Home คดีแพ่ง หมายเหตุท้ายฎีกา เรื่อง ครอบครองปรปักษ์

หมายเหตุท้ายฎีกา เรื่อง ครอบครองปรปักษ์

16192

ครอบครองปรปักษ์ ประกอบกด้วยสองคำคือ “ครอบครอง” และ “ปรปักษ์”ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้อธิบายคำว่า”ครอบครอง” หมายถึง ยึดถือไว้, มีสิทธิถือเอาเป็นเจ้าของ, มีสิทธิปกครองและอธิบายคำว่า “ปรปักษ์” หมายถึง ข้าศึก, ศัตรู, ฝ่ายตรงข้ามรวมความแล้วคำว่า “ครอบครองปรปักษ์” หมายถึงการครอบครองของฝ่ายศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามดังนั้น การครอบครองปรปักษ์ตามความเข้าใจธรรมดาทั่วไป ย่อมหมายถึง การครอบครองที่มีลักาณะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (unlawfulacts) ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่มีมาตราใดใช้คำว่า “ครอบครองปกปักษ์” น่าเชื่อว่านักกฎหมายได้ใช้คำว่า “ครอบครองปรปักษ์” มาอธิบายการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ตั้งแต่ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ปีพุทธศักราช 2471 จนทำให้ดูเสมือนหนึ่งคำว่า ครอบครองปรปักษ์เป็นคำที่ใช้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และทำให้เข้าใจว่า การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองหรือที่เข้าใจกันทั่วไปว่า การครอบครองปรปักษ์จะต้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (unlawfulacts) หรือไม่สุจริต(badfaith) ตามความหมายในถ้อยคำนั้นเองดังได้กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อตรวจดูถ้อยคำใน มาตรา 1382 ไม่มีคำว่ากระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (unlawfulacts) หรือใช้สิทธิครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต (inbadfaith) ต่างจาก มาตรา 1383 ซึ่งเขียนไว้ชัดว่าการได้ทรัพย์สินมาโดยการกระทำผิด offence หรือรับโอนทรัพย์สินมาโดยไม่สุจริต inbadfaith และเมื่อเทียบกับเรื่องการแย่งการครอบครองตามมาตรา 1375 ในตัวบทฉบับภาษาอังกฤษเขียนไว้ชัดว่าunlawfuldeprivedofpossession จากถ้อยคำในตัวบท มาตรา 1375และมาตรา 1383 จึงชี้ให้เห็นชัดว่า การแย่งการครอบครองก็ดี การได้ทรัพย์สินมาโดยกระทำผิดก็ดี ต้องเป็นการกระทำที่มิชอบและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ปัญหาจึงมีว่าจุดเริ่มต้น หรือเบื้องแรกสุดของการเข้าสู่การครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นอันจะได้กรรมสิทธิ์โดยปรปักษ์ ตามมาตรา 1382 นั้นจำต้องกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย lawfulactsหรือต้งเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต actsingoodfaith หรือไม่อย่างไรเมื่อตัวบท มาตรา 1382 มิได้เขียนไว้ชัดจึงต้องศึกษาจากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา เช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2476 วินิจฉัยว่า “จำเลยเข้าครอบครองที่ดินของผู้อื่นในขณะที่เจ้าของกำลังต่อสู้กรรมสิทธิ์กับผู้นำยึด แม้จำเลยจะครอบครองมานานเท่าใดก็ยกอำนาจปรปักษ์ขึ้นต่อสู้ไม่ได้” และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2480 วินิจฉัยว่า “จำเลยเช่าเรือโจทก์ไปแล้วลงชื่อเป็นเจ้าของเสียเอง เป็นการครอบครองทรัพย์สินโดยอาศัยอำนาจของผู้ให้เช่า แม้จะครอบครองเป็นเวลากว่า5 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์” จะเห็นได้ว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต

ต่อมาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2485 วินิจฉัยว่า”ภริยาโจทก์ได้ร้องขอจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งยังไม่มีผู้ใดครอบครอง ระหว่างรอรับใบเหยียบย่ำอยู่ จำเลยได้เข้าครอบครองที่นั้นโดยพลการทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าภริยาโจทก์ ได้ขอจับองไว้เป็นการใช้สิทธิ์ไม่สุจริต ฉะนั้นจะอ้างสิทธิไม่สุจริตใช้ยันโจทก์ไม่ได้”และขอให้ศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 236/2506 วินิจฉัยว่า “ซื้อที่ดินที่โฉนดตราจองจากผู้รับจำนองโดยทำหนังสือกันเอง และรู้ก่อนซื้อว่าที่ดินนั้นเป็นของใคร เป็นการไม่สุจริต ได้ชื่อว่าซื้อโดยรู้ว่าผู้ขายไม่มีอำนาจขายและถือว่ารับโอนการครอบครองที่ดินโดยรู้ว่าการครอบครองที่รับโอนมานั้นเป็นการครอบครองแทนโดยอาศัยสิทธิผู้จำนองเป็นเจ้าของที่ดิน หาใช่ได้รับโอนการครอบครองเพื่อตนเองไม่ ผู้ซื้อจึงอ้างการครอบครองปรปักษ์ยันทายาทผู้จำนองไม่ได้” จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ทำให้เห็นว่า ศาลฎีกาได้วางหลักการครอบครองโดยปรปักษ์ เบื้องแรกจะต้องดูว่าเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ ถ้าไม่สุจริตก็ไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการครอบครองโดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ เป็นที่น่าสังเกตว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัย โดยที่ประชุมใหญ่ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 560/2508ความว่า “…ศาลฎีกาได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวข้างต้นโดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายจ้อม บิดาจำเลยมิใช่บุตรของนายทา และไม่มีสิทธิ์รับมรดก นายทา แต่ได้ไปไถ่นาพิพาทเอามาเป็นของตนและต่อมาก็ได้ไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่านายจ้อมเป็นบุตรนายทาเป็น ผู้มีสิทธิรับมรดกนายทา เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อได้โอนชื่อนายจ้อมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นาพิพาทในโฉนด และนายจ้อม ได้ครอบครองนาพิพาทอย่างถือตนเป็นเจ้าของ โดยฝ่ายโจทก์ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกันก็รู้เห็น และมิได้โต้แย้งหรือขัดขวางประการใดตลอดมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่านายจ้อมได้ครอบครองนาพิพาท โดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เมื่อนายจ้อมครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 30 ปี นายจ้อมก็ได้กรรมสิทธิ์ในนาพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เมื่อนายจ้อมตาย นาพิพาทก็ตกได้กับจำเลย โจทก์ไม่มีสทิธิใด ๆ ในที่พิพาทแล้ว…” จะเห็นได้ว่าพฤติการณ์ของนายจ้อม เป็นการกระทำที่ไม่ชอบนับตั้งแต่การไปไถ่ถอนนาพิพาท การไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินจนมีการใส่ชื่อตนเป็นผู้รับมรดกที่นาพิพาทดังกล่าว จึงเป็นกรณีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อเข้าครอบครองที่พิพาทของผู้อื่นมาตั้งแต่เริ่มแรก นายจ้อม ย่อมจะอ้างอำนาจการครอบครองปรปักษ์ใช้ยันเจ้าของที่ดินไม่ได้ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2480,1040/2485,236/2506 ดังนำมาวิเคราะห์ข้างต้น แต่คดีนี้ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของนายจ้อมเป็นการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่นาพิพาท จึบงทำให้ดูเหมือนว่าศาลฎีกากลับหลักที่ว่า การครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ต้องเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรืออย่างไร ผู้บันทึกเห็นว่าศาลฎีกาคงพิเคราะห์จุดที่โจทก์เจ้าของนาพิพาทรู้เห็นการกระทำของนายจ้อม แต่ไม่โต้แย้งหรือขัดขวางเท่ากับเป็นการสละการครอบครองที่นาพิพาทให้นายจ้อมไปแล้วตั้งแต่ในขณะที่ตนสามารถใช้สิทธิโต้แย้งขัดขวางแล้วไม่ใช้การที่นายจ้อมใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่เบื้องแรกย่อมระงับสิ้นไปพฤติการณ์ของนายจ้อมครอบครองที่นาพิพาทหลังจากที่โจทก์เจ้าของนาพิพาท ไม่โต้แย้งหรือขัดขวางจึงเป็นการใช้สิทธิครอบครองโดยสุจริตเมื่อมีการครอบครองโดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมากว่า 10 ปี นายจ้อม ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ผู้บันทึกจึงเห็นว่า ศาลฎีกามิได้กลับหลักเรื่องการใช้สิทธิโดยสุจริตแต่อย่างใด

