Home ทริบเทคนิค/บทความ กว่าจะมาเป็นเนติบัณฑิต

กว่าจะมาเป็นเนติบัณฑิต

7827

กว่าจะมาเป็นเนติบัณฑิต 

นายปรีย์ชนก  จิรภิวงศ์

เนติบัณฑิตไทยสมัย  64

 Untitled

                    หลายคนคงได้ยินว่า  หากจบเนติบัณฑิตแล้วก็จะได้ชื่อว่าเป็น “นักกฎหมายที่ใช้กฎหมายเป็น” และมีคุณสมบัติสอบอัยการและผู้พิพากษาได้  ซึ่งมีนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยเข้ามาเรียนที่เนติฯ ปีหนึ่งๆ หลายหมื่นคน  ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น

มีหลายคนบอกกับผมและหลายคนกำลังดูถูกตัวเองว่าเรียนเนติฯ มันยาก  เรามันเด็กบ้านนอก  เด็กต่างจังหวัด  จบมาก็แค่สองกว่าๆ  เรียนกว่าจะผ่าน ป.ตรี มาได้  เกือบแย่ตกแล้วตกอีก  แก้แล้วแก้อีกกว่าจะผ่าน  จะเอาอะไรไปสู้กับคนอื่นเขา  การที่ผมบอกว่าง่ายเพราะผมจบมาแล้ว  พูดได้นิว่ามันง่าย

ผมอยากจะบอกว่าผมก็เคยคิดแบบนี้มาก่อน  และก็จมอยู่กับคำๆ นี้มาเป็นปี  แต่แล้วทำไมไม่ลองถามตัวเองล่ะ  ผู้เขียนประสบความสำเร็จได้อย่างไร  อย่าดูผู้อื่นเฉพาะความสำเร็จ  แต่ให้จงดูที่วิธีการที่จะประสบความสำเร็จด้วย  จงเลือกที่เชื่อในสิ่งที่เราทำที่คิดว่าถูกต้องแล้ว  อย่าลังเลที่จะทำให้ถึงที่สุด  ตัวอย่างมีให้เห็นเยอะแยะ  แล้วเราจะเลือกเดินตามใครล่ะ  คนที่ประสบความสำเร็จหรือที่ประสบความล้มเหลว  หากเราทำจนถึงที่สุดแล้ว  “ได้ก็คือได้  ไม่ได้ก็จะไม่ต้องเสียใจภายหลังเพราะเราทำเต็มที่และสุดความสามารถแล้ว”

สมัยเรียน  ป.ตรี  ปี  1  ผมก็เคยตกอาญา  1  แก้ตั้งสามครั้งกว่าจะผ่าน  โชคดีที่อาจารย์ให้โอกาสแก้ตัว  หลังจากนั้นผมก็ตั้งใจเรียนและก็ไม่มีตกอีกเลย  จบมาเกรดเฉลี่ยก็แค่  2.6  (สองจุดหก)  ฟังไม่ผิดแน่นอน  แต่พอมาเรียน  ป.โท  ได้เกรดเฉลี่ย  3.52  (สามจุดห้าสอง)  ทุกปัญหามีทางแก้  ผมก็แก้ปัญหาด้วยความขยัน  ผมยอมรับว่าผมเองไม่ใช่คนเก่งอะไร  เริ่มต้นมาจากศูนย์เหมือนกันทุกคน  เริ่มต้นเรียนเนติก็เริ่มต้นจากศูนย์เหมือนกันทุกคน  ไม่ว่าจะจบจากมหาวิทยาลัยใด  แต่ต้องอาศัยความขยันเข้าสู้และชดเชยสิ่งที่เราขาดหายไปด้วยความอดทน  ว่าต้องมีสักวันที่ต้องเป็นวันของเรา  ดังนั้น

“โอกาสย่อมเป็นของผู้ที่เห็นคุณค่าและไขว้ขว้ามันไว้”

