Home คดีแพ่ง เงินประจำตำแหน่งข้าราชการ อายัดเพื่อบังคับคดีได้หรือไม่

เงินประจำตำแหน่งข้าราชการ อายัดเพื่อบังคับคดีได้หรือไม่

39947

 คำถาม

เงินประจำตำแหน่งข้าราชการ อายัดเพื่อบังคับคดีได้หรือไม่

คำตอบเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2559

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,142,988.20 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,118,534.24 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยทั้งสองชำระหนี้ไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษา โจทก์ขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืนและเงินค่าหุ้นเมื่อพ้นสมาชิกภาพที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับจากสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสำนักงานอัยการสูงสุด จำกัด กับอายัดเงินประจำตำแหน่งข้าราชการอัยการและเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง อย่างละร้อยละ 30 ที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับจากสำนักงานอัยการสูงสุด

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18, 23 และ 29 ธันวาคม 2552 กับแก้ไขคำร้องว่า จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ครบแล้ว ทั้งยังชำระหนี้เกินกว่าที่เป็นหนี้ด้วย ส่วนเงินประจำตำแหน่งข้าราชการอัยการและเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง เป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนทั้งยังเป็นรายได้อื่นลักษณะเดียวกันของข้าราชการ จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจนถึงวันที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีอีกต่อไป ขอให้งดบังคับคดี ให้เพิกถอนการอายัดเงินประจำตำแหน่งข้าราชการอัยการและเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งของจำเลยทั้งสองและการอายัดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสอง ให้โจทก์คืนเงิน 143,200 บาท และ 2,476 บาท กับเงินปันผล 362,051.50 บาท ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินปันผลปี 2553 ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสำนักงานอัยการสูงสุด จำกัด ส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี 90,444.75 บาท พร้อมกับเงินประจำตำแหน่งข้าราชการอัยการและเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งแก่จำเลยทั้งสอง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยทั้งสองยังชำระหนี้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วน โจทก์ยื่นคำขออายัดเงินจำเลยทั้งสองต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้ต่อไป เงินประจำตำแหน่งกับเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งมิใช่เงินเดือนและมิใช่ส่วนหนึ่งของเงินเดือน ไม่ต้องห้ามบังคับคดี ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัดเงินประจำตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งข้าราชการอัยการของจำเลยทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อโจทก์ยอมรับว่า หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้คงค้างอยู่ประมาณ 1,300,000 บาท และจำเลยทั้งสองเบิกความยืนยันว่า เงิน 1,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 กู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสำนักงานอัยการสูงสุด จำกัด นั้น จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีนี้ ส่วนข้อต่อสู้ของโจทก์ที่ว่า เงินกู้เป็นการชำระหนี้ตามเช็คอื่นที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องและชำระค่าเบี้ยประกันภัยตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 7159/2543 ของศาลชั้นต้นนั้น ก็ขัดแย้งกับคำคัดค้านของโจทก์ที่คัดค้านเพียงว่า ไม่ได้รับเงินกู้ จึงไม่น่าเชื่อถือ เมื่อรวมกับเงิน 515,460.18 บาท และเงินปันผลที่สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำกัด ส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี 90,444.75 บาท หักชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งสองยังค้างชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์อีกบางส่วน โจทก์ยังมีสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองได้ต่อไปเท่าที่จำเลยทั้งสองยังคงค้างชำระหนี้อยู่ แต่เงินประจำตำแหน่งของข้าราชการอัยการ เทียบได้กับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือน จึงถือเป็นค่าตอบแทนที่ข้าราชการอัยการจะได้รับเป็นรายเดือน อันเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนค่าจ้างของข้าราชการ จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 (2) ส่วนเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งของข้าราชการอัยการนั้น เงินดังกล่าวออกตามระเบียบกระทรวงการคลังซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เฉพาะแก่บุคคลผู้มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งได้ค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง ถือได้ว่าเป็นเงินตอบแทนพิเศษในลักษณะที่แตกต่างจากเงินเดือน แต่มีลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 (2) จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเช่นกัน พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เงิน 1,000,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เป็นการชำระหนี้ในคดีนี้ความจริงเป็นการชำระหนี้ในคดีนี้เพียง 600,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 400,000 บาท เป็นการชำระหนี้ในคดีอื่น จำเลยทั้งสองจึงยังค้างชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้มากกว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้อีก ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ขอให้อายัดเงินประจำตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งข้าราชการอัยการของจำเลยทั้งสองต่อไปนั้น แม้โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องอย่างไร แต่ปัญหาว่าเงินทั้งสองจำนวนอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม) และเห็นว่า เงินประจำตำแหน่งนั้นเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการขณะดำรงตำแหน่งตามที่ระบุไว้นั้น ส่วนเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งข้าราชการอัยการของจำเลยทั้งสอง เป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งโดยให้ได้รับค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งกับได้รับในลักษณะคงที่แน่นอนเช่นเดียวกับเงินเดือนและเป็นรายเดือน จึงเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 (2) โจทก์ย่อมขอบังคับคดีไม่ได้ คำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป  เงินประจำตำแหน่ง เป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งโดยให้ได้รับค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งกับได้รับในลักษณะคงที่แน่นอนเช่นเดียวกับเงินเดือนและเป็นรายเดือน จึงเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 (2) โจทก์ย่อมขอบังคับคดีไม่ได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments