Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ถ้าดิฉันจะต้องหย่ากับสามี จะเรียกร้องให้สามีจ่ายค่าเลี้ยงดูให้กับดิฉันหลังจากหย่าแล้วได้เพียงใด??

ถ้าดิฉันจะต้องหย่ากับสามี จะเรียกร้องให้สามีจ่ายค่าเลี้ยงดูให้กับดิฉันหลังจากหย่าแล้วได้เพียงใด??

26963

  

ถ้าดิฉันจะต้องหย่ากับสามี จะเรียกร้องให้สามีจ่ายค่าเลี้ยงดูให้กับดิฉันหลังจากหย่าแล้วได้เพียงใด
ค่าอุปการะเลี้ยงดูภายหลังการหย่าจะเรียกว่าค่าเลี้ยงชีพ ซึ่งถ้าตกลงหย่ากันเองและจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้จะเป็นเรื่องความสมัครใจก็จะเป็นไปตามนั้น แต่ถ้าเป็นคดีฟ้องหย่าแล้วมิได้หมายความว่าจะมีสิทธิได้ค่าเลี้ยงชีพทุกกรณี เพราะกฎหมายไทยได้บัญญัติเรื่องค่าเลี้ยงชีพไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 ว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ก็ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้ และฐานะของผู้รับ…และสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุดลง ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น ซึ่งพอสรุปประเด็นได้ดังนี้
1.การหย่าที่จะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ จะต้องเกิดจากความผิดของอีกฝ่ายหนึ่งเพียง

ฝ่ายเดียว เช่น อีกฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับผู้อื่น ไม่ส่งเสียเลี้ยงดู หรือถูกอีกฝ่ายทำร้ายร่างกาย เป็นต้น แต่ถ้าตนเป็นผู้ทำผิดเองแล้วเป็นคดีฟ้องหย่าขึ้นมาจะใช้สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพไม่ได้ เช่น ได้หนีไปอยู่ที่อื่นซึ่งเป็นการทิ้งร้างคู่สมรสของตนโดยสมัครใจเสียเอง ภายหลังมีการฟ้องหย่ากันเพราะเหตุนี้จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพไม่ได้ แต่ถ้าหนีไปเพราะถูกทำร้ายจะมิใช่เป็นการทิ้งร้างโดยสมัครใจ เช่นนี้ยังมีสิทธิที่จะเรียกค่าเลี้ยงชีพในคดีหย่าได้ เป็นต้น
2.การหย่าจะทำให้ต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือไม่ได้ทำงาน เช่น แต่งงานแล้วสามีให้ออกจากงานมาดูแลบรรดาลูก ๆ หากภายหลังต้องหย่ากันทำให้ไม่มีงานทำและไม่มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตนเองภายหลังการหย่า หรือเคยทำงานในกิจการของครอบครัว ต่อมาเลิกกันทำให้ไม่ได้ทำงานนั้นอีกต่อไป เป็นต้น
3.ในคดีหย่าจะต้องมีการฟ้องหรือในคำให้การต่อสู้คดีได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเลี้ยงชีพไว้ด้วย จึงจะพิจารณาเรื่องค่าเลี้ยงชีพให้ เพราะถ้าไม่มีประเด็นเรื่องค่าเลี้ยงชีพไว้ หย่ากันไปแล้วจะมาฟ้องหรือเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพในภายหลังไม่ได้ ซึ่งรวมทั้งในกรณีที่ตกลงหย่ากันเอง จะต้องได้มีการตกลงจำนวนเงินค่าเลี้ยงชีพไว้ด้วย เช่น ในทะเบียนหย่า หรือในบันทึกประจำวันตกลงจะไปหย่ากันไว้ ถ้าหย่ากันเองโดยไม่ได้ตกลงเรื่องจะจ่ายค่าเลี้ยงชีพไว้ ภายหลังหย่ากันไปแล้วจะเปลี่ยนใจหวนกลับมาขอให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพอีกไม่ได้
วิธีการจ่ายค่าเลี้ยงชีพ อาจจะตกลงจ่ายกันเป็นเงินก้อนหรือจะจ่ายเป็นรายเดือนก็ได้ ในกรณีที่ตกลงจ่ายเป็นรายเดือน ภายหลังพฤติการณ์เปลี่ยนไป ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขค่าเลี้ยงชีพโดยเพิกถอน ลดเพิ่ม หรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพ ก็ได้ กรณีการกลับให้ค่าเลี้ยงชีพ เช่น เคยฟ้องขอหย่าและขอให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพไว้ แต่ศาลพิพากษาให้หย่าโดยไม่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพเพราะผู้ขอมีรายได้เพียงพอหรือมีหน้าที่การงาน หรือมีฐานะดีกว่า หากภายหลังถ้าผู้ขอไว้เกิดยากจนลงหรือมีรายได้ไม่เพียงพอ ผู้นั้นมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน ถ้าหากผู้ที่รับค่าเลี้ยงชีพมีคู่สมรสใหม่ สิทธิที่จะรับค่าเลี้ยงชีพจะสิ้นสุดลง เพราะเป็นหน้าที่ของคู่สมรสคนใหม่ที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูแทน.

ที่มา : www.dailynews.co.th

Facebook Comments