Home คดีอาญา คำแนะนำการเขียนตอบกฎหมาย จากปรมาจารย์อัยการ

คำแนะนำการเขียนตอบกฎหมาย จากปรมาจารย์อัยการ

11310

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนตอบข้อสอบอัยการ

 

ท่าน ถาวร เชาว์วิชารัตน์

อัยการอาวุโส
ผู้เขียนได้รับคำถามจากผู้สนใจจะสอบคัดเลือกเป็นอัยการจำนวนมาก คำถามเหล่านี้มีลักษณะคล้าย ๆกันว่า ควรจะเตรียมตัวอย่างไรดี ข้อสอบมีจุดเน้นหนักในเรื่องใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีแง่มุมอื่นใดเป็นพิเศษที่ผู้สอบควรจะได้เตรียมตัวไว้บ้าง

โดยเหตุที่ผู้เขียนได้ผ่านการสอบมาแล้วและได้คะแนนในลำดับที่น่าภาคภูมิใจ นอกจากนี้ ได้มีโอกาสเป็นกรรมการผู้ออกข้อสอบ และตรวจข้อสอบมาระยะหนึ่ง จึงทำให้เกิดความคิดบางประการเกี่ยวกับการเขียนตอบข้อสอบคัดเลือกเพื่อเป็นพนักงานอัยการว่า น่าจะมีข้อที่ควรพิจารณาเตรียมตัวไว้อย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดี ขอให้ถือว่า คำแนะนำทั้งหมดต่อไปนี้เป็นเพียงความคิดเบื้องต้นส่วนหนึ่งเท่านั้น

ผู้เขียนใคร่ขอทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า การเตรียมตัวโดยทั่วไป เช่น การแสวงหาความรู้ให้กว้างขวาง ลึกซึ้ง จดจำถ้อยคำหรือทำความเข้าใจตัวบทกฎหมายให้เข้าใจถ่องแท้ และการฝึกปรับบท ฯลฯ น่าจะเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่นักเรียนกฎหมายทุกคนในระดับที่เป็นเนติบัณฑิตมาแล้ว ย่อมรู้อยู่แก่ใจดี ไม่จำต้องยกมากล่าวถึงอีก เพราะดูจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน โดยใช่เหตุ ใคร่ขอย้ำว่า หลักเบื้องต้นต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้นเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากที่สุด ยิ่งกว่าสิ่งที่จะได้อ่านจากบทความต่อไปนี้มากนัก ข้อสังเกตของผู้เขียนคงมีอยู่แต่เฉพาะเรื่องที่เห็นว่านอกเหนือ ไปจากหลักเบื้องต้นดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนที่น่าจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะเป็นอัยการที่ดีต่อไป

๑) เป้าหมายการคัดเลือกคน

สนามสอบวิชาชีพกฎหมายที่เนติบัณฑิตมุ่งสอบกันนั้นมีอยู่หลายสนาม แต่ละสนามอาจมี

ปรัชญาหรือเป้าหมายในการคัดเลือกคนแตกต่างกันไป สิ่งเหล่านี้ปรากฏให้เห็นค่อนข้างชัดเจนในกระบวน การสอบ โดยเฉพาะการออกข้อสอบและแนวการตรวจข้อสอบ

บางสนามอาจมุ่งหมายคัดเลือกคนที่มีความรอบรู้ จดจำแนวคำพิพากษาของศาลสูงในคดีที่

ผ่านๆมาแล้วให้ได้มาก ๆ เพื่อประโยชน์ในการทำงานอย่างสอดคล้องต้องกัน เป็นรูปแบบอย่างเดียวกัน

ไม่เกิดความลักลั่นจนประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า เหตุใดผลแห่งคดีจึงแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่รูปแบบคดีเหมือนๆกัน

สำหรับสนามสอบอัยการนั้น ผู้เขียนได้เคยพิเคราะห์ร่วมกับเพื่อนอัยการร่วมรุ่นไพรีพินาศแล้ว

(ขณะที่เขียนนี้ บรรดาเพื่อนๆ เหล่านี้คงดำรงตำแหน่งอัยการชั้นผู้ใหญ่ ระดับอัยการจังหวัดต่างๆ กันอยู่ทั่วประเทศ) มีความเห็นในแนวทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ว่า อัยการต้องการคนที่รู้หลักกฎหมายอย่างแม่นยำ และปรับใช้งานได้อย่างหลักแหลม เหมาะสมแก่สถานการณ์ และข้อเท็จจริงแต่ละกรณีไป ไม่จำเป็นว่าคดีที่มีรูปแบบคล้ายๆ กันจะต้องมีผลแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกันเสมอไป ทั้งนี้ข้อวินิจฉัยต่างๆ จะต้องวางพื้นฐานอยู่บนเหตุผล หลักนิติศาสตร์ นิติธรรม ความเป็นธรรม ตลอดจนดุลพินิจที่เกี่ยวโยงถึงความสงบเรียบร้อยของสังคมในกรณีนั้นๆ ด้วย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมแต่ละเรื่องๆ อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยของข้อเท็จจริง พฤติการณ์แวดล้อม ตลอดจนภูมิหลังความเป็นมาของผู้เสียหาย- ผู้ต้องหา หรือฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในคดีแตกต่างกันไป การมองรูปคดีของอัยการจึงต้องมองในรูปแบบกว้างๆ ก่อนแล้วเจาะลึกลงในแต่ละเรื่อง เป็นการเฉพาะกิจ

กล่าวให้ชัดเจนขึ้น การปรับใช้กฎหมายของอัยการ แม้จะแตกต่างกันไปสุดแล้วแต่มุมมองของแต่ละคนบ้างก็ตาม หากแนวทางเหล่านั้นวางอยู่บนเหตุผลที่รับกันได้เป็นเปลาะ ๆ ตลอดกระบวนความคิด มีความสมเหตุสมผล รับฟังได้โดยสมบูรณ์แล้ว ถือได้ว่าแนวการวินิจฉัยหรือปรับบทเช่นนั้นใช้ได้