ในปีต่อมาศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เกี่ยวกับปัญหาการครอบครองปรปักษ์ ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 99/2509 วินิจฉัยว่า “…ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าพฤติการณ์ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของกว่า 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 แม้โจทก์จะเป็นผู้รับพินัยกรรมองพระพิชัยเดชะเจ้าของที่พิพาทเดิมจำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์นั้นชอบแล้ว แม้นางย่อมมารดาโจทก์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ที่พิพาทเป็นของจำเลย โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลในระหว่างที่ดจทก์เป็นผู้เยาว์ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(4) แต่ก็ไม่ได้ความว่านางย่อม กับจำเลยได้คบคิดกันกระทำการเพื่อให้โจทก์เสียหาย ความข้อนี้จึงไม่ขัดขวางมิให้จำเลยได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ดังวินิจฉัยมาแล้วแต่อย่างใด…” ข้อเท็จจริงเป็นกรณีจำเลยเป็นบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทจากบุคคลไม่มีอำนาจโอนให้แต่มิได้คบคิดกันทำให้โจทก์เสียหาย ย่อมเป็นการกระทำโดยสุจริต และเมื่อเข้าครอบครองที่ดินที่รับโอนมาจึงเป็นการใช้สิทธิต่อเนื่องกันโดยสุจริตย่อมอ้างอำนาจการครอบครองปรปักษ์ยันเจ้าของที่แท้จริงได้ แต่ถ้าบุคคลภายนอกมีการคบคิดกับผู้โอนหรือผู้ครอบครองแทนเจ้าของที่ดินที่แท้จริงจนทำให้เจ้าของที่แท้จริงเสียหายย่อมเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จะอ้างการครอบครองปรปักษ์ยันเจ้าของที่แท้จริงไม่ได้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า การครอบครองของบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ 3 ที่รับโอนมาโดยไม่สุจริตถือว่าเป็นการครอบครองแทนเจ้าของที่แท้จริงเท่านั้น เว้นแต่มีการแสดงเจตนาเปลี่ยนการครอบครองแทน มาเป็นครอบครองเพื่อตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่นำมาวิเคราะห์จึงได้หลักว่าการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น เพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ หรือที่เข้าใจกันทั่วไป ว่าการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 เบื้องแรกสุดจะต้องเป็นการใช้สิทธิเข้าครอบครองโดยสุจริต โดนำหลักในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 มาใช้บังคับ กล่าวคือในการใช้สิทธิแห่งตน ต้องกระทำโดยสุจริต actingoodfaitn

ปัญหาว่า ความสุจริตของผู้ครอบครองปรปักษ์จะต้องมีอยู่ตลอดไปจนครบระยะเวลา 10 ปี หรือไม่ ปัญหานี้ไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้โดยตรงผู้บันทึกเห็นว่า ความสุจริตจะต้องมีในเบื้องแรกสุดที่มีการใช้สิทธิครอบครองเท่านั้น เช่น ตอนแรกเข้าครอบครองที่ดินผู้อื่นโดยเข้าใจว่าเป็นของตนเอง แต่ต่อมาภายหลังทราบว่าเป็นที่ของคนอื่น แต่ก็ยังคงครอบครองด้วยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ หรือกรณีซื้อที่ดินจากผู้ไม่มีอำนาจจะขาย แต่รับซื้อไว้โดยสุจริตและเข้าครอบครองต่อมาภายหลังจึงทราบว่าที่ดินนั้นมิใช่ของผู้ที่ขายให้ แต่ก็ยังคงครอบครองต่อมาด้วยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของทั้งสองกรณี ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยปรปักษ์ตามมาตรา1382 การพิสูจน์ความสุจริตเป็นเรื่องยากเพราะเป็นเรื่องภายในจิตใจต้องอาศัยพฤติกรรมที่แสดงออกประกอบกับพฤติเหตุแวดล้อมแห่งกรณีเป็นเครื่องพิสูจน์แต่ละกรณี ๆ ไป

