Home คดีครอบครัว แอบ บันทึกเสียงในระหว่างสนทนา สามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่

แอบ บันทึกเสียงในระหว่างสนทนา สามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่

62089

 

คำถาม     เทปบันทึกเสียงรวมทั้งบันทึกการถอดเทปที่แอบบันทึกขณะมีการสนทนาระหว่างผู้เสียหาย พยาน และจำเลย ศาลจะนำมารับฟังได้หรือไม่

คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่   2281/2555   เทปบันทึกเสียงที่แอบบันทึกขณะมีการสนทนาระหว่างโจทก์ร่วมกับพยานและจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ร่วมและพยานไม่ทราบมาก่อนเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกรณีเจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิจารณามี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 28)ฯ บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 226/1 ใน ป.วิ.อ. กำหนดให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ถ้าพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 จึงต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับในการรับพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ดังนั้น เทปบันทึกเสียงรวมทั้งบันทึกการถอดเทปดังกล่าวแม้จะได้มาโดยมิชอบ แต่เมื่อศาลนำมาฟังจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงนำพยานหลักฐานดังกล่าวมารับฟังได้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาจากบันทึกการถอดเทปดังกล่าวได้ความว่าโจทก์ร่วมไม่สมัครใจและไม่มีความเป็นอิสระในการชี้ตัวจำเลยที่ 2 จึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่าโจทก์ร่วมและ ก. พยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ชี้ภาพถ่ายจำเลยที่ 2 และตัวจำเลยที่ 2 ผิดตัวหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

มีปัญหาปรึกษาทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments