Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ เหตุผลที่ต้องตั้งผู้จัดการมรดก

เหตุผลที่ต้องตั้งผู้จัดการมรดก

3212

image
ข้อเท็จจริงและประเด็นคำถาม:
ข้อเท็จจริง บิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายและมีบุตรด้วยกันทั้งหมดเก้าคน บิดามีที่ดินผืนหนึ่งซึ่งบุตรทั้งหมดอาศัยอยู่ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีบัญชีที่เปิดไว้แต่บุตรไม่ทราบแน่ชัดว่าที่ใดบ้าง เมื่อต้นปีที่ผ่านมาบิดาเสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้

ประเด็นคำถาม

1.บุตรไม่มีปัญหาในการแบ่งที่ดินกันเนื่องจากแต่ละคนมีบ้านอยู่บนที่ดินเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน อยากทราบว่ากรณีนี้จะต้องแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นจะต้องกระทำการใดเป็นพิเศษหรือไม่เพื่อแบ่งที่ดินกัน แต่ละคนสามารถติดต่อกรมที่ดินเพื่อทำรางวัดและแบ่งโฉนดหรือไม่

2.เพื่อการตรวจสอบและดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีของบิดา จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่

ความเห็นและข้อเสนอแนะ:
ข้อกฎหมาย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 บัญญัติให้ ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย…..จะร้องขอต่อศาลตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ในกรณีดังต่อไปนี้ ……(2)….มีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือแบ่งปันมรดก..

มาตรา 1719 บัญญัติว่า ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก

มาตรา 1716 บัญญัติว่า หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว

การดำเนินการให้คำปรึกษา

เนื่องด้วยคำถามสามารถตอบเป็นคำตอบเดียวกันได้ จะขออนุญาตตอบเป็นประเด็นเดียว

สำหรับประเด็นตามคำถาม แม้จากข้อเท็จจริงบุตรที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกจะไม่มีปัญหาในการแบ่งปันที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกก็ตาม แต่เนื่องจากการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน รวมถึงการจัดสรรพื้นที่ ในทางปฏิบัติต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกเข้ามาจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกเพราะพนักงานที่ดินจะไม่ยินยอมจัดให้มีการโอนที่ดินโดยไม่มีการตั้งผู้จัดการมรดก ดังนั้น หากมีการตั้งผู้จัดการมรดกแล้วผู้จัดการมรดกมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของเจ้ามรดกได้ทุกอย่างอันรวมถึงบัญชีธนาคารและทรัพย์สินอื่นๆทั้งที่ทราบว่ามีอยู่และไม่ทราบว่ามีอยู่

เครดิต ศูนย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์.

Facebook Comments