วิธีการทำข้อสอบ
โดย นายเลิศพงษ์ พุมนาวิน เนติบัณฑิตไทย อันดับ 1 สมัย 43
เมื่อได้รับข้อสอบแล้ว ควรจะตั้งสติให้คงที่ ทำใจให้สบาย แล้วท่านเริ่มอ่านโจทก์หลายๆเที่ยวให้เข้าใจในปัญหาเสียก่อน วิธีการเลือกตอบข้อสอบนั้นแต่ละท่านคงมีวิธีการที่แตกต่างกันไป แต่วิธีการที่ดีควรใช้วิธีการดังนี้
1. ควรอ่านข้อสอบทั้งหมดแล้วจึงเลือกตอบข้อที่ทำได้ก่อน วิธีนี้จะทำให้รู้ว่าในการสอบมีข้อสอบอย่างไรบ้าง
2. วิธีอ่านข้อสอบที่ละข้อ เมื่อเห็นว่าข้อไหนสามารถทำได้ก็ลงมือทำวิธีนี้เป็นวิธีจะเห็นได้ว่า ผู้เข้าสอบจะไม่เสียเวลาในการอ่านข้อสอบทั้งหมด 10 ข้อ ซึ่งจะไม่เสียเวลา อาจไม่น้อยกว่า 30 นาที ซึ่งถ้าเอาเวลาเหล่านี้ไปใช้ในการทำข้อสอบอาจทำข้อสอบได้ถึง 2 ข้อ ส่วนในเรื่องเวลา มีเวลาทั้งหมด 4 ชม. ต้องทำข้อสอบทั้งหมด 10 ข้อ ตกข้อละ 24 นาทีเท่านั้น ดังนั้นควรทำข้อสอบที่ทำได้ก่อนอย่าไปคิดถึงข้อที่ทำไม่ได้ ควรทบทวนการทำข้อสอบเมื่อทำข้อสอบเสร็จแล้ว และที่สำคัญอย่าลืมเผื่อเวลาไว้ด้วย เพราะข้อที่ทำไม่ได้อาจใช้เวลาถึง 30 นาที
วิธีการเขียนข้อสอบ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1. การตอบแบบแยกเป็นขั้นตอน
2. การตอบแบบรวมวินิจฉัยหรือแบบฟันธง
การตอบข้อสอบนั้น มีหลายท่านถามว่าตอบอย่างไรถึงได้คะแนนดี บางท่านบอกว่าตอบได้ถึง 15 ข้อทำไมถึงสอบตก ลองอ่านวิธีการตอบข้อสอบที่จะได้คะแนนดีดังนี้
วิธีการตอบแบบแยกเป็นขั้นตอน วิธีการตอบแบบแยกเป็นขั้นตอนในการตอบข้อสอบมีองค์ประกอบ 3 ประการ
1.1 ยกหลักกฎหมาย
1.2 วินิจฉัย
1.3 สรุป
วิธีการนี้เป็นวิธีการเดียวกันกับการตอบข้อสอบในมหาวิทยาลัย การใช้วิธีการนี้จุดสำคัญที่สุด ท่านต้องมีความแม่นยำในการตอบข้อสอบ กล่าวคือ ท่านต้องมีความจำด้วยการเขียนตัวบทกฎหมาย ความเข้าใจด้วยการนำตัวบทกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริง และท่านต้องสรุปคำตอบของท่านได้ การตอบแบบแยกขั้นตอนนี้ มีข้อดีและข้อเสียคือ ข้อดีนั้นจะเป็นการเรียกคะแนนจากกรรมการผู้ตรวจข้อสอบ ทำให้ท่านได้คะแนนมากขึ้น เนื่องจากท่านเขียนหลักกฎหมายได้อย่างละเอียดและสรุปปัญหาในจุดสำคัญได้ เป็นการแสดงความรู้ความสามารถของท่าน จุดนี้เองจะเป็นจุดที่เน้นการเขียนตอบข้อสอบให้ได้คะแนนดีขึ้น แต่ข้อควรระวังท่านต้องมั่นใจว่าท่านทำข้อสอบข้อนั้นๆได้จริงๆ จึงจะเลือกใช้วิธีการตอบแบบแยกขั้นตอน
ตัวอย่าง
นายสมชายต้องการฆ่านายสมศักดิ์แต่ปรากฏว่ายิงไปแล้วปืนไม่ลั่น เพราะกระสุนปืนด้าน ยิงนัดที่สองก็ไม่ลั่นอีกเช่นกัน ยิงนัดที่สามปืนจึงลั่น แต่ยิงไม่ถูกนายสมศักดิ์เพราะนายสมศักดิ์หลบทัน แต่พลาดไปถูกสุนัขของนายสมหมายตาย อยากทราบว่านายสมชายมีความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินฐานใดหรือไม่
ตอบ ตามปัญหานี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของนายสมชายเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 59 และมาตรา 81หรือไม่ และการกระทำของนายสมชายเป็นการกระทำโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 หรือไม่ ส่วนในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินต้องวินิจฉัยว่านายสมชายผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 หรือไม่
หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ ดังนี้
มาตรา 59 วรรคสอง “การกระทำโดยเจตนาได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลการกระทำนั้น”
มาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระว่างโทษ…”
มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้น”
มาตรา 81 “ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งหมายต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแต่การกระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยที่ใช้ในการกระทำ หรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น…”
มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่งแต่ผลของการกระทำเกินแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น….”
มาตรา 358 “ผู้ใดทำให้เสียหาน ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์….”
วินิจฉัย ตามปัญหานี้การที่นายสมชายมีเจตนาฆ่านายสมศักดิ์และยกปืนเล็งไปที่นายสมศักดิ์พร้อมกับลั่นไกปืน ถือได้ว่านายสมชายได้ลงมือกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นแล้ว แต่เมื่อลั่นไกปืนไปถึงสองครั้งแต่ปืนไม่ลั่น เนื่องจากกระสุนปืนด้าน หาถือได้ไม่ว่าเป็นการพยายามกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 เพราะจะเป็นการพยายามกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้นั้นโดยสภาพแห่งการกระทำต้องเห็นได้ว่า ไม่สามารถสำเร็จผลได้ในองค์ประกอบแห่งความผิดได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุวัตถุที่ใช้กระทำความผิดหรือปัจจัยที่มุ่งหมายกระทำต่อ เช่น การเสกหนังควายเข้าท้องผู้อื่นให้ถึงแก่ความตาย ซึ่งวิธีนี้ปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจส่งผลให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ได้ แต่ตามปัญหาที่กระสุนไม่ลั่นนั้นมิใชาเป็นเหตุที่จะทำให้ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นไม่เกิดขึ้นอย่างแน่แท้เสมอไป แต่กระสุนปืนไม่ลั่นนั้นเป็นเพราะเหตุบังเอิญ นายสมชายจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 59 และมาตรา 81 เมื่อนายสมชายยิงปืนนัดที่สาม กระสุนปืนลั่นแต่ไม่ถูกนายสมศักดิ์ เนื่องจากนายสมศักดิ์หลบทัน ถือได้ว่า เป็นการพยายามกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล นายสมชายจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 59และมาตรา 80 นอกจากนั้นกระสุนปืนยังพลาดไปถูกสุนัขของนายสมหมายตาย แม้ตามปัญหานี้จะใช้คำว่า “พลาดไป” แต่ก็หาใช่เป็นการกระทำโดยพลาดซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 ไม่ เพราะจะเป็นการกระทำโดยพลาดได้วัตถุแห่งการกระทำต้องเป็นอย่างเดียวกัน เช่น ต้องการกระทำต่อบุคคลหนึ่งผลร้ายเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง หรือต้องกระทำต่อทรัพย์ของบุคคลหนึ่งแต่ผลร้ายเกิดแก่ทรัพย์ของบุคคลอีกคนหนึ่ง จึงจะเป็นการกระทำโดยพลาดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 ตามปัญหาวัตถุแห่งการกระทำเป็นคนละชนิดกัน เมื่อกระสุนปืนไปถูกสุนัขของนายสมหมายตาย ต้องพิจารณาว่า นายสมชายมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่ โดยพิจารณาจากเจตนาเดิมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา59 ซึ่งมีเจตนาฆ่าผู้อื่นไม่มีเจตนาทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหายแต่อย่างใดไม่ จึงไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของนายสมชายมีเจตนาทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา358 นายสมชายจึงไม่มีความผิด เพราะความผิดตามมาตรานี้จะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น และไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดในเรื่องกระทำให้เสียทรัพย์โดยประมาท นายสมชายจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 258
สรุป นายสมชายผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 59 วรรคสอง และมาตรา 80 แต่ไม่ผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ตามประวลกฎหมายอาญามาตรา 288,59 และมาตรา 81 กรณีนี้การกระทำของนายสมชายไม่ใช่กระทำโดยพลาดตามมาตรา 60 เพราะเหตุวัตถุแห่งการกระทำคนละอย่างกัน ส่วนจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นายสมชายไม่มีเจตนากระทำต่อทรัพย์ มีแต่เจตนาที่จะ กระทำต่อบุคคลแต่ผลไม่เกิดขึ้นกับทรัพย์ เจตนาจะโอนไปตามมาตรา 60 ไม่ได้ เพราะเจตนาต่างกันและวัตถุแห่งการกระทำเป็นคนละอย่างกันด้วย จึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทด้วยเพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ในกรณีนี้ต้องไปกล่าวกันในทางแพ่ง
วิธีการตอบข้อสอบอีกวิธีหนึ่งคือการรวมวินิจฉัยหรือแบบฟันธง กรณีนี้เป็นการตอบเมื่อผู้สอบไม่แน่ใจว่าจะทำข้อสอบได้หรือไม่ หรือจำตัวบทกฎหมายได้ไม่แม่นยำ การตอบข้อสอบในกรณีนี้มีข้อดีคือ จะช่วยกลบเกลื่อนข้อบกพร่องในการการตอบข้อสอบและประหยัดเวลาเพาะผู้สอบมีความรู้ไม่แม่นยำแต่ตอบข้อสอบแยกขั้นตอนจะทำให้เห็นจุดบกพร่องได้อย่างชัดเจน เช่น ในกรณีเขียนหลักกฎหมายไม่ถูกต้อง วินิจฉัยไม่สละสลวย สรุปผิดจะเห็นได้ว่าเป็นผลร้ายอย่างยิ่งถ้าเลือกวิธีตอบแบบแยกขั้นตอน เพราะกรรมการผู้ตรวจข้อสอบย่อมเห็นจุดบกพร่องอย่างเด่นชัด แต่ถ้าตอบแบบวิธีรวมวินิจฉัยเป็นการตอบแบบคลุมๆ เพื่อกลบเกลื่อนจุดบกพร่องเมื่อกรรมการตรวจข้อสอบแล้วเห็นว่าถึงจะตอบไม่ถูกต้องแม่นยำแต่ก็มีความรู้อยู่บ้างอาจจะให้สอบผ่านไปในข้อนั้น แต่ข้อเสียในการตอบแบบรวมวินิจฉัย คือ ข้อสอบที่ทำได้แต่ใช้วิธีการตอบแบบรวมวินิจฉัยนั้นถ้าท่านไม่มีความสามารถในการเขียนข้อสอบที่ดีท่านก็จะได้คะแนน น้อยลงเพราะการอธิบายสอดแทรกด้วยหลักกฎหมาย วินิจฉัยพร้อมกับสรุปไปพร้อมกัน อาจทำให้การอธิบายไม่ต่อเนื่องวกวนได้คะแนนไม่ดี
ตัวอย่างการตอบแบบรวมวินิจฉัย (ฟันธง) ตามปัญหาข้างต้นการตอบแบบรวมวินิจฉัยตอบได้ดังนี้
การกระทำของนายสมชาย เอาปืนจ่อเล็งไปที่นายสมศักดิ์และลั่นไกปืน ถือได้ว่านายสมชายมีเจตนาฆ่านายสมศักดิ์แล้ว ซึ่งมีหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้ “การกระทำโดยเจตนา คือการกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลในการกระทำ…” การเอาปืนจ้องเล็งแล้วยิงถือได้ว่ามีการลงมือกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยประสงค์ต่อผลให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่เนื่องจากกระสุนปืนด้านจึงทำให้ปืนไม่ลั่น การที่ปืนไม่ลั่นเพราะกระสุนด้านนั้นหาใช่เป็นการกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ ซึ่งมีหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาดังนี้ “ผู้ใดกระทำโดยมุ่งต่อผลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดแต่การกระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้” การที่ปืนไม่ลั่นเป็นเพียงเหตุบังเอิญเนื่องจากกระสุนด้าน หาถือได้ไม่ว่าเป็นการกระทำผิดที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ เมื่อยิงปืนครั้งที่สามกระสุนปืนลั่นออกไปแต่ไม่ถูกยสบสมศักดิ์เพราะนายสมศักดิ์หลบได้ทัน นายสมชายจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายสมศักดิ์ ซึ่งมีหลักกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายอาญาดังนี้ “ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษ…” และ “ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแล้วแต่ไม่บรรลุผลให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษสองในสามตามที่กฎหมายบัญญัติไว้” เมื่อกระสุนปืนไม่ถูกนายสมศักดิ์ แต่พลาดไปถูกสุนัขของนายสมหมายถึงแก่ความตายกรณีนี้หาใช่การกระทำโดยพลาดไม่ เพราะการกระทำโดยพลาดต้องมีวัตถุแห่งการกระทำเป็นอย่างเดียวกัน ถ้ากระทำต่อบุคคลที่เกิดก็ต้องเกิดกับบุคคล หรือกระทำต่อทรัพย์ผลที่เกิดก็ต้องเกิดกับทรัพย์เช่นเดียวกัน กรณีนี้เป็นการกระทำต่อบุคคลแต่ผลไปเกิดกับทรัพย์ จึงมิใช่กระทำโดยพลาด ซึ่งมีหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาดังนี้ “ผู้ใดมีเจตนากระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลแห่งการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นมีเจตนาแก่บุคคลผู้ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น…” การที่กระสุนปืนพลาดไปถูกสุนัขของนายสมหมายตายจึงไม่ใช่การกระทำโดยพลาด แต่ต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นการกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่ ซึ่งมีหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาดังนี้ “ผู้ใดทำให้เสียทรัพย์ ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษ…” ในกรณีนี้ต้องพิจารณาเจตนาเดิมของผู้กระทำความผิดว่ามีเจตนาอย่างไร เจตนาเดิมมุ่งประสงค์ต่อชีวิตของบุคคล หาได้มุ่งทรัพย์แต่อย่างใดไม่ เมื่อการกระทำพลาดไปถูกทรัพย์เสียหายเจตนาจึงไม่อาจโอนไปได้ ซึ่งมีผลเท่ากับนายสมชายไม่มีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ จึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แม้ว่าการกระทำของนายสมชายเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย ก็จะลงโทษนายสมชายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดในเรื่องทำให้เสียทรัพย์โดยประมาท ต้องไปฟ้องร้องกันในทางแพ่ง
วิธีการเขียนตอบควรใช้ทั้งสองวิธี ถ้าข้อไหนจำคำตอบและหลักกฎหมายได้อย่างแม่นยำใช้วิธีการตอบแบบแยกขั้นตอนในการตอบ ถ้าข้อไหนจำได้ไม่แม่นยำจะใช้วิธีรวมวินิจฉัยหรือฟันธง