคคล

เมื่อได้รับหมายจะต้องไปศาลตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ในหมาย เพื่อเบิกความเป็นพยานต่อศาล หากขัดขืนไม่ไปศาลตามกำหนดศาลอาจออกหมายจับเอาตัวกักขังได้ และอาจถูกฟ้องได้ แต่หากมีเหตุขัดข้องไม่สามารถไปศาลตามวันเวลาที่กำหนดได้ ก็สามารถทำหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลได้ และหากผู้ขอหมายยังประสงค์จะให้เบิกความเป็นพยานต่อศาลอีกก็จะต้องส่งหมายมาให้อีกครั้งหนึ่ง

5. หมายบังคับคดี

เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีแล้ว และจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ก็จะมีการออกหมายบังคับคดีส่งให้จำเลย เมื่อจำเลยได้รับหมายบังคับคดีแล้วมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษา มิฉะนั้นอาจถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้

หมายในคดีอาญาที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

1. หมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง

ในคดีอาญา ถ้าผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง ตามกฎหมายศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนว่าคดีที่โจทก์ฟ้องนั้นมีมูลหรือไม่ ถ้ามีมูลศาลก็จะประทับรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป ถ้าศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลศาลก็จะมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้เสียหายแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหรือตำรวจก็ไม่ต้องทำการไต่สวนมูลฟ้อง พนักงานสอบสวนจะทำสำนวนส่งให้อัยการยื่นฟ้องได้เลย

เมื่อได้รับหมายนัดจึงต้องดูรายละเอียดว่าศาลกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องวันใด และหากประสงค์จะต่อสู้คดีก็ต้องรีบปรึกษาทนายความทันที เพื่อทำหนังสือแต่งตั้งทนายความเพื่อให้ทนายความไปทำการซักค้านพยานโจทก์ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องแทน โดยในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องจำเลยไม่จำเป็นต้องไปศาล

ส่วนใหญ่แล้วในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องจำเลยจึงมักจะไม่ไปศาลเพราะหากจำเลยไปศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ศาลก็จะประทับรับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยจะถูกควบคุมตัวทันที จึงต้องเตรียมหลักทรัพย์ไปประกันตัวด้วย

2. หมายเรียกพยานบุคคล

เมื่อได้รับหมายดังกล่าวต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการที่ได้รับหมายเรียกพยานบุคคลในคดีแพ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้ว มิฉะนั้นก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน

3. หมายเรียกพยานเอกสารหรือวัตถุในคดีอาญา

หากได้รับหมายเรียกให้ส่งพยานเอกสารหรือวัตถุต่อศาล จะต้องจัดส่งเอกสารหรือวัตถุตามที่ระบุในหมายไปศาลตามวันเวลาที่ศาลกำหนด หากขัดขืนอาจมีความผิดฐานขัดขืนหมายศาลซึ่งมีโทษถึงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้จะมีระบุไว้ในด้านหลังของหมาย

แต่หากไม่มีเอกสารหรือวัตถุพยานตามหมายเรียกอยู่ในครอบครองก็ให้ทำหนังสือชี้แจงไปยังศาลเพื่อให้ศาลทราบต่อไป แต่หากมีบางส่วนหรือมีแต่ไม่อาจส่งไปให้ทันตามกำหนดเวลาได้ ก็ต้องทำหนังสือแจ้งเหตุไปให้ทราบเช่นกัน หรือจะไปแถลงด้วยวาจาต่อศาลตามวันที่ระบุในหมายก็ได้

4. หมายค้น หมายจับ หมายขังและหมายปล่อย

กฎหมายห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล แต่มีข้อยกเว้นถ้าพนักงานฝ่ายปกครอง (ตั้งแต่ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงมาจนถึงปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ) หรือตำรวจ (ตั้งแต่อธิบดีกรมตำรวจลงมาจนถึงหัวหน้ากิ่งสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) เป็นผู้ค้นในกรณีดังต่อไปนี้ คือ

1.เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยออกมาจากที่รโหฐานหรือมีพฤติการณ์ที่แสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นข้างใน
2.เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
3.เมื่อมีคนร้ายขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่
4.เมื่อมีหลักฐานว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายซ่อนอยู่ซึ่งหากรอหมายค้นสิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายทำลายเสียก่อน
5.เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้ที่จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้านและการจับนั้นมีหมายจับ

นอกจากนี้การค้นในที่รโหฐานต้องทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก ยกเว้น เมื่อค้นตั้งแต่เวลากลางวันแต่ยังไม่เสร็จก็สามารถค้นต่อไปถึงกลางคืนได้ หรือในกรณีมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่งก็ค้นในเวลากลางคืนได้ เมื่อได้รับหมายดังกล่าวเหล่านี้ ต้องอ่านรายละเอียดในหมายว่าให้เข้าใจ เมื่อเห็นว่าเป็นหมายที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในหมาย แต่ถ้าเป็นหมายค้นก็ต้องยอมให้ตรวจค้นได้ แต่การตรวจค้นจะต้องทำตามวัน – เวลาและสถานที่ที่ระบุในหมายศาลเท่านั้น และต้องกระทำอย่างระวังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกค้น มิฉะนั้นผู้ถูกค้นสามารถฟ้องผู้ตรวจค้นได้

ส่วนหมายขัง หมายจำคุก หมายปล่อย เป็นเรื่องเฉพาะที่มีขั้นตอนที่ลึกลงไปอีกซึ่งศาลจะกำหนดไว้ในหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น

การได้รับหมายศาลเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นกับคนทั่วไป ดังนั้นเมื่อได้รับหมายศาลจะต้องตั้งสติให้ดี อย่ากลัวลนลานจนเกินเหตุ ถ้าไม่แน่ใจก็รีบปรึกษาทนายความทันที

Facebook Comments