จากแนวคิดเบื้องต้นดังกล่าวการตอบข้อสอบในสนามสอบอัยการจึงคงไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบแนวคำตอบตรงกันหรือตรงตามธงคำตอบที่ตั้งไว้เสมอไป หากผู้ตอบสามารถให้เหตุผลในคำตอบของตนได้ เหมาะเจาะ สมเหตุสมผลแล้ว ย่อมมีโอกาสได้คะแนนสูงเสมอ ในทางตรงข้าม ผู้ที่ตอบถูกธงคำตอบอันเป็นเป้าหมายปลายทาง แต่ขาดสาระสำคัญอันเป็นเหตุผลที่มาที่ไปของเรื่องอาจไม่ได้คะแนนดีเท่าที่ควรก็ได้

อย่างไรก็ดี ผู้สอบโปรดอย่ารีบด่วนสรุปว่า การตอบเช่นนี้จะเป็นเรื่องง่ายๆ ความยากของเรื่องอยู่ที่ว่า แนวคิดที่ผู้ตอบคิด(ในระยะเวลาอันกระชั้นชิด) ว่าถูกต้อง มีเหตุมีผลรับกันอย่างสมบูรณ์ดีอย่างยิ่งแล้วนั้น จะเป็นเหตุผลที่ถูกต้องสมบูรณ์จริงหรือไม่ ผู้ตอบอาจเข้าใจไปเองว่าคำตอบของตนถูกต้องสมบูรณ์แล้วในขณะที่ผู้ตรวจข้อสอบหรือผู้อื่นอาจมีข้อโต้แย้งหรือเห็นจุดอ่อนของคำตอบในภายหลังก็ได้ เรื่องเช่นนี้ดูจะเป็นสิ่งปกติในการเรียนและสอบกฎหมาย ตลอดจนการใช้กฎหมายในระดับวิชาชีพโดยทั่วไป ดังนั้น ต้องตระหนักว่า ตามที่ผู้เขียนกล่าวว่าคำตอบอาจไม่จำเป็นต้องตรงกับธงคำตอบก็ได้นั้น มิได้หมายความว่าจะตอบได้ตามใจชอบเสมอไป

ความรู้พื้นฐานที่แน่นแฟ้นเท่านั้นที่จะช่วยให้ผู้สอบสามารถตอบคำถามได้อย่างมีหลักเกณฑ์ มีเหตุผลสมบูรณ์และรับฟังได้

อีกประการหนึ่ง โปรดทราบว่า ในการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการเกี่ยวกับการคดี ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาทุกประเภท นั้น มีขั้นตอนเบื้องต้นที่เรียกว่า การทำความเห็นและคำสั่งของพนักงานอัยการที่จะต้องทำความเห็นและเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบ หรือเพื่อพิจารณาสั่งคดีต่อไป การเสนอความเห็นเบื้องต้นต่อผู้บังคับบัญชาชั้นต้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พนักงานอัยการจะต้องเขียนรายละเอียดของข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และการปรับข้อเท็จจริงให้เข้ากับข้อกฎหมายให้ละเอียดพอที่ผู้บังคับบัญชาจะเข้าใจสภาพคดีนั้น และประเมินได้ว่า พนักงานอัยการผู้นั้นได้ทำความเห็นในคดีนั้นมาอย่างถูกต้องตามหลักนิติธรรมแล้วหรือไม่ การอธิบายเรื่องราวต่างๆ อย่างละเอียดจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น ในการเขียนตอบข้อสอบ อัยการจึงมักจะพิจารณาว่า ผู้สอบมีความสามารถในด้านนี้เพียงพอหรือไม่ การเขียนตอบข้อสอบที่สั้นจนเกินเหตุอาจไม่แสดงทักษะด้านนี้ออกมาให้กรรมการผู้ตรวจข้อสอบได้เห็น และอาจไม่ได้คะแนนเท่าที่ควรก็ได้

๒) พิจารณาให้ครบถ้วนทั้งหลักและข้อยกเว้น (ถ้ามี)

คำถามบางข้ออาจถามหลักกฎหมายทั่วไปดังที่นักเรียนกฎหมายได้เคยผ่านมาแล้วในระดับ

มหาวิทยาลัย แต่ในชั้นที่จะเป็นนักกฎหมายอาชีพนั้น คำถามอาจต้องถามลึกลงไปถึงข้อยกเว้นปลีกย่อย ถ้าผู้ตอบจดจำได้ หรือเข้าใจแต่เพียงหลักทั่วไป โดยมิได้นึกถึงข้อยกเว้นก็อาจตอบคำถามผิดได้

เรื่องนี้คงไม่มีคำอธิบายมากกว่านี้ เป็นเพียงแต่ยกขึ้นมาเพื่อให้ผู้สอบได้ตระหนักไว้เป็นพิเศษ

เท่านั้น

๓) หลักการเขียนข้อสอบอัตนัยโดยทั่วไป

ในฐานะที่ผู้เขียนเคยเป็นครูอาชีพมาเป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี ใคร่ขอเรียนว่า หลักปฏิบัติใน

