Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่ได้ไปจดทะเบียนที่ที่ดิน

บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่ได้ไปจดทะเบียนที่ที่ดิน

21413

 

คำถาม

บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่ได้ไปจดทะเบียนที่ที่ดิน

คำตอบเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉับไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15123/2555

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า มีข้อความระบุว่า ล. และ ก. ตกลงยกบ้านเลขที่ 2/12 ซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว 2 ห้องนอน ให้แก่บุตรทั้งสองคนคือ โจทก์และ ก. ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้เยาว์ บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าดังกล่าว นอกจากมี ล. และ ก. เป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้ว ยังมีบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาระหว่าง ล. และ ก. คือ แทนที่ ล. และ ก. จะแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาด้วยกันเอง กลับยอมให้บ้านเลขที่ 2/12 ตกเป็นของบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง หลังจาก ล. และ ก. จดทะเบียนหย่ากัน สัญญาจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่สัญญาให้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 525 แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ย่อมผูกพัน ล. ให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ล. ไม่มีสิทธิจะนำทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมของ ก.


ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านเลขที่2/12 หมู่ที่ 2 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ตามที่ดินโฉนดเลขที่ 34659 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านเลขที่ 2/12 หมู่ที่ 2 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ตามที่โฉนดเลขที่ 34659 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียเกินมา 3,625 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับนางสาวเกื้อกูล เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายลีและนางกัลยา ซึ่งจดทะเบียนสมรสกัน ต่อมานายลีกับนางกัลยาจดทะเบียนหย่า และทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า ข้อ 1 และข้อ 2 มีข้อความว่า คู่หย่าทั้งสองฝ่ายสมัครใจหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากันมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชายไกรวุฒิ (โจทก์) อายุ 14 ปี เด็กหญิงเกื้อกูล อายุ 4 ปี โดยตกลงให้บุตรอยู่ในความดูแลของทั้งสองฝ่าย และข้อ 3 มีข้อความเรื่องทรัพย์สินว่า บ้านเลขที่ 2/12 ซอยเกาะทวาย ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นบ้านทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว 2 ห้องนอน ขอยกให้แก่บุตรทั้งสองคน โดยห้ามบุคคลอื่นเข้ามาอยู่หรือมาทำการใด ๆ ในบ้านหลังนี้ นอกจากได้รับความเห็นชอบจากนางกัลยาเท่านั้น หลังจากจดทะเบียนหย่านางกัลยาพาโจทก์และนางสาวเกื้อกูลออกจากบ้านเลขที่ 2/12 ส่วนนายลีอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว ต่อมานายลีจดทะเบียนสมรสกับจำเลยและมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กชายเอกสิทธิ์หรืออารักษ์ และเด็กชายทวีโชค โดยอยู่ที่บ้านเลขที่ 2/12 ดังกล่าว นายลีทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองระบุยกที่ดินโฉนดเลขที่ 34659 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เนื้อที่ดิน 27 ตารางวา พร้อมบ้านชั้นเดียวเลขที่ 2/12 หมู่ที่ 2 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และรถยนต์ 2 คัน ให้แก่จำเลยแต่เพียงผู้เดียวตามพินัยกรรม นายลีถึงแก่ความตาย ศาลจังหวัดระยองมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายลี โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์และนางสาวเกื้อกูล โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยออกจากบ้านเลขที่ 2/12 และข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยไม่อุทธรณ์โต้แย้งว่า บ้านพิพาทคือบ้านเลขที่ 2/12 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กับนางสาวเกื้อกูล

