Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ กรณี ” กฎหมายทวงหนี้ฉบับใหม่ กับ สิ่งที่ท่านควรรู้ ...

กรณี ” กฎหมายทวงหนี้ฉบับใหม่ กับ สิ่งที่ท่านควรรู้ ” ?

13175

Click to access 1.PDF

ภาพ 3

ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศซึ่งกฎหมายทวงหนี้ฉบับใหม่มีหลักเกณฑ์ที่ประชาชนทั่วไปควรรู้(รวมถึงทนายความด้วยละ) ดังนี้

 

1.เจ้าหนี้ผู้ทวงถามหนี้ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายนี้คือใคร

ตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติทวงหนี้ มาตรา 3 ได้วางหลักไว้ว่า

“ผู้ทวงถามหนี้ หมายความว่า เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติหรือปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย”

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้มิได้ควบคุมการทวงถามหนี้ของเจ้าหนี้ทุกประเภท แต่ควบคุมเฉพาะการทวงถามหนี้ของเจ้าหนี้บางประเภทเท่านั้น หากเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้ประเภทอื่นๆที่ไม่ปรากฏว่าเข้าข่ายตามมาตรา 3 ย่อมไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายควบคุมการทวงหนี้ฉบับใหม่นี้แต่อย่างใด เช่นเป็นเจ้าหนี้ละเมิด หรือเจ้าหนี้ที่ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องเอาแก่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือหนี้ที่เกิดจากการผิดสัญญาทั่วไปโดยที่เจ้าหนี้นั้นมิได้เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ย่อมไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายนี้ แต่อย่างไรก็ดีกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับ เจ้าหนี้ที่จะต้องถูกควบคุมการทวงถามหนี้ไว้ค่อนข้างที่จะกว้างขวาง โดยอาจแบ่งเป็น

 

1.เจ้าหนี้ที่เป็นผู้ให้สินเชื่อ เช่น ธนาคารที่ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ทั้งนี้ตามกฎหมายฉบับนี้การให้สินเชื่อนั้นมิได้หมายถึงแต่เพียงการให้กู้ยืมเงินแต่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้บริการบัตรเครดิต การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลิซซิ่ง และสินเชื่ออื่นๆที่มีลักษณะทำนองเดียวกันด้วย ทั้งนี้ยังรวมถึงบุคคลที่รับซื้อหรือรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากผู้ให้สินเชื่ออีกทอดหนึ่งด้วย

 

 

2.ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งหลักเกณฑ์ของการเป็นผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 3 ก็คือ “ ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ และหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย” ซึ่งเรียกว่าหลักเกณฑ์ค่อนข้างจะกว้าวขวางมาก ซึ่งอย่างไรจะถือว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจนั้น สามารถหาศึกษาเทียบเคียงได้จากแนวคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ในคดีผู้บริโภค ซึ่งน่าจะนำมาปรับใช้กับกฎหมายฉบับนี้ได้ทั้งหมด ทั้งนี้ขอให้สังเกตว่า ถึงแม้ลูกหนี้จะมิใช่ผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ลูกหนี้สั่งซื้อสินค้าจากเจ้าหนี้ไปเพื่อนำไปขายต่อ หรือนำไปใช้ประกอบธุรกิจของลูกหนี้ ซึ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับผู้บริโภคไม่ถือว่าลูกหนี้เป็นผู้บริโภคตามกฎหมายและคดีพิพาทระหว่างเจ้าและลูกหนี้จะมิใช่คดีผู้บริโภคก็ตาม แต่ผู้ประกอบธุรกิจก็ยังจะต้องอยู่ในควบคุมของกฎหมายนี้ เพราตามนิยามศัพท์ของกฎหมายทวงหนี้ให้พิจารณาจากตัวเจ้าหนี้เท่านั้น

 