วิชาชีพครูสอนกันมาว่า ในการตอบข้อสอบอัตนัย จะต้องตอบคำถามประหนึ่งว่า ผู้อ่าน(คือ ผู้ตรวจข้อสอบ) ไม่มีความรู้อะไรเลย ความข้อนี้อธิบายต่อไปได้ว่า เป็นหน้าที่ของผู้ตอบที่จะต้องอธิบายเรื่องต่าง ๆ อย่างละเอียด ไม่ควรเว้นสาระบางเรื่องไว้โดยคิดไปเองว่า ผู้ตรวจรู้อยู่แล้ว เพราะการละเว้นสาระบางส่วนไปนั้น ผู้ตรวจอาจเข้าใจ(ซึ่งอาจถูกหรือผิดก็ได้) ว่า ผู้ตอบไม่มีความรู้ในส่วนนั้น ๆ ความเข้าใจเช่นนี้ ไม่เป็นสิริมงคลแก่ผู้ตอบไม่ว่าในกรณีใด ๆทั้งสิ้น

หลายคนเกรงว่า ถ้าเขียนคำตอบผิดๆ จะกลายเป็นเรื่องน่าขบขัน หรืออับอายผู้ตรวจ หรือไม่ก็เกรงว่า จะมีลักษณะเป็นน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง ผู้เขียนเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องกังวลกับความคิดที่ไร้สาระเหล่านั้น เพราะอย่างไรเสียท่านผู้ตรวจข้อสอบก็มิได้เคยรู้จักหรือเห็นหน้าค่าตาผู้เข้าสอบแต่ประการใด จึงไม่ใช่เหตุที่ต้องอับอายหรือขายหน้า ผู้เขียนเองได้ยึดหลักการตอบอย่างละเอียดมาตั้งแต่เริ่มเรียนกฎหมายในชั้นปริญญาตรี จนถึงการสอบครั้งสุดท้าย ตามวิธีการที่จะได้กล่าวถึงในข้อหลัง ๆ เชื่อว่าวิธีเช่นนี้น่าจะถูกต้อง เป็นสิ่งจำเป็นในการตอบข้อสอบเป็นอันมาก

วิธีที่จะไม่ให้น้ำท่วมทุ่ง คือ จะต้องตั้งประเด็นปัญหาไว้ก่อนว่า เราจะเขียนในประเด็นใดเป็นรายประเด็นไป แล้วอธิบายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้น ๆ เท่านั้น แต่ละประเด็นควรแยกเขียนย่อหน้าใหม่เพื่อไม่ให้ผู้อ่านสับสน

ประเด็นเหล่านี้ควรจะเกิดขึ้นขณะอ่านคำถามแต่ละบรรทัด เป็นประเด็นที่ผู้ตอบคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาอันใดได้บ้าง ควรยกเอาข้อสะกิดใจเหล่านี้มาตั้งเป็นประเด็นเพื่ออธิบายประกอบ

ผู้เข้าสอบอาจเคยได้ยินอาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบอัตนัยบางท่านกล่าวว่า ไม่ชอบคำตอบที่ยาวเกินไป ทำให้ผู้ตอบหลายคนไม่กล้าเขียนยาว (ซึ่งอาจมีทั้งกรณีที่ไม่กล้าเขียนยาวจริงๆ กับ กรณีที่ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรมาเขียน) ทำให้เกิดปัญหาขึ้นว่า คำตอบของเรายาวเกินไปหรือสั้นเกินไป หรือไม่ ประเด็นเช่นนี้ในช่วงเวลาอันฉุกละหุกกระชั้นชิด เราไม่มีทางรู้ได้ว่าคำตอบของเราจะสั้นไป หรือยาวไป หรือไม่

ผู้เขียนคงไม่อาจตอบได้ว่า จะเขียนมากน้อยเพียงใดจึงจะถือว่าพอดี พอเหมาะ เพราะขึ้นอยู่กับลักษณะสาระแห่งคำถาม อย่างไรก็ดี คำตอบที่พอดีนั้นมีลักษณะเป็นการตอบอย่างสิ้นกระแสความ เก็บใจความได้ครบและอธิบายปัญหาในคำถามนั้นได้ทั้งหมด คำอธิบายเช่นนี้คงไม่เป็นที่กระจ่างนัก และเป็นเชิงกำปั้นทุบดินอยู่มาก แต่คงจะไม่มีคำอธิบายอื่นใดดีกว่า

อย่างไรก็ดี หากเกิดความไม่แน่ใจ จำเป็นต้องเลือกระหว่างคำตอบที่ สั้นเกินไป กับ ยาวเกินไป ผู้
เขียนขอเลือกที่จะเขียนข้อสอบที่ “ยาวเกิน”ไป” มากกว่า เพราะข้อสอบที่ยาวเกินไปอาจมีอะไรบางอย่างเล็กๆน้อย ๆ แทรกปนอยู่พอเป็น “กระสายยา” ให้ได้คะแนนขึ้นมาบ้าง (จะเรียกว่า คะแนนเมตตาก็ได้ ไม่ว่ากัน) แต่คำตอบประเภทสั้นเกินไปนั้น ท่านผู้ตรวจไม่มีโอกาสจะยกสิ่งใดในคำตอบขึ้นมาพิจารณาให้คะแนนได้เลย