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาทหรือไม่ ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า มีข้อความระบุว่า นายลีและนางกัลยาตกลงยกบ้าน เลขที่ 2/12 ซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว 2 ห้องนอน ให้แก่บุตรทั้งสองคนคือโจทก์และนางสาวเกื้อกูล ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้เยาว์ บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าว นอกจากมีนายลีและนางกัลยาเป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้ว ยังมีบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาระหว่างนายลีและนางกัลยา คือ แทนที่นายลีและนางกัลยาจะแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาด้วยกันเอง กลับยอมให้บ้านเลขที่ 2/12 ตกเป็นของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองหลังจากนายลีและนางกัลยาจดทะเบียนหย่ากัน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 มิใช่สัญญาให้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ย่อมผูกพันนายลีให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง นายลีไม่มีสิทธิจะนำทรัพย์สินดังกล่าวไปให้แก่ผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมของนางกัลยา แม้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า ข้อ 3 ไม่ได้กล่าวถึงที่ดินโฉนดที่ เลขที่ 34659 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง คงระบุถึงบ้านเลขที่ 2/12 ซึ่งสร้างอยู่บนที่ดินดังกล่าวว่าขอยกให้แก่บุตรทั้งสองคน โดยห้ามบุคคลอื่นเข้ามาอยู่หรือมากระทำการใด ๆ ในบ้านหลังนี้นอกจากได้รับความเห็นชอบจากนางกัลยาเท่านั้น จากข้อตกลงดังกล่าว เมื่อได้ความว่าบ้านเลขที่ 2/12 เป็นทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว 2 ห้องนอน สร้างเต็มเนื้อที่ของที่ดินโฉนดเลขที่ 34659 เนื้อที่ 27 ตารางวา ตามใบแทนโฉนดและภาพถ่ายบ้านดังกล่าวท้ายอุทธรณ์ เมื่อพิจารณาประกอบข้อความที่ว่า ห้ามบุคคลอื่นเข้ามาอยู่หรือมากระทำการใด ๆ ในบ้านหลังนี้นอกจากได้รับความเห็นชอบจากนางกัลยาเท่านั้น แสดงว่าทั้งนายลีและนางกัลยามีความประสงค์ให้ทาวน์เฮาส์เลขที่ 2/12 ดังกล่าวตั้งอยู่บนที่ดินอย่างถาวรในลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์ เพราะหากไม่ให้ที่ดินพิพาทที่ทาวน์เฮาส์ตั้งอยู่ตกแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้วก็ต้องรื้อทำให้ทาวน์เฮาส์ไร้ค่าไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ดังนั้น แม้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า ข้อ 3 จะไม่กล่าวถึงที่ดินที่ตั้งทาวน์เฮาส์ เลขที่ 2/12 ไว้ ก็ต้องถือว่านายลีและนางกัลยามีเจตนายกที่ดินที่ตั้งของทาวน์เฮาส์ให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองคือโจทก์และนางสาวเกื้อกูล เมื่อโจทก์มีนางกัลยา เบิกความเป็นพยานว่า พยานได้พาบุตรทั้งสองออกมาเช่าบ้านอยู่ ส่วนนายลียังคงอยู่บ้าน พยานเคยแจ้งให้นายลีออกจากบ้านพิพาท ซึ่งนายลีแจ้งว่ากำลังจะซื้อบ้าน พยานเห็นว่าเคยเป็นสามีจึงยินยอมให้อยู่ จำเลยไม่นำสืบโต้แย้งในเรื่องนี้ จึงฟังได้ว่า นางกัลยาซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และนางสาวเกื้อกูล เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองทั้งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง จึงถือได้ว่า โจทก์และนางสาวเกื้อกูลได้แสดงเจตนาแก่นายลีในฐานะลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคสอง สิทธิของโจทก์และนางสาวเกื้อกูลซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว คู่สัญญาตามบันทึกข้อตกลงท้ายการหย่าหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่ ตามมาตรา 375 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว ข้อกำหนดตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนายลี ในส่วนระบุยกที่ดินโฉนดเลขที่ 34659 และบ้านเลขที่ 2/12 จึงเป็นอันไร้ผล เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินของนายลีอีกต่อไป เมื่อนายลีถึงแก่ความตายที่ดินและบ้านพิพาทจึงไม่ตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรม แต่ที่ดินและบ้านพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และนางสาวเกื้อกูลตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยและบริวารให้ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

มีปัญหาเกี่ยวกับคดรีความปรึกษาทนายกฤษดา

0999170039

IMG_0548-0

Facebook Comments