3.เจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ซึ่งตรงส่วนบัญญัติไว้เพื่อให้ครอบคลุมกว่าข้อ 2. เพราะหนี้ที่เกิดจากการกระทำทางการค้าหรือปกติธุระของเจ้าหนี้อาจไม่ใช่หนี้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจก็ได้

 

 

4.ผู้จัดให้มีการเล่นพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน ซึ่งตรงส่วนนี้น่าจะบัญญัติไว้เผื่อในอนาคตมีกฎหมายเกี่ยวกับการพนันใช้บังคับ

 

ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปคือ หนี้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจทุกประเภท เป็นหนี้ที่อยู่ภายใต้ความควบคุมตามกฏหมายนี้ หนี้ที่ไม่อยู่ในความควบคุมตามกฏหมายนี้ จะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นตามกฏหมาย หรือโดยนิติเหตุ เช่นหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร หนี้ละเมิด หรือหนี้ที่เกิดจากการทำนิติกรรมสัญญา ที่เจ้าหนี้มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจ เช่นให้เพื่อนกู้ยืมเงินไปโดยที่ผู้ให้กู้มิได้ให้กู้ยืมเงินเป็นอาชีพ

 

ทั้งนี้หนี้ดังกล่าวตามข้อ 1.-4 แม้จะเป็นหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่ฟ้องร้องคดีเอากับลูกหนี้ เจ้าหนี้ก็ยังอยู่ในความควบคุมของกฎหมายฉบับนี้ เช่นหนี้ที่เกิดจากพนันหรือ หนี้ที่เกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา หนี้ที่เกิดจากการซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย ที่ถึงแม้เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ลูกหนี้ แต่หากเจ้าหนี้ทำการทวงถามหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ยังมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้

 

ซึ่งผู้ที่อยู่ในบังคับของกฎหมายฉบับนี้ นอกจากตัวเจ้าหนี้เองแล้ว ยังหมายถึง ตัวแทนของผู้เจ้าหนี้ในการทวงหนี้ คือ ผู้รับมอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจช่วง ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ดังนั้นตัวแทนเหล่านี้หากดำเนินการทวงถามหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้วจะปัดความรับผิดของตนโดยอ้างว่าตนเองมิใช่เจ้าหนี้มิได้

 

2.บุคคลที่รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้คือใคร

บุคคลที่อยู่ในความคุ้มครองตามกฎหมายหนี้ หมายความเฉพาะลูกหนี้ของเจ้าหนี้ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 3 ดังนั้นไม่ใช่ลูกหนี้ทุกประเภทที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้ หากเจ้าหนี้ของลูกหนี้นั้นมิใช่เจ้าหนี้ประเภทใดประเภทหนึ่งตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 3 แล้ว ลูกหนี้ก็มิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้ ถึงแม้เจ้าหนี้จะทวงหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อลูกหนี้ประเภทนี้ก็ไม่มีความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด เช่น นาย ก. ขับรถยนต์ชนนาย ข. โดยประมาท ทำให้ นาย ก. จึงตกเป็นลูกหนี้ของนาย ข. ในมูลหนี้ละเมิด ในกรณีนี้ หากนาย ข.ทวงหนี้นาย ก.โดยมิชอบด้วยกฎหมายฉบับนี้ นายก. ก็ไม่มีความผิดแต่อย่างใด เพราะนาย ก. มิได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

ทั้งนี้คำว่าลูกหนี้นั้นหมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ด้วย

 

ซึ่งลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมาตรานี้ หมายความถึงลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่หมายความรวมถึงลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ห้างหุ้นส่วนจัด บริษัท สมาคม มูลนิธิ วัด หรือนิติบุคคลอื่นๆตามกฎหมาย (มาตรา 3) ดังนั้นการทวงหนี้ต่อลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฉบับนี้ เจ้าหนี้ก็ไม่มีความผิด

 

3..ลักษณะการทวงถามหนี้ที่ต้องห้ามตามกฎหมาย มีอย่างไรบ้างนั้น อาจสรุปได้ว่า ได้แก่

 

