Home ทริบเทคนิค/บทความ การพิจารณาว่า“ดูหมิ่น กับ หมิ่นประมาท”

การพิจารณาว่า“ดูหมิ่น กับ หมิ่นประมาท”

7785

“ดูหมิ่น กับ หมิ่นประมาท”

 


ต้องพิจารณาก่อนว่า ผู้กระทำความผิดกระทำต่อใคร?
1) ถ้ากระทำต่อผู้ถูกดูหมิ่นเอง โดยดูถูกหยาดหยาม ทำให้ผู้ถูกดู
หมิ่นอับอายเป็นที่เกลียดชังของประชาชน เป็นความผิดฐานดู
หมิ่นซึ่งหน้า ตาม ป.อ. ม.393
2) แต่ถ้ากระทำต่อบุคคลที่สาม(คู่สนทนา) โดยเป็นการใส่ความให้
บุคคลที่สาม ดูหมิ่นเกลียดชัง ผู้ถูกหมิ่นประมาท ผู้นั้นมีความผิด
ฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อ. ม.326

 

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 393 บัญญัติว่า

“ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 326 บัญญัติว่า

“ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
ข้แตกต่างที่สำคัญของดูหมิ่นซึ่งหน้า (มาตรา 393) กับหมิ่นประมาท (มาตรา 326) มีดังนี้

ข้อแตกต่างที่ 1

ดูหมิ่นซึ่งหน้าเป็นการดูหมิ่น ผู้ที่ถูกดูหมิ่น ซึ่งเป็นการกระทำต่อหน้า ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีบุคคลที่ 3 อยู่ด้วยหรือไม่ หากซึ่งหน้าแล้ว เป็นความผิดสำเร็จ (ดูมาตราตามไปนะครับ) แต่หมิ่นประมาทนั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่น ต่อบุคคลที่สาม ดังนั้น บุคคลที่สาม ถือเป็นองค์ประกอบของความผิด ถ้าไม่มีบุคคลที่สาม มารับรู้การกระทำอันเป็นการหมิ่นประมาทนั้นก็ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบความผิด ผู้กระทำจะไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท (หมิ่นประมาทต้องมีบุคคลที่ 3 อยู่ด้วยหรือต้องมีบุคคลที่3 มารับรู้การหมิ่นประมาท)

ตัวอย่างที่ 1. ก. ด่า ข. โดยที่ไม่มีบุคคลอื่นอยู่ด้วย อย่างนี้ เป็นความผิดซึ่งหน้า ไม่ผิดหมิ่นประมาท เพราะไม่มีบุคคลที่ 3 ไม่ครบองค์ประกอบความผิด

ตัวอย่างที่ 2. ก. ด่า ข. โดยมีคนอื่นอยู่ด้วย (บุคคลที่ 3) เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว

ตัวอย่างที่ 3. ก. ด่า ข. โดยที่ ข. ไม่อยู่ แต่เป็นการไปใส่ความ ข. ให้ผู้อื่นฟัง ก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเช่นกัน

จากตัวอย่างข้างต้น ขอแนะนำว่า อย่าเพิ่งใส่ใจกับคำว่า ก. ด่า ข. นะเดี๋ยวจะขยาย คำว่า ” ด่า ” ให้ต่อไป
ข้อแตกต่างที่ 2

ดูหมิ่นซึ่งหน้า…….มักจะเป็นคำด่าที่เป็นคำหยาบ ซึ่งเป็นการเหยียดหยามถือว่าอยู่ในข่ายของความผิดมาตรานี้ครับ

หมิ่นประมาท………ส่วนมากคำหยาบคาย ไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท เนื่องจากไม่เป็นการลดคุณค่าทางสังคม ของผู้ถูกหมิ่นประมาทลงมา เช่น คำหยาบทั่วไป ” ****** … ***สัตว์ ” เป็นต้น ไม่ว่าจะหยาบอย่างไร ก็เป็นเพียงคำหยาบคายเท่านั้น (เพราะคนทั่วไปที่ได้ฟังคงจะไม่คิดไปว่าคนที่ถูกหมิ่นประมาทนั้นเป็น ****** … ***สัตว์ จริงๆ ) แต่คำสุภาพบางคำ อาจเป็นหมิ่นประมาท เช่น ก. บอกกับ ข. ว่า เจ้าพนักงานคนนี้ รับเงินใต้โต๊ะจึงจะทำงานให้ จะเห็นว่า ไม่มีคำหยาบคายเลย แต่เป็นการลดคุณค่าทางสังคมของผู้นั้นลงมา ให้ถูกมองว่าเป็นเจ้าพนักงานทุจริต เช่นนี้ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทสำเร็จแล้ว

ดังนั้นหมิ่นประมาท ส่วนใหญ่เป็นการด่าว่าหรือทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ที่ถูกหมิ่นประมาทเสียหายในเรื่องดังต่อไปนี้ เช่น การทำผิดศีลธรรม (เช่นการประพฤติเสื่อมเสียทางด้าน ชู้สาว) การประพฤติผิดอาญา (เช่น ลักทรัพย์ผู้อื่น) การประพฤติเสื่อมเสียทางด้านหน้าที่การงาน (เช่นทุจริตในหน้าที่การงาน) และ การเงิน(เช่น เป็นคนมีหนี้สินมาก ยืมเงินแล้วไม่ใช้ ) เป็นต้น