หลายคนคิดว่าการเรียนเนติฯ มันยาก  แต่ผมอยากจะให้เปลี่ยนความคิดใหม่เพราะหากเราคิดว่าการเรียนนั้นยากก็จะยากไปตลอด  และสุดท้ายแล้วหากเราสอบไม่ผ่าน  เราก็จะท้อ  ไม่เรียนแล้ว  เป็นไปไม่ได้ก็เพราะมันยาก  แสดงว่าเราก็แพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงแข่ง  หากกำลังใจจากตัวเองหรือคนรอบข้างยังดีอยู่  ก็คงจะเรียนต่อ  แต่ถ้าไม่แล้ว  ก็คงเลิกเรียน  นั้นไม่ได้หมายความว่าเราเรียนไม่ได้  แต่เราเลือกที่จะไม่เรียนและไม่สู้ต่อเท่านั้น  ผมจึงเสียดายโอกาสแทน

ผมยังจำได้ว่านับแต่วันแรกที่ตัดสินใจเรียนเนติ  ผมได้ยินและได้ฟังว่าการเรียนเนติไม่ยากแต่การสอบเนติให้ผ่านนั้นยากกว่า  แต่ผมเชื่อในศักยภาพของตนเองว่าตนเองมีศักยภาพเพียงพอ  มีแรงมีกำลังสมองที่จะผ่านไปให้ได้  แค่  50  คะแนน  ก็ผ่านแล้ว  (ถ้าไม่คิดหวังเกียรตินิยม)  ไม่เกินความสามารถของเราหรอก  (แต่ห้ามดำรงตนอยู่บนความประมาทเด็ดขาด  ซึ่งเหตุนี้เองจะนำมาซึ่งความเสียใจ)      

ถ้าไม่รู้จะเริ่มอ่านจากตรงไหน  ให้ลองศึกษาขอบเขตในการออกข้อสอบเนติในแต่ละข้อ  ต่อมาลองดูสถิติข้อสอบเก่าว่ามาตราใดสำคัญและออกข้อสอบบ่อย  อ่านคำบรรยาย  และฝึกทำข้อสอบเก่า

สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนประสบความสำเร็จและมาได้ไกลกว่าที่คิดก็ด้วย “ความขยัน  อดทน  มีวินัยและรักษาความสม่ำเสมอ”  กล่าวคือ

“ขยัน”  หมายถึง  การทํางานอย่างแข็งขันไม่ปล่อยปละละเลย   ทําหรือประพฤติเป็นปรกติ ไม่เกียจคร้าน  ผู้เขียนคิดอย่างเดียวว่า  “ถ้าขยันก็ได้เรา  ถ้าขี้เกียจก็ได้เรา  แล้วเราจะเลือกอะไร”  เป็นธรรมดาที่มนุษย์เราต้องเลือกสิ่งดีๆ  ให้กับตัวเองแต่ทำไมเราจึงเลือกที่จะขี้เกียจล่ะ  ทั้งๆที่รู้ว่าผลของความขี้เกียจ  คือความล้มเหลว

“อดทน”  หมายถึง  ยอมรับสภาพความยากลำบาก  อดทนที่จะรอคอยความสำเร็จได้  หากเปรียบการอ่านหนังสือเสมือนอิฐก้อนหนึ่ง  แน่นอนว่าบ้านไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว  แต่บ้านหลังนี้จะใหญ่หรือเล็ก  และสวยงามขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้สร้างเอง  เมื่อเราเริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่  แสดงว่าเราเริ่มก้าวไปสู่ความสำเร็จเข้าไปทุกที

“มีวินัย”  หมายถึง  เมื่อเราวางแผนว่าจะอ่านหนังสือก็ต้องปฎิบัติตามนั้น  สิ่งที่ทำให้เรามั่นใจในการสอบ  ก็คือ  การอ่านหนังสือ  ท่องตัวบทและหมั่นทำข้อสอบเก่า  ดังที่ว่า  “รู้เขา  รู้เรา  สอบกี่ครั้งก็ผ่านทุกครั้ง”  ยิ่งถ้าเรารู้ว่าขาดตรงไหน  ก็เติมให้เต็มตรงนั้น  พยายามทำให้ครบทั้งสามอย่างในทุกวัน