1.ห้ามติดต่อทวงถามหนี้กับบุคลอื่นที่มิใช่ตัวลูกหนี้ (มาตรา 8 วรรคแรก หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 39 ) ทั้งนี้ เพราะแต่เดิมบริษัทฯรับจ้างทวงหนี้ต่างๆมักใช้วิธีการข่มขู่กดดันลูกหนี้ด้วยการติดต่อทวงถามหนี้ไปยังญาติพี่น้องหรือสถานที่ทำงานของลูกหนี้ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงวางหลักเกณฑ์นี้ไว้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้นต่อไปนี้เจ้าหนี้หรือบริษัททวงถามนี้ จะดำเนินการติดต่อทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้มิได้ ยกเว้นแต่ บุคคลอื่นนั้นเป็นบุคคลที่ลูกหนี้ได้ระบุไว้ว่า หากไม่สามารถติดต่อตนเองได้ ให้ติดต่อบุคคลนั้นได้ และให้ติดต่อได้บุคคลอื่นได้ก็แต่เพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ เช่นติดต่อสอบถามว่าลูกหนี้อยู่ที่ไหนในปัจจุบัน กรณีที่ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้เท่านั้น จะติดต่อทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นมิได้

 

2.ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ต่อบุคคลอื่น (มาตรา8 อนุมาตรา 2 และมาตรา 11 อนุมาตรา 3หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 39) ทั้งนี้เป็นเพราะแต่เดิมบริษัทรับทวงถามหนี้หรือเจ้าหนี้บางคน นิยมใช้วิธีประจานลูกหนี้ต่อบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะในที่ทำงาน ด้วยการแสดงข้อมูลว่าลูกหนี้เป็นหนี้ตน เพื่อกดดันให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งหลักนี้มีข้อยกเว้นหากบุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลนั้นได้สอบถามผู้ทวงหนี้ โดยให้ชี้แจงเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและเหมาะสมเท่านั้น

 

3.ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ บนซองจดหมาย ในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดในการติดต่อสอบถามกับบุคคลอื่น (มาตรา 8 อนุมาตรา 3 ) หรือในการติดต่อกับลูกหนี้ (ม.11 อนุมาตรา 5 ) หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 39 ทั้งนี้เนื่องจากแต่เดิมบริษัทรับทวงหนี้หลายแห่งมักจะใช้สัญลักษณ์หรือถ้อยคำต่างๆในซองจดหมาย หัวหนังสือ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเนื้อหาของหนังสือเป็นหนังสือทวงหนี้ เช่นใช้คำว่า “อนุมัติฟ้อง” “ชำระหนี้ด่วน” หรือใช้ชื่อทำนอง “บริษัทเร่งรัดติดตามหนี้สิน” บนหัวหนังสือหรือซองจดหมาย ซึ่งเมื่อผู้อื่นเห็นหนังสือหรือเอกสารก็ทราบได้ทันทีว่าหนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือทวงหนี้ ซึ่งเป็นการการประจานและข่มขู่ลูกหนี้ไปในตัว

 

4 ในการทวงหนี้ห้ามมิให้.ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้อื่น (มาตรา 11 อนุมาตรา 1 หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 41)

 

5.ในการทวงหนี้ ห้ามมิให้ทวงหนี้ใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น (มาตรา 11 อนุมาตรา 2หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 39)

 

6. ห้ามมิให้ทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การแสดงหรือใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ศาลหรือหน่วยงานของรัฐ (มาตรา 12 อนุมาตรา 11 หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 41) ทั้งนี้เป็นเพราะแต่เดิมบริษัทรับทวงถามหนี้บางแห่งมักใช้ถ้อยคำหรือสัญลักษณ์ไปในทำนองที่ทำให้เข้าใจได้ว่าการทวงหนี้ของตน เป็นการกระทำของศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี เช่น ใช้สัญลักษณ์คล้ายกับตราครุฑของหน่วยงานราชการ หรือใช้ถ้อยคำที่ทำให้คิดว่าเป็นการทวงหนี้ของศาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้ลูกหนี้ที่ไม่มีความรู้เกิดความเกรงกลัวเป็นอย่างมาก