ข้อนี้เป็นตรรกะพื้น ๆ อยู่แล้ว

๔) หลักการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย

ในแวดวงการศึกษากฎหมายไทย มีผู้เขียนตำราว่าด้วยวิธีเขียนตอบข้อสอบกฎหมายไว้เป็น

แนวทางให้นักเรียนกฎหมายได้อ่านกันมาแล้วจำนวนมาก ผู้เขียนมีโอกาสได้พบหนังสือดังกล่าวมาแล้วเล่มหนึ่ง เป็นแนวการสอนและคำแนะนำของท่านศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย นักกฎหมายอาวุโสท่านหนึ่งของประเทศไทยซึ่งล่วงลับไปนานแล้ว นักเรียนกฎหมายควรจะรู้จักนามของท่านเป็นอันดีแม้จะไม่ได้พบตัวท่านโดยตรง คำสอนที่ผู้เขียนนำมากล่าวอ้างนั้นได้มาจากหนังสือเล่มเล็ก ๆ ชื่อ “วิธีเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย” ที่ท่านได้เขียนเผยแพร่ไว้ ผู้เขียนได้นำแนวคิดของท่านมาใช้เป็นแนวทางในการตอบข้อสอบตลอดมาตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นปริญญาตรีจนถึงขั้นสอบคัดเลือกเป็นพนักงานอัยการ และเห็นว่าเป็นคำแนะนำที่ดี เพราะปฏิบัติแล้วได้ผลดีตลอดมา จึงขอนำมาเผยแพร่ และหากคำแนะนำทั้งหมดนี้จะมีคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ใดผู้หนึ่ง ขอให้ถือว่าเป็นคำแนะนำของท่าน ดร.หยุด แสงอุทัย และโปรดระลึกถึงพระคุณของท่านในคำแนะนำดังกล่าว ส่วนข้อผิดพลาด บกพร่องที่ผู้เขียนอาจจะได้ขยายความเพิ่มเติมเข้าไปบ้าง ขอถือเป็นความรับผิดของผู้เขียนแต่ผู้เดียว ล่าสุดได้ทราบว่ามีการปรับปรุงและจัดพิมพ์ขึ้นใหม่แล้ว (ถ้าจำไม่ผิด น่าจะโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ )ซึ่งน่าจะสมบูรณ์กว่าเล่มที่ผู้เขียนเคยมีอยู่ นอกจากหนังสือดังกล่าวแล้ว ยังมีหนังสือตัวอย่างการเขียนตอบข้อสอบของอาจารย์ผู้สอนกฎหมายยุคหลัง ๆ อีกหลายท่าน เช่น ท่านอดีตอธิบดีอัยการจิตติ เจริญฉ่ำ คำอธิบายของท่านศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย เกี่ยวกับการตอบข้อสอบกฎหมายที่ผู้เขียนได้รับฟังมาเมื่อครั้งเรียนเนติบัณฑิต หรือท่านอื่นๆ ที่ให้ตัวอย่างการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายอย่างสมบูรณ์แบบเป็นขั้นตอน อาจนำมาใช้เป็นรูปแบบการเขียนตอบต่อไปได้ แนวการเขียนตามคำแนะนำของท่านที่ได้เอ่ยนามมาทั้งหมดนี้มีรูปแบบพื้นฐานไม่แตกต่างกันนัก ผู้สอบสามารถเลือกนำมาใช้ได้

กล่าวโดยย่อ แนวการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย อาจแบ่งได้เป็น ๕ ขั้นตอน (ตามความเข้าใจของผู้เขียนซึ่งสรุปได้อ่านจากหนังสือของ ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย) คือ

๑) เมื่ออ่านคำถามแล้วให้พิเคราะห์ว่า เรื่องที่จะตอบนั้นเป็นเรื่องอะไร (เช่นการป้องกันตัว ปลอมเอกสาร ทรัพยสิทธิ ขาดนัดพิจารณา เป็นต้น ให้เขียนระบุลงไว้ที่หัวเรื่องคำตอบของเราเป็นบรรทัดแรก

๒) เรื่องนั้นมีหลักกฎหมายว่าไว้อย่างไร

ให้ยกตัวบทขึ้นอ้าง ถ้าจำได้แม่นยำก็ดี แต่ถ้าไม่สามารถจดจำได้จำเป็นต้องเรียบเรียงขึ้นเองให้ได้ใจความ สาระสำคัญสมบูรณ์ที่สุด เท่าที่จะสามารถทำได้

๓) อธิบายหลักกฎหมาย

เป็นการอธิบายตัวบทข้างต้นในแง่มุมหรือประเด็นที่เราเห็นว่า จะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเป้าหมายของเรื่องที่เราจะสรุปต่อไป(หลังจากอ่านคำถามจบไปรอบหนึ่งแล้ว) ปกติ แล้วถ้าเรามีความรู้จริง เมื่ออ่านข้อสอบเสร็จแล้ว ควรจะเห็นประเด็นของเรื่องตลอดจนข้อโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้นในความคิดอันจะอธิบายด้วยหลักกฎหมายเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ไม่ว่าจะอธิบายในแง่บวก (คือ ปรับว่าจะสอดคล้องกับที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยครบถ้วน) หรือในแง่ลบ ( คือ ปรับว่ากรณีไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้)

๔) ปรับบท

๕) สรุปผลการวินิจฉัย เป็นคำตอบสุดท้ายที่จะสรุปให้เห็นสิทธิ หน้าที่ หรือความรับผิดชอบตุ๊กตาแต่ละตัวในคำถามข้อนั้นๆ ตามที่คำถามได้ถามไว้

ผู้เขียนเชื่อว่า นักเรียนกฎหมายทุกคน ย่อมคุ้นกับวิธีการตามขั้นที่ ๒ ,๔ และ ๕ อยู่แล้ว แต่จุดที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญและน่าสนใจที่สุด น่าจะอยู่ในขั้นที่ ๓ ซึ่งไม่สู้จะมีผู้กล่าวถึงหรือนำมาเขียนตอบมากนัก หากผู้ตอบทำได้ก็น่าจะช่วยให้คะแนนดีขึ้น เพราะคำอธิบายในขั้นที่ ๓ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า เรามีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องนั้นเพียงใด และคำตอบของเราจะมุ่งไปในทิศทางใด หรือจุดใด หากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เป็นสองทางที่น่าจะเป็นไปได้ทั้งคู่แล้ว แนวทางใดน่าจะถูกต้องกว่า โดยอาศัยกฎหมายเรื่องใดเป็นหลักอ้างอิง กล่าวโดยย่อ เมื่อผู้ตรวจได้อ่านคำตอบมาถึงขั้นที่ ๓ แล้ว ผู้ตรวจจะเห็นเป้าหมายของคำตอบแล้วว่า จะเป็นไปอย่างไร วิธีเช่นนี้จะช่วยชี้หรือจูงใจผู้ตรวจให้เห็นว่า ผู้ตอบมีความรู้สึกซึ้งเพราะสามารถยกหลักกฎหมายขึ้นมาอธิบายได้ถูกจุด

ผู้เขียนคงจะไม่แถลงรายละเอียดวิธีปฏิบัติในแต่ชั้น ผู้เตรียมตัวสอบอาจหาอ่านได้จากบรรดาหนังสือของอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิท่านต่างๆ ที่ได้เอ่ยนามไว้ข้างต้นแล้ว น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าจากคำอธิบายของผู้เขียนแน่นอน หนังสือเหล่านี้หาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายตำรากฎหมายทั่วไป หรือที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็น่าจะมีจำหน่าย

อนึ่ง วิธีเขียนตอบข้อสอบตามแนวทางข้างต้นนี้ย่อมจะยาวกว่าวิธีตอบที่คนทั่วไปตอบกันอยู่บ้าง ผู้ตอบจึงต้องมีทักษะในการเขียนหนังสือให้เร็วและได้ใจความตามสมควรด้วย สิ่งเหล่านี้จะเกิดจากการหมั่นฝึกฝนมาพอสมควร

สิ่งที่ควรตระหนักเกี่ยวกับคำแนะนำข้อนี้ก็ คือ วิธีการข้างต้นนี้เป็นรูปแบบหรือลำดับความรู้ ความคิด และขั้นตอนการนำเสนอให้ผู้ตรวจเข้าใจความคิดของผู้สอบได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ส่วนสาระในขั้นตอนต่างๆจะสมบูรณ์ใช้ได้หรือไม่ เพียงใด ขึ้นอยู่กับความรู้ที่ผู้สอบมีอยู่ ผู้ตอบบางท่านมีความรู้ดี แต่อาจลำดับความคิดไม่เหมาะสม ไม่เป็นลำดับ อ่านเข้าใจยากหรือไม่รู้เรื่อง การฝึกฝนจัดลำดับความคิดเพื่อเรียบเรียงเป็นขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นน่าจะเป็นประโยชน์บ้าง เพราะจะทำให้ผู้ตรวจเข้าใจแนวคิดของผู้ตอบได้สะดวกขึ้น

๕)การพิเคราะห์ประเด็นกฎหมายที่อาจมีปัญหา และยกขึ้นอธิบายให้กระจ่าง

เฉพาะข้อนี้ เป็นการอธิบายวิธีเขียนในขั้นตอนที่ ๓ ของหัวข้อที่แล้วมาให้ชัดเจนขึ้น โดยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว ข้อนี้น่าจะเป็นจุดสำคัญที่สุดในการตอบข้อสอบเพราะเป็นแง่มุมที่แสดงถึงความกว้างและลึกของภูมิปัญญาของผู้ตอบ เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ เป็นความสามารถเฉพาะตัว เนื่องจากต้องใช้ทั้งความรู้ ความคิด การสังเกตประกอบกัน เพื่อให้ปรากฏในความคิดให้ได้ว่า ภายใต้คำถามนั้น มีประเด็นกฎหมายข้อใดแอบแฝงอยู่ อันควรยกขึ้นมาพิจารณา

ผู้ตอบข้อสอบกฎหมายทั่วไป โยเฉพาะข้อสอบกฎหมายอาญา (ซึ่งเป็นกฎหมายหลักของงานอัยการ

ส่วนใหญ่) มักจะพิจารณาเฉพาะการกระทำของตัวบุคคล (ตุ๊กตา)ในโจทย์ปัญหา แล้วปรับบทเข้ากับหลักกฎหมาย โดยคำนึงถึงองค์ประกอบความผิดเป็นสำคัญ อันเป็นวิธีปกติในการตอบปัญหากฎหมาย แต่ในระดับวิชาชีพนักกฎหมายแล้ว ข้อเท็จจริงในคำถามมักจะซับซ้อนมากขึ้น บางครั้งอาจมีปัญหาที่น่าสนใจเล็ก ๆ น้อย ๆแฝงอยู่ อันมิใช่เรื่ององค์ประกอบความผิดโดยตรง แต่ก็มีนัยสำคัญเกี่ยวโยงไปถึงประเด็นในองค์ประกอบความผิดบางข้ออยู่บ้าง ซึ่งหากสามารถวิเคราะห์ออกมาได้ น่าจะทำให้คำตอบมีความเฉียบคมชัดเจนยิ่งขึ้น

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างข้อสอบที่ผู้เขียนได้ผ่านมาในการสอบคัดเลือกที่ผู้เขียนได้เข้าสอบด้วย ข้อเท็จจริงตามปัญหานั้น ระบุว่า

“กรมตำรวจได้ส่งสำเนารายการประวัติอาชญากรของนายศรี ตามหมายเรียกของศาลโดยมีพลตำรวจตรีสมเดช ผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากรรับรองว่า เป็นสำเนาถูกต้อง เอกสารดังกล่าวมีรายการที่นายศรีต้องหาในคดีต่างๆ รวม ๗ รายการ นายธงผู้เสียหายได้ขออนุญาตศาลถ่ายภาพเอกสารฉบับนี้โดยไม่มีผู้ใดรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารที่ถ่ายแล้ว และได้กรอกรายการที่ ๘ เพิ่มเติมลงไปในสำเนาเอกสารที่ถ่ายดังกล่าวมีข้อความว่า นายศรีเคยต้องโทษในคดีอื่นอีกตามที่เป็นจริง แล้วนำไปแจกให้บุคคลอื่น

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยการกระทำของนายธงในฐานความผิดเกี่ยวกับเอกสาร”