“รักษาความสม่ำเสมอ”  หมายถึง  เราจะต้องรักษาความสม่ำเสมอโดยการอ่านหนังสืออาจจะอ่านวันละ 1-2 ชั่วโมงก็ได้ แต่ต้องทำให้ได้ทุกวัน ทำเป็นปรกติ  “พยายามอ่านหนังสือ  ให้เหมือนกับกินข้าว”  ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกวัน
หลังจากที่ผมได้ผ่านการฝึกฝนดังกล่าวข้างต้นก็จะพบว่า

จากประสบการณ์ของผม  สิ่งที่ทำให้นักศึกษาเนติฯ  สอบไม่ผ่าน  (เฉพาะผู้ที่มาสอบ)  คือ

1.เขียนไม่ทัน  สาเหตุที่เขียนไม่ทันเพราะเราเขียนช้า  คิดไม่ทัน  เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน

วิธีแก้  ต้องฝึกเขียนบ่อยๆ ครับและลองจับเวลาว่าข้อหนึ่งเราใช้เวลาเท่าไร  หลังจากนั้นเราก็ค่อยๆ เพิ่มที่ละข้อจนถึง  10  ข้อ  แล้วลองดูว่าเราใช้เวลาไปเท่าไร  แต่อย่าลืมว่าต้องเหลือเวลาไว้ทวนอีกรอบหนึ่ง
ปกติเจ้าหน้าที่จะเปิดให้เราเข้าห้องสอบก่อน  5-10  นาที  ดังนั้น  เมื่อเราเปิดข้อสอบอ่านแล้วให้เขียนธงคำตอบสั้นๆ ว่าข้อนี้ตอบว่าอย่างไรมาตราที่เท่าไร่  ไว้ข้างๆ โจทย์  เพราะสมองเรายังแจ่มใส  จึงสามารถคิด  ตีโจทย์ได้  ผู้เขียนไม่แนะนำให้ทำที่ละข้อเพราะข้อหลังๆ เราจะเริ่มมึน

การวางแผนของผู้เขียน

เวลาทั้งหมด  4  ชั่วโมง  = 240  นาที
อ่านโจทย์และเขียนธงสั้นๆ  10  ข้อ  30  นาที
ใช้เวลาในการเขียนข้อสอบ  200  นาที
ทวนอีกหนึ่งครั้ง  10  นาที

2.ไม่เขียนบทนิยามศัพท์  เพราะเราละเลยว่าไม่สำคัญ  แต่อย่าลืมว่าบทนิยามศัพท์มักจะมีคะแนน  1-2  คะแนน

วิธีแก้  ต้องจำเฉพาะบทนิยามศัพท์ที่สำคัญ  จำเข้าไปไม่เสียหาย

3.ไม่มีถ้อยคำที่ศาลฎีกาใช้  เพราะถ้อยคำที่ศาลฎีกาใช้เป็นประโยคที่สั้น  กระชับ  ได้ใจความ

วิธีแก้  ต้องจำและฝึกเขียนบ่อย ๆ  เพราะฎีกาแต่ละเรื่อง  แต่ละท่านที่ตัดสิน  จะไม่เหมือนกันแต่หลักกฎหมายเหมือนกัน  ดังนั้น  จึงต้องฝึกเขียนบ่อยๆ

4.เขียนไม่ครบประเด็น  เพราะบางประเด็นเรามองข้าม  คิดไม่ถึงว่าไม่สำคัญ  ไม่จำเป็น

วิธีแก้ ต้องฝึกทำโจทย์บ่อยๆและให้เราลองนึกว่าหากเราเป็นผู้ออกข้อสอบเราต้องการให้ผู้สอบตอบอะไรดังสุภาษิตที่ว่า  “รู้เขารู้เรา  รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”