 

 

7.การแสดงว่าเป็นการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ สำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย โดยเป็นความเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด(มาตรา 12 อนุมาตรา 2 หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 40 ) ทั้งนี้กฎหมายห้ามเฉพาะกรณีที่ความดังกล่าวเป็นความเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดเท่านั้น เช่น ผู้ที่มิใช่ทนายความ แต่ออกหนังสือโดยใช้หัวหนังสือที่คล้ายสำนักงานทนายความ เช่น ใช้คำว่า “บ้านกฎหมาย” เพื่อให้ลูกหนี้เข้าใจว่าการทวงถามนั้นเป็นไปโดยทนายความหรือสำนักงานทนายความ แต่หากผู้ทวงถามหนี้หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ทวงถามหนี้นั้นเป็นทนายความหรือสำนักงานทนายความที่ถูกต้องแล้ว ย่อมสามารถทวงถามหนีโดยแสดงตัวว่าเป็นทนายความหรือสำนักงานทนายความได้โดยไม่มีความผิดตามมาตรานี้

 

8.การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ถ้าหากความนั้นเป็นความเท็จหรืออาจทำให้เข้าใจผิด (มาตรา12 อนุมาตรา 3หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 40) ทั้งนี้กฎหมายห้ามเฉพาะกรณีที่ความดังกล่าวเป็นความเท็จเท่านั้น หากความดังกล่าวเป็นความจริง เช่น ผู้ทวงหนี้มีประสงค์จะดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือดำเนินการยึดอายัดทรัพย์เงินเดือนของลูกหนี้จริงๆแล้ว ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด ดังนั้นการใช้ถ้อยคำทำนองว่า “หากท่านไม่ชำระหนี้จะดำเนินการฟ้องร้องคดีตามกฎหมายต่อไปและท่านอาจถูกยึดอายัดทรัพย์สินได้” เห็นว่าหากผู้ทวงถามมีความประสงค์จะดำเนินการฟ้องคดีหรือยึดอาทรัพย์สินอย่างแท้จริงแล้วย่อมไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด

 

9.การติดต่อหรือแสดงตนว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้บริษัทบัตรข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต หากความนั้นเป็นเท็จ (มาตรา 12 อนุมาตรา 4หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 40)

 

10.ห้ามมิให้เสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ (มาตรา 14 อนุมาตรา 2 หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 39) ทั้งนี้วิธีนีเป็นที่นิยมของบรรดาเจ้าหนี้มากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือเจ้าหนี้หลายคนนั้นทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ให้แก่ตนได้ และรู้อยู่แล้วว่าเช็คที่ลูกหนี้สั่งจ่ายจะไม่สามารถขึ้นเงินได้ แต่ก็มักบีบบังคับให้ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คให้แก่ตน เพื่อที่ว่าเมื่อเช็คนั้นไม่สามารถขึ้นเงินได้ (เช็คเด้ง) จะได้นำเช็คนั้นไปดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ตนเองได้รับชำระหนี้โดยรวดเร็วกว่าคดีแพ่ง เพราะลูกหนี้จำต้องขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทุกวิธีทาง เพราไม่อยากได้รับโทษจำคุก ซึ่งเมื่อกฎหมายนี้ใช้บังคับแล้วการกระทำเช่นนี้จะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่อาจทำได้อีกต่อไป

 

 

ข้อมูลจากhttps://www.facebook.com/srisungadvocate/posts/458653810956049:0

ผู้ให้ข้อมูล

นายเกรียงศักดิ์   นวลศรี   น.บ   น.บ.ท    วิชาชีพว่าความ     และผู้เขียนบทความในเว็บ  ตั๋วทนาย.com

Facebook Comments