Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ แก้พรบ.คอมฯ ไม่รวมการหมิ่นประมาทออนไลน์

แก้พรบ.คอมฯ ไม่รวมการหมิ่นประมาทออนไลน์

3395
                        พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เพราะพบปัญหาจากการบังคับใช้หลายประเด็น เช่น การนำมาใช้กับความผิดด้านความมั่นคงมากกว่าความผิดเกี่ยวกับการเจาะระบบ การกำหนดความรับผิดของผู้ให้บริการไว้กว้างเกินไปทำให้เกิดบรรยากาศการ เซ็นเซอร์ตัวเอง การตีความมาตรา 14(1) เพื่อใช้กับการหมิ่นประมาทออนไลน์ซึ่งผิดเจตนารมณ์

                       ประสบการณ์ ที่ผ่านมาพบว่า การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบน โลกออนไลน์อย่างมาก และกฎหมายไม่ได้ถูกนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือ เพื่อแก้ปัญหาการกระทำความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์ หรือการฉ้อโกงหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ จึงมุ่งแก้ไขหลายประเด็น ดังนี้
แก้มาตรา 14(1) มุ่งเอาผิดการฉ้อโกง ไม่รวมการหมิ่นประมาทออนไลน์
พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) มีวัตถุประสงค์มุ่งเอาผิดการทำเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค หรือ ที่เรียกว่า Phishing และการใช้ไฟล์ปลอมเพื่อแฝงตัวเข้ามาทำลายระบบคอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากกฎหมายเดิมเขียนเอาไว้ว่า “ผู้ใด… นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ทำให้มาตรานี้ถูกตีความไปใช้ลงโทษการโพสต์ข้อความหมิ่นประมาท หรือการใส่ความกันบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการบังคับใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ และกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างมาก
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้จึงแก้ไข มาตรา 14(1) เป็น
           “มาตรา 14 ผู้ใดโดยทุจริตนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จทำ ให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ร่าง ฉบับแก้ไขกำหนดชัดขึ้นว่าความผิดตามมาตรานี้ต้องเป็นการ “ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคล” ทำให้การโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์ไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย นี้อีกต่อไป หากร่างกฎหมายนี้ถูกประกาศใช้ คดีที่ฟ้องร้องกันอยู่ในชั้นศาลต้องพิพากษายกฟ้อง และหากมีคดีที่จำเลยกำลังรับโทษอยู่จำเลยจะพ้นโทษทันที
นอก จากนี้ มาตรา 14 ตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังกำหนดว่า หากเป็นการนำเสนอข้อมูลเท็จ “ต่อประชาชน” โทษก็จะสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังกำหนดให้ความผิดฐานนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้ด้วย
Facebook Comments