5.เขียนเฉพาะคำตอบโดยไม่แสดงขั้นตอนหรือวิธีการว่าได้คำตอบมาได้อย่างไร

วิธีแก้  การเขียนตอบข้อสอบเนติหรือไม่ว่าสนามไหนต้องเขียนเหมือนการแทนค่าสมการคณิตศาสตร์  กล่าวคือ  ต้องแสดงวิธีการหาคำตอบมาตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงบรรทัดสุดท้าย  ดังนั้น  การเขียนกฎหมายก็เช่นเดียวกัน  ให้เขียนตามประเด็นแรกจนถึงประเด็นสุดท้าย  ให้เรามองว่าการกระทำใดที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดให้เราเขียนไว้  นั้นแหละคือคะแนน

เทคนิคที่ผู้เขียนใช้ในการสอบเนติฯ ไม่ให้ได้ศูนย์  (อย่างน้อยที่สุดข้อนั้นต้องมีคะแนน)  คือ

1.เขียนหลักกฎหมายเหมือนตอนเรียนปริญญาตรี   หลายคนเข้าใจว่าการวางหลักกฎหมายในระดับเนติฯ ไม่สำคัญเพราะสามารถวินิจฉัยไปพร้อมกับคำตอบได้ทันที  แต่อย่าลืมว่าหากเราวินิจฉัยผิด  อาจารย์ผู้ตรวจไม่รู้ว่าจะให้คะแนนตรงไหน  เพราะฉะนั้น  หากเราเขียนหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ( มาตราหลักที่ใช้วินิจฉัย  1  มาตรา  ส่วนมาตรารองค่อยเขียนตอนวินิจฉัยปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายก็ได้) ไว้ก่อนพร้อมกับอธิบายสั้นๆ ว่าหลักกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องอะไรกับที่โจทย์ถาม  เช่นนี้อย่างน้อยที่สุด  เราจะมี  1  คะแนน  10  ข้อ  ก็  10  คะแนนแล้ว  อีก  40  คะแนนที่เหลือก็ให้พิจารณาจากเทคนิคต่อไป

2.เขียนถ้อยคำที่ศาลฎีกาใช้  หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วเราจะเขียนได้อย่างไรถ้อยคำพวกนี้  ไม่ยากครับ !  ง่ายที่สุดเราลองสังเกตจากธงคำตอบของเนติฯ ที่มีการอธิบายโดยใช้ถ้อยคำที่ศาลฎีกาใช้หรือให้สังเกตจากคำพิพากษาฎีกาแล้วเราลองสมมติว่าหากไม่มีถ้อยคำเหล่านี้ประโยคที่เขียนจะสมบูรณ์หรือไม่  เช่นนี้อย่างน้อยที่สุด  เราจะมีอีกข้อละ  1  คะแนน  10  ข้อ  ก็อีก  10  คะแนนแล้ว

3.ต้องมีคำสำคัญ  (Keyword) ของเรื่องนั้น ๆ  เพราะว่าถ้อยคำบางคำผู้ออกข้อสอบต้องการให้เราเขียน  อีกทั้งเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนั้นๆ อาจมีถึง  2-3  คะแนน

4.ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายตามที่โจทย์ให้มา  ข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้มาจะเป็นองค์ประกอบของแต่ละมาตราว่าควรจะตอบมาตราใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแพ่งพาณิชย์  กฎหมายอาญา  หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความเช่นนี้อย่างน้อยที่สุด  เราจะมีอีกข้อละ  1  คะแนน  10  ข้อ  ก็อีก  10  คะแนนแล้ว

5.สรุป  หลายอาจมองข้ามว่าต้องเขียนสรุปด้วยเหรอในเมื่อวินิจฉัยไปแล้ว  ผู้เขียนอยากให้มองการสรุปคือการตอบพร้อมเหตุผลแบบสั้น ๆ  เพราะหลายคนวินิจฉัยไม่รู้ว่าจะตอบแบบใด  คือตอบแบบกำกวม  ก้ำกึ่ง  ทำให้กรรมการไม่สามารถเข้าใจได้ว่าอันใดคือคำตอบ  การที่เราเขียนสรุปทำให้อาจารย์เข้าใจได้ว่าเราตอบแบบนี้อันจะนำไปสู่การให้คะแนนอย่างน้อย           1  คะแนน
            สรุปการเขียนให้ได้คะแนนนั้นไม่ยากเพียงแต่ถ้าปฎิบัติตามหลักต่อไปนี้
            1.วางหลักกฎหมาย
            2.ถ้อยคำที่ศาลฎีกาใช้
            3.ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมาย
            4.คำสำคัญ (Keyword)
            5.สรุป
            เพราะผู้เขียนยึดหลักดังกล่าวเป็นแนวทาง      ในการปฎิบัติกระทั่งสอบผ่านและประสบความสำเร็จถึงทุกวันนี้
 

คำแนะนำจากผม

1.หากอ่านหนังสือไม่ทันจริงๆ  ให้ท่องตัวบทให้มากๆ

2.ก่อนสอบ 1 คืน  ให้ทำใจให้สบายและพักผ่อนให้มากๆ

3.กินอาหารบำรุงสมอง  จำพวกวิตามิน  B12  เช่น  ไมโล  โอวัลติน  ฯลฯ  เพื่อให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น

4.ก่อนทำข้อสอบให้พยายามรวบรวมสมาธิ  ทำจิตใจให้สงบ  ทิ้งความกังวลและความตื่นเต้นไว้ข้างหลัง  บอกกับตัวเองว่าเราต้องทำข้อสอบให้ได้  หากไม่มีหวังหรือเชื่อว่าตัวเองทำไม่ได้คงไม่มานั่งสอบให้เสียเวลา  เรามีดีพอที่จะผ่าน   50  คะแนนก็ผ่านแล้ว

5.หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคะแนน  ให้ไปยื่นคำร้องขอดูสมุดคำตอบที่เนติฯ (ค่าคำร้องขอดูสมุดคำตอบกลุ่มวิชาละ  20  บาท )  ทางเนติฯจะถ่ายเอกสารสมุดคำตอบมาให้ดู   หากเรามีข้อสงสัยให้ถามอาจารย์ประจำแต่ละโต๊ะได้
ผมเคยไปดูตอนสอบ วิ.อาญา  ได้  49 คะแนน  ท่านอาจารย์ก็อธิบายให้ผมเข้าใจดีว่าหากเราเขียนดี  ใครตรวจยังไงก็ต้องได้คะแนน  และถ้าหากเป็นดุลยพินิจของท่านอาจารย์แล้วก็จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เว้นแต่ข้อสอบข้อนั้นไม่ได้ตรวจหรือรวมคะแนนผิด  ซึ่งเป็นการผิดพลาดทางเทคนิคทั้งสิ้น (เป็นความผิดของทางเนติ ฯ เองถึงจะได้คะแนนเพิ่ม)
การเขียนตอบข้อสอบไม่ว่าสนามไหน  ไม่ใช่ตอบให้ได้คะแนนเท่านั้น  แต่จะเขียนอย่างไรให้ได้ใจผู้ตรวจด้วย  ถึงจะได้คะแนนดี

6.ถ้ามีภาษาอังกฤษกำกับจะยิ่งแสดงภูมิความรู้ของผู้เขียนเอง เช่น  สภาวะพักการชำระหนี้  (Automatic  Stay) เป็นต้น

ผมพยายามทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายเพราะทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน  ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามหากเราจับหลักได้  ทุกอย่างมันก็จะง่าย  ทุกสนามก็มีมาตรฐานของแต่ละสนามอยู่แล้ว  แล้วเราจะทำอย่างไร  ที่จะพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จตรงนั้นได้  จงถามใจตัวเองเถอะ!