เห็นได้ว่า จุดสำคัญของคำถามเรื่องนี้ อยู่ที่การปลอมเอกสาร ตามคำถามข้อนี้ หากจะวินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่ว่าเป็นการปลอมเอกสารหรือไม่ ย่อมจะเป็นคำตอบที่ไม่สมบูรณ์เนื่องจากมีประเด็นว่า “เป็นเอกสารราชการหรือไม่) แฝงอยู่ กรณีจึงต้องพิเคราะห์สาระสำคัญของความเป็นเอกสารราชการมาประกอบคำตอบด้วย

ปัญหามีอยู่ว่า เราจะใช้กระบวนความคิดใด อย่างไร จึงจะรู้ว่าคำถามนั้นมีประเด็นกฎหมายเรื่องใดแฝงอยู่

เรื่องนี้ ผู้ตอบจะต้องคิดว่า คำตอบที่ตนจะตอบลงไปนั้นอาจมีข้อที่จะถูกโต้แย้งได้อย่างไรบ้าง กล่าวอีกนัยหนึ่ง จะต้องรู้จักคิดทั้งในแง่ที่จะสนับสนุนความคิด ขั้นตอนแรกของเรา กับ ความคิดในแง่ที่อาจถูกโต้แย้งความคิดขั้นต้นของเรานั้นได้ (PRO and CON) กระบวนความคิดที่ขัดแย้งกันเองเช่นนี้จะทำให้เห็นประเด็นแฝงปรากฏชัดเจนขึ้น หากจะยกตัวอย่างกระบวนความคิดจากโจทย์ปัญหาคำถามข้างต้น อาจคิดได้ว่า

๑) ความคิดหลักที่เห็นได้ชัดเจน คือ คำถามนี้ควรมีคำตอบว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการปลอมเอกสาร

๒) ความคิดโต้แย้ง คือ เอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นเอกสารราชการ กรณีนี้น่าจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการด้วยหรือไม่

ถ้าน่าจะเป็นเอกสารราชการ จะมีเหตุผลใดสนับสนุน

ถ้าไม่เป็นเอกสารราชการ มีสิ่งใดเป็นตัวบ่งชี้ว่า ไม่เป็น

จากประเด็นโต้แย้งกันไปมา เช่นนี้ จะนำเราไปสู่ประเด็นความคิดเรื่องลักษณะของหนังสือราชการ ซึ่งในที่นี้จะมีเฉพาะกรณีที่เป็นสำเนาหนังสือที่เจ้าพนักงานลงลายมือชื่อไว้ในหน้าที่ ซึ่งในแผ่นถ่ายเอกสารที่นายธงทำขึ้นก็มีลายมือชื่อ พล.ต.ต.สมเดช ปรากฏอยู่แล้ว ทำให้มาถึงประเด็นที่ว่า สำเนาลายมือชื่อผู้รับรองเอกสารราชการจากต้นฉบับที่มาปรากฏอยู่ในภาพถ่ายที่นายธงถ่ายสำเนามานั้น จะถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ และมีเหตุผลใดสนับสนุน

ในเรื่องนี้ ผู้ตอบคงจะต้องอธิบายเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการลงลายมือชื่อว่า มีความหมายเพียงใด ซึ่งในเรื่องนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า คำว่า ลงลายมือชื่อโดยเจ้าพนักงานนั้น มุ่งหมายถึงการที่เจ้าพนักงานได้ลงลายมือชื่อลงไปในแผ่นเอกสารนั้นจริงๆ ด้วยมือตนเอง เป็นรอยหมึกปรากฏอยู่ มิได้รวมถึงกรณีสำเนาลายมือชื่อแต่อย่างใด คำอธิบายเช่นนี้จะเป็นหลักในการสรุปย้อนขึ้นไปเพื่อตอบปัญหาแฝงแต่แรกนั้นให้ได้ว่า สำเนาภาพถ่ายเป็นเอกสารราชการหรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อกล่าวถึงการรับรองเอกสารแผ่นใด ก็จะต้องให้ผู้ที่ลงลายมือชื่อได้มีโอกาส สัมผัส ผ่าน หรือ รับรู้หรือยินยอมให้มีรูปลักษณ์ที่ปรากฏ ของลายมือชื่อของตนอยู่ในกระดาษแผ่นนั้น ๆ โดยตรง (เช่น ครูใหญ่ยินยอมให้ครูน้อยนำตราประทับลายมือชื่อของตนไปประทับลงในสมุดรายงานประจำตัวนักเรียนทั้งโรงเรียน โดยครูใหญ่ไม่ได้ลงชื่อในสมุดรายงานแต่ละเล่มนั้นด้วยตนเอง ก็ถือว่าได้เป็นการลงชื่อแล้วได้ และเป็นเอกสารราชการได้)

ตัวอย่างกระบวนความคิดที่ตอบโต้ไปมาในใจผู้ตอบ เช่นนี้จะชี้ให้เห็นประเด็นแฝงได้ชัดขึ้น และการแสดงรายละเอียดของประเด็นปัญหาข้อกฎหมายเช่นนี้น่าจะทำให้คำตอบมีความเฉียบคมมากขึ้น ไม่ว่าคำตอบนั้นจะถูกต้องตรงกับธงคำตอบหรือไม่ก็ตาม

ลักษณะกระบวนความคิดเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นอัยการต่อไป เพราะอัยการจำเป็นต้องมองข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ปรากฏเป็นมูลแห่งคดี แล้วปรับเข้ากับหลักกฎหมาย ข้อเท็จจริงในมูลคดีบางเรื่องอาจสอดคล้องพอดีหรืออาจไม่พอดีกับองค์ประกอบความผิดในกฎหมายก็ได้ กรณีใดเป็นที่เห็นได้ชัดเจน ไม่ซับซ้อน การปรับบทย่อมทำได้ง่าย ส่วนกรณีซับซ้อนหรือไม่สอดคล้องกับองค์ประกอบโดยตรง จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาวิเคราะห์ให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า กรณีนั้น ๆควรจะปรับบทเข้ากับเรื่องใดได้บ้าง และมีกฎหมายใดเป็นเหตุผลรองรับอธิบายอยู่เบื้องหลัง