สรุป

ดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นการพูดด้วยความเกลียดชังตัวผู้โดนด่า เป็นการด่ากันจะ ๆ เลย ต่อจะด่าข้างหน้าหรือข้างหลังก็ได้แต่ขอให้จะ ๆ เช่น ***ควาย ***ชิงหมาเกิด ****** ***สัตว์ ***เ-ดแม่ เป็นต้น

ส่วนหมิ่นประมาท เป็นการกล่าวกับอีกคนหนึ่งเพื่อทำลายชื่อเสียงของผู้โดนกล่าวถึง ส่วนพูดอย่างไรจึงจะเป็นการหมิ่นประมาทนั้น หลักคือเรื่องที่โดนกล่าวถึงนั้นผู้พูดต้องยืนยันข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ จะจริงหรือเท็จไม่สำคัญ แต่เรื่องนั้นต้องเป็นไปได้ แล้วก็ทำให้ผู้ถูกกล่าวถึงเสียชื่อเสียง โดนดูถูก หรือโดนเกลียดชัง เช่น ด่าว่าได้ควาย อย่างนี้ไม่เป็นหมิ่นประมาทเพราะว่าใครก็รู้ว่าคนไม่ใช่ควาย ******ก็ไม่ใช่ แต่ถ้าบอกว่า***คนนี้มันขี้โกงชอบโขมยของชาวบ้านด้วยเห็นมากับตา หรือคนอย่างมันเป็นชู้กับชาวบ้านไม่เลือก อย่างนี้ก็เป็นการหมิ่นประมาท เพราะคนอื่นที่ได้ยินได้ฟังอาจจะคิดไปได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงแล้วมันทำให้คนที่ถูกหมิ่นประมาทเสียหายหรืออาจโดนคนอื่นมองในแง่ไม่ดีนั่นเอง
ข้อแตกต่างที่ 3

ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น แม้กระทำต่อผู้ตาย แต่ก็ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทต่อบิดา มารดา บุตร หรือภรรยาของผู้ตายด้วย (ม.327) ซึ่งระวางโทษอย่างเดียวกันกับ ม.326

ในส่วนนี้ ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ไม่อาจมีได้ครับ เนื่องจากผู้ตาย ตายไปแล้ว การไปด่าผู้ตายโดยที่ไม่มีบุคคลที่สามอยู่ด้วยนั้น อย่างไรก็ไม่เป็นความผิดฐานนี้แน่นอน
ข้อแตกต่างที่ 4

ดูหมิ่นซึ่งหน้า ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดนะครับ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมาพิสูจน์ว่า ข้อความนั้นจริง หรือไม่จริง หรือว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ ถ้าเป็นดูหมิ่นซึ่งหน้า แล้วผิดเลย จบเลย ไม่ต้องพิสูจน์ต่อ

ส่วนในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็น หมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เช่นเรื่องความประพฤติเสื่อมเสียในทางชู้สาว

ตัวอย่าง นายA พูดกับBว่า นางสาวC นอนกับผู้ชายไม่เลือกหน้า เป็นเหตุให้นางสาว C เสื่อมเสียชื่อเสียง เช่นนี้แม้เรื่องดังกล่าวเป็นความจริงก็ตาม นาย A ก็ไม่สามารถพิสูจน์ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริงเพื่อจะได้รับยกเว้นโทษได้เพราะเรื่องดัวกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เป็นต้น

ดังนั้นในทางอาญาแม้คำกล่าวหมิ่นประมาทจะเป็นความจริง ผู้ที่กล่าวก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ ถ้าหากไม่เข้าข้อยกเว้นที่ให้พิสูจน์ได้ จึงมีคำกล่าวว่า ในทางอาญา “ยิ่งจริงยิ่งหมิ่นประมาท” ซึ่งตรงนี้จะต่างจากการหมิ่นประมาทในทางแพ่งที่ว่า หมิ่นประมาททางแพ่ง

ม.423 “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

ดังนั้น หมิ่นประมาททางแพ่ง-ต้องเป็นการกล่าวข้อความที่ฝ่าฝืนความจริง (ไม่จริง)ถึงจะต้องรับผิดในทางแพ่ง แต่ถ้าคำกล่าวนั้นเป็นความจริง แม้จะเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งแต่ประการใด ส่วนหมิ่นประมาททางอาญา-แม้เป็นความจริงก็อาจเป็นหมิ่นประมาทได้นะ

  ต่างกันตรงนี้

หมิ่นประมาทนั้นผู้พูดต้องยืนยันข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ จะจริงหรือเท็จไม่สำคัญ แต่เรื่องนั้นต้องเป็นไปได้ แล้วก็ทำให้ผู้ถูกกล่าวถึงเสียชื่อเสียง โดนดูถูก หรือโดนเกลียดชัง เช่น นาย ก. ด่าว่านาง ข. ว่าเป็นชู้กับนาย ค. ต่อหน้าชาวบ้านหลายคน

 

นายเกรียงศักดิ์    นวลศรี    น.บ     น.บ.ท     วิชาชีพว่าความ   และผู้เขียนบทความใน เว็บตั๋วทนาย.com

Facebook Comments