แม่ผู้เขียนมักบอกเสมอว่า เดินหน้าแล้ว  ห้ามถอยหลัง  ทำอะไรแล้วต้องทำให้ถึงที่สุด.เมื่อครั้งขณะที่ผู้เขียนเรียนเนติอยู่  แม่บอกว่า ถ้าลูกสอบผ่านก็เหมือนกับต่อลมหายใจให้พ่อและแม่และ ถ้าลูกสอบไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ  หรืออะไรก็ได้ที่เป็นอาชีพสุจริต  ก็ยิ่งทำให้พ่อกับแม่มีลมหายใจเพื่ออยู่รอดูความสำเร็จของลูก แต่ความหมายลึกๆแล้ว  หาได้หมายความเพียงนี้ไม่  หากแต่หมายถึงพ่อกับแม่ได้เห็นความสำเร็จของลูกต่างหาก  ลูกคือความภาคภูมิใจของพ่อแม่  เสมอ  สามารถเลี้ยงตนเองได้  ช่วยเหลือตัวเองได้  หากวันใดวันหนึ่งพ่อกับแม่ตายไป  ก็จะได้ตายตาหลับต่างหาก

ถ้าเราเป็นลูกและพ่อกับแม่พูดทำนองนี้  เราจะทำอย่างไร. บางคนล้มเลิกกลางทางมากกว่าแล้วเดินถอยกลับ  แต่หารู้ไม่ว่าเราเดินมาได้ไกลแค่ไหนแล้ว  รสชาติของความสำเร็จต้องสัมผัสเอง  ถึงจะรู้ว่าหอมหวานแค่ไหน วันนี้อาจจะยังไม่เข้าใจ  ไม่เป็นไร  วันข้างหน้า  ที่เราเป็นพ่อหรือแม่คนเมื่อไหร่  วันนั้นเราจะเข้าใจ.ถึงแม้ว่าผมจะยังไม่เป็นพ่อคน  แต่ผมก็สังเกตจากตัวอย่างที่มีให้เห็นมากมาย  และคำสั่งสอนที่ผมได้รับมาตั้งแต่เด็กๆ

ผมก็ไม่รู้อนาคตหรอกครับ.แต่ผมก็พอทำนายได้ว่าคนนั้นๆ อนาคตจะเป็นอย่างไรโดยดูจากปัจจุบันในสิ่งที่คนนั้นทำ. ลองสังเกตดีๆ ครับ ว่าผมคนเดียวสามารถช่วยเหลือโดยให้ความรู้คนอื่นได้อีกมากมาย.แล้วยิ่งถ้าเป็นอาจารย์ด้วยแล้วสามารถสอนผู้อื่นให้นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาประเทศชาติได้อีกต่อไป  แล้วท่านล่ะ !

ก่อนจบ  ผมขอฝากว่าไม่ว่าท่านจะเรียนเนติกี่ปีนั้นไม่สำคัญ  สำคัญที่ท่านเหมาะสมและสมควรถูกเรียกว่า เนติบัณฑิตไทย หรือไม่  ต่างหาก และขอฝากรูปนี้และคำบรรยายใต้ภาพให้ท่านทั้งหลายได้คิดว่า  ถ้าหากบุคคลในรูปเป็นท่านและครอบครัวของท่านล่ะ  จะรู้สึกอย่างไร !

 

เงินทุกบาททุกสตางค์ที่พ่อแม่ส่งมาให้
วันนี้ลูกขอคืนเป็นใบปริญญา

ขอบคุณครับ
นายปรีย์ชนก  จิรภิวงศ์
เนติบัณฑิตไทยสมัย  64

22 พฤษภาคม 2556

หมายเหตุ :    คุณปรีย์ชนก จิรภิวงศ์ หรือ น้องนก เขียนให้ไทยลอว์คอนซัลต์ (Thai Law Consult)
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 ภายหลังจากรับเนติบัณฑิต รุ่น 64 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555

ปัจจุบันนี้ คุณปรีย์ชนกฯ ได้เขียนหนังสือสำหรับ “เตรียมสอบตั๋วทนาย” และ “เตรียมสอบเนติบัณฑิต” ไว้หลายเล่มดังนี้

ชุดหนังสือดีรู้ได้เมื่ออ่าน

ลำดับที่

รายการ

1.