เพื่อให้เห็นแนวคิดนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างข้อเท็จจริงว่า ตอนกลางดึก จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายเป็นบาดแผลฉกรรจ์ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ภายในเวลาอันใกล้ จากนั้น จำเลยนำร่างผู้ตายซึ่งจำเลยเข้าใจว่าตายแล้วใส่กระสอบ ขึ้นรถสามล้อ บรรทุกไปที่สะพานข้ามแม่น้ำปิง แล้วหย่อนร่างผู้ตายลงไปเพื่อหวังว่าจะให้ตกน้ำ และลอยไปที่อื่นเพื่อปิดบังการกระทำผิดของตน แต่ปรากฏว่าร่างนั้นไปติดค้างอยู่ที่พงไม้ริมชายตลิ่งของแม่น้ำนั้น เมื่อถึงรุ่งเช้า มีคนหาปลามาพบศพผู้ตายในภายหลังและแจ้งให้ตำรวจทราบ นำร่างผู้ตายส่งแพทย์ แพทย์พบว่าในปอดผู้ตายมีพืชน้ำเล็ก ๆ อยู่ด้วย ซึ่งสรุปได้ว่าขณะถูกโยนทิ้งนั้น ผู้ตายยังไม่ตาย จึงหายใจเอาน้ำซึ่งมีพืชน้ำปนอยู่เข้าไปในปอด แล้วจึงถึงแก่ความตายในภายหลัง คดีมีประเด็นข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปิดบัง ซ่อนเร้นศพ หรือไม่ (จากข้อเท็จจริงเบื้องต้นในคดีฆ่าคนตายที่จังหวัดกำแพงเพชรเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑)

ในเรื่องนี้ จะมีความคิดสองอย่างผุดขึ้นมาในลักษณะโต้แย้งกันอยู่ในตัว

ความคิดที่ ๑ อาจสรุปว่า เป็นการซ่อนเร้นศพ เพราะจำเลยมีเจตนาจะทำเช่นนั้น จำเลยเข้าใจอยู่ในตัวแล้วว่า ขณะโยนร่างผู้ตายลงไปในคลองจำเลยเข้าใจว่าผู้ตายเป็นศพ และไม่ว่าจำเลยจะรู้ว่าผู้ตายเป็นศพแล้วหรือไม่รู้ก็ตาม จำเลยก็ยังคงต้องเล็งเห็นผลได้ว่า พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการซ่อนเร้นปิดบังร่างผู้ตายไว้ และผู้ตายย่อมกลายเป็นศพในเวลาต่อมา ผลแห่งการกระทำของจำเลยในชั้นแรกย่อมทำให้เกิดผลโดยตรงเป็นการปิดบังซ่อนเร้นศพผู้ตายในภายหลังอยู่นั่นเอง

ความคิดที่ ๒ อาจมีข้อโต้แย้งว่า บทบัญญัติได้ กล่าวไว้ชัดเจนว่า เป็นการปิดบังซ่อนเร้น “ศพ” ดังนั้นเมื่อสิ่งที่จำเลยหย่อนลงแม่น้ำยังไม่เป็นศพ ก็ยังไม่ครบองค์ประกอบความผิด

ปัญหาข้อนี้ประสงค์จะยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ประเด็นข้อกฎหมายที่ควรยกขึ้นมาอธิบายนั้น

จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และจะอธิบายให้เข้ากับเรื่องได้อย่างไร สำหรับกรณีนี้ ผู้เขียนได้หาทางแก้โดย สรุปในเบื้องต้นว่า กรณีนี้เป็นการซ่อนเร้นศพ โดยอธิบายความหมายของคำว่า “ซ่อนเร้น” ว่าเริ่มตั้งแต่การนำร่างนั้นใส่กระสอบ ขนย้ายร่างนั้นไปโดยรถสามล้อแล้วหย่อนลงในแม่น้ำ ตราบใดที่ร่างนั้นยังคงอยู่ที่ชายตลิ่ง โดยไม่ได้มีผู้ใดมาพบเห็น ตราบนั้นก็ยังคงอยู่ในสภาพของการ “ซ่อนเร้น” อันถือเป็นการกระทำของผู้กระทำผิด จนเมื่อคนหาปลามาพบร่างนั้นจึงจะถือได้ว่าการ “ซ่อนเร้น” สิ้นสุดลง ดังนั้น เมื่อร่างผู้ตายได้ตายลงในระหว่างการซ่อนเร้น จึงถือว่าเป็นการซ่อนเร้นศพผู้ตายได้

จะเห็นได้ว่า ในการพิจารณาข้อเท็จจริงเพื่อปรับเข้ากับข้อกฎหมาย ผู้ตอบข้อสอบจำเป็นต้องพิจารณาและวินิจฉัยลงไปให้เด็ดขาดในทางใดทางหนึ่งที่ตนเห็นว่าถูกต้อง โดยอาศัยหลักกฎหมายอ้างอิงให้สมเหตุสมผลเสียก่อนจึงจะนำผลไปสรุปปรับบทต่อไปในตอนท้าย จุดนี้คือส่วนที่ผู้เขียนเรียกว่าเป็นการอธิบายหลักกฎหมายในชั้นตอนที่ ๓ ของการเขียนคำตอบดังกล่าวมาแล้ว

ส่วนการเขียนในชั้นตอนอื่นๆ อีก ๔ ตอนนั้น ไม่จำเป็นต้องแสดงไว้ ณ ที่นี้เพราะเชื่อว่า ผู้เข้าสอบทุกท่านย่อมจะได้มีประสบการณ์ผ่านมาแล้วในชั้นสอบขั้นปริญญาตรี-โท หรือชั้นเนติบัณฑิตมาแล้ว ไม่มีอะไรแตกต่างกัน

๖)เปรียบเทียบหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) า

กรณีที่เนื้อหาของคำถามมีสาระสำคัญเกี่ยวเนื่องถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงกัน และข้อสอบมีแนวโน้มที่จะต้องการให้ผู้ตอบตอบไปได้ทั้งสองทาง ผู้ตอบควรยกหลักกฎหมายโดยย่อของทั้งสองเรื่องขึ้นเทียบเคียงกันเพื่อให้เห็นว่า แต่ละเรื่องมีสาระสำคัญอย่างไร และเรื่องตามคำถามในข้อสอบแท้จริงแล้วเป็นเรื่องอะไร มีสาระสำคัญหรือองค์ประกอบอย่างไร แล้วจึงสรุปให้ชัดเจน เช่น การเปรียบเทียบระหว่างการกระทำโดยจำเป็นกับการป้องกัน ทางจำเป็นกับทางภาระจำยอม เป็นต้น

การเปรียบเทียบหลักกฎหมายโดยย่อ เป็นการย้ำให้ผู้ตรวจรู้ว่า ผู้ตอบมีความเข้าใจหลักกฎหมายแต่ละเรื่องเป็นอย่างดี ไม่สับสน และคำตอบมิได้เกิดจากการเดา แต่เกิดจากความรู้จริงที่ผ่านการวิเคราะห์เปรียบเทียบมาแล้ว

๗) ตอบให้ครบประเด็นที่ถาม

กรณีที่คำถามมุ่งถามกว้าง ๆ เช่น กรณีตามตัวอย่างคำถามที่ยกมาในข้อ ๕. ใช้คำว่า ให้วินิจฉัยในฐานความผิดเกี่ยวกับเอกสาร มิได้ใช้คำว่า ฐานปลอมเอกสาร แสดงว่าผู้ตอบจะต้องตอบให้ถึงความผิดเกี่ยวกับเอกสารทุกเรื่องที่ผู้ตอบเห็นว่า อาจจะเกี่ยวข้องหรือโยงไปถึงได้

หากเห็นว่า การกระทำเป็นความผิดเกี่ยวกับเอกสารทุกฐานความผิดก็ปรับบทไป

หากเห็นว่าไม่เป็นความผิดในฐานใด ก็ต้องยกขึ้นวินิจฉัยว่า ไม่เป็นความผิดด้วยเหตุผลใด ให้ครบถ้วน

ในกรณีเช่นนี้ อาจมีการเปรียบเทียบลักษณะฐานความผิด หรือเรื่องที่ใกล้เคียงกัน ดังกล่าวในหัวข้อที่ ๖. ด้วย ดังตัวอย่างคำถามดังกล่าวอาจมีทั้งข้อหาฐานปลอมเอกสารและข้อหาทำลายหรือทำให้เอกสารของผู้อื่นเสียหาย ก็ควรเปรียบเทียบว่า การปลอมกับการทำลายเอกสารมีสาระสำคัญต่างกันอย่างไร เช่น อาจชี้ให้เห็นว่าการทำลายเอกสารเป็นการกระทำต่อรูปลักษณะชิ้นส่วนอันเป็นเนื้อวัสดุที่เป็นแผ่นเอกสารนั้น แต่การปลอมเอกสารเป็นการกระทำต่อความหมายในเอกสารอันเป็นนามธรรม เป็นต้น

กรณีเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หรือการกระทำหลายกรรม ต้องสรุปให้ครบถ้วน

หากถามถึงความรับผิดทางอาญา ต้องตอบให้ครบถ้วนถึงเรื่องการรับโทษหรือการยกเว้นโทษด้วย

๘) การฝึกฝน

ในฐานะที่ผู้เขียนเคยเป็นทั้งนักเรียนที่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ และเป็นครูสอนคณิตศาสตร์มาเป็นเวลานาน ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นในเรื่องการฝึกฝนและการทำการบ้านหรือแบบฝึกหัด เมื่อเรียนกฎหมายก็ได้ใช้หลักเช่นนี้ตลอดมา คิดว่าน่าจะมีประสิทธิภาพต่อผลการเรียนอยู่มากทีเดียว

ผู้สอบน่าจะหาโอกาสฝึกเขียนข้อทดสอบให้เหมือนกับเวลาที่นั่งตอบในห้องสอบจริงๆ อาจช่วยให้ผู้ตอบมีความเคยชินกับการคิดและเขียนข้อสอบยาวๆ หลายสิบหน้าในเวลาอันต่อเนื่องได้เช่นเดียวกับในการสอบเนติบัณฑิต

ข้อทดสอบเหล่านี้มีผู้รวบรวมพิมพ์ขายหรือแต่งข้อสอบขึ้นมาเป็นจำนวนมาก หลายเรื่อง หลากเล่ม รวมทั้งข้อสอบในชั้นเนติบัณฑิตที่ผ่านมาในปีก่อน ๆ สามารถใช้นำมาฝึกฝนตนเองได้เสมอ เป็นการซ้อมมือและความคิดได้ดี

ผู้เขียนคงไม่บังอาจเรียกสาระทั้งหมดนี้ว่า คำแนะนำ ขอให้ถือว่าเป็นเพียงข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ จากผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการสอบและออกข้อสอบมาบ้าง เชื่อว่าข้อสังเกตเหล่านี้อาจช่วยให้ผู้เข้าสอบเขียนตอบข้อสอบได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น ไม่มากก็น้อย

ขอให้โชคดีในการสอบ

Facebook Comments