กลยุทธ์พิชิตข้อสอบเนติฯ เขียนอย่างไรให้ได้คะแนนดี (ภาคสอง)

2.

ตารางคุณธรรมกฎหมายอาญาเรียงมาตรา+เจตนารมณ์ของกฎหมาย
(คำพิพากษาฎีกา)

3.

เทคนิคพิชิตตั๋วทนาย ฯ  (พิมพ์ครั้งที่ 2)

4.

เทคนิคพิชิตข้อสอบเนติ ฯ ป.วิ.อ. เล่ม 1

5.

เทคนิคพิชิตข้อสอบเนติ ฯ ป.วิ.อ. เล่ม 2

6.

กลยุทธ์พิชิตข้อสอบเนติฯ เขียนอย่างไรให้ได้คะแนนดี (ภาคหนึ่ง)

7.

วิเคราะห์ข้อสอบเนติฯ รายข้อ    ป.อาญา สมัยที่ 56-64 (ข้อ 1-5) เล่ม 1
พร้อมวิธีการเขียนอย่างไรให้ได้คะแนนดี

8.

วิเคราะห์ข้อสอบเนติฯ รายข้อ    ป.อาญา สมัยที่ 56-64 (ข้อ 6-10) เล่ม 2
พร้อมวิธีการเขียนอย่างไรให้ได้คะแนนดี

9.

เทคนิคพิชิตข้อสอบพระธรรมนูญฯ และประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละมาตรา  (เฉพาะมาตราสำคัญๆ)

10.

เทคนิคพิชิตข้อสอบ  ป.วิ แพ่ง (เล่ม 1)  และประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละมาตรา (เฉพาะมาตราสำคัญ ๆ)

11.

เทคนิคพิชิตข้อสอบ  ป.วิ แพ่ง (เล่ม 2)  และประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละมาตรา (เฉพาะมาตราสำคัญ ๆ) (ยังไม่ได้วางแผง)

12.

สถิติข้อสอบอัยการ พร้อมคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง
 ตั้งแต่ พ.ศ.2530-2554

13

วิเคราะห์ข้อสอบเนติฯ รายข้อ   ป.วิ.แพ่ง  สมัยที่ 56-64 (ข้อ 1-5) เล่ม 1
พร้อมวิธีการเขียนอย่างไรให้ได้คะแนนดี

หมายเหตุ :    น้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64 (Thai Law Consult) เล่าให้พี่ตุ๊กตาฟังว่า เมื่อวานนี้ น้าสิดได้ไปซื้อหนังสือที่ร้านเจ้เฮี้ยง หรือ ร้านปณรัช ข้างๆ เนติฯ ตลิ่งชัน เห็นหนังสือของคุณปรีย์ชนกฯ วางขายอยู่ครบครัน จึงอุดหนุน 3 เล่ม คือ ลำดับที่ 3 “เทคนิคพิชิตตั๋วทนายฯ (พิมพ์ครั้งที่ 2)” , ลำดับที่ 7 “วิเคราะห์ข้อสอบเนติฯ รายข้อ ป.อาญา สมัยที่ 56-64 (ข้อ 1-5) เล่ม 1…” และ ลำดับที่ 8 “วิเคราะห์ข้อสอบเนติฯ รายข้อ ป.อาญา สมัยที่ 56-64 (ข้อ 6-10) เล่ม 2…” และส่งให้หลานที่กำลังจะเรียนคณะนิติศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเตรียมตัวสอบตั๋วทนายและเรียนเนติฯ ล่วงหน้าค่ะ

 

บทความจากรุ่นพี่เนติบัณฑิต

เครดิต http://www.thailawconsult.com/preeshanok1.html

Facebook Comments