ปัญหาที่น่าพิจารณาประการสุดท้ายคือ การครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ การครอบครองอย่างไรจึงจะถือว่าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เจตนาเป็นเจ้าของเป็นเรื่องภายในจิตใจจะต้องอาศัยการแสดงออกและพฤติเหตุแวดล้อมประกอบ เพื่อพิเคราะห์ว่า มีเจตนาครอบครองเป็นเจ้าของหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องแต่ละรายไป คงจะวางหลักเกณฑ์ตายตัวไม่ได้ ขอให้ศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยวินิจฉัยว่า พฤติการณ์อย่างไรเป็นการครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1804/2500 วินิจฉัยว่า”…ที่ดินรายพิพาทแปลงนี้เป็นที่ไร่มีโฉนดสำหรับที่เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ของบุคคลอยู่แล้วไม่ใช่ที่ป่าและไม่ใช่ที่ดินที่เพียงแต่ได้รับใบเหยียบย่ำ จำเลยจะกล่าวอ้างถึงต้องทำการเพาะปลูกทำให้เกิดประโยชน์แก่ที่ดินขึ้นหรือไม่ เอามาปะปนกับการครอบครองเช่นนั้นไม่ได้สมมุติว่า นายอ่อง นางล้วน เจ้าของที่ดินเดิมปล่อยที่ดินของเขาให้รกรุงรังอยู่ เพียงแต่เข้าไปตัดไม้มาทำฟืน เก็บผลพุดทราขายและให้คนอื่นเช่า เก็บผลไปทำพุดทราแผ่นขาย อันเป็นข้อเท็จจริงดังเช่นทีจำเลยอ้างมานี้ จำเลยยังจะยืนยันว่านายอ่องนางล้วยไม่ได้ครอบครองที่ดินแปลงนี้ได้ละหรือกรณีเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะนายอ่องนางล้วน ขายที่ไร่แปลงนี้ให้แก่โจทก์แล้ว มอบโฉนดและสละการครอบครองที่รายพิพาทให้แก่โจทก์และอพยพไปอยู่จังหวัดอื่น ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องอะไรในที่ดินแปลงพิพาทนี้เลยตั้ง 40 ปี จนกระทั่งตายไปแล้วทั้งสองคนตัวจำเลยเองก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินแปลงนี้ โจทก์เป็นผู้ได้รับการครอบครองมาจากนายอ่อง นางล้วนเจ้าของเดิม และได้ใช้สิทธิต่อมา โดยเข้าตัดไม้มาทำฟืนเก็บผลพุดทราขายและให้คนเช่า จึงเป็นการครอบครองที่ดินเช่นเดียวกันกับเจ้าของเดิมดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้นเอง…” จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่นำมาวิเคราะห์นี้จึงได้แนวว่าเจ้าขจองที่ดินเดิมมีการใช้และทำประโยชน์กับที่ดินอย่างไร ผู้ถือครองก็ต้องมีการใช้และทำประโยชน์กับที่ดินดุจเดียวกัน จึงจะถือได้ว่า เป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของขอให้ศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2508 วินิจฉัยว่า “…แต่สำหรับที่งอดหน้าที่ดินโฉนดที่ 6639 ซึ่งตามกฎหมายย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้นด้วยนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ย้ายเรือนเข้าไปปลูกอยู่ก่อนหน้านางสาวจิ๋วตายประมาณ 10 ปี แล้วรูปคดีน่าเชื่อว่านางสาวจิ๋ว ยกให้ก็ได้ ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ได้แสดงโดยเปิดเผยว่ายึดถือครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของเช่น นำรังวัดแจ้งการครอบครองและขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่งอดนี้ซึ่งพวกโจทก์ก็รู้เห็น แต่มิได้คัดค้านหรือโต้แย้งประการใดศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ายึดถือครอบครองที่งอกเป็นส่วนสัดต่างหากจากที่ดินโฉนดที่ 6639 โดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่งอกย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382…”ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่นำมาวิเคราะห์นี้ เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้มีการนำรังวัด แจ้งการครอบครอง และขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าของที่ดินทั่วไปจำเลยกระทำดังกล่าวจึงเท่ากับกระทำอย่างเจ้าของที่ดินนั้นเองและขอให้ศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 756/2509 วินิจฉัยว่า “…ตามคำนางสุดใจ วัชรทร พยานโจทก์ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กับที่พิพาทเพียงแต่โผล่หน้าต่างก็มองเห็นเบิกความว่าเคยเห็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 เข้าไปเก็บผลไม้ในที่พิพาทกินเสมอ ๆ และในสมัยที่นางสำลี ดูแลที่ดินพิพาทแทนโจทก์นั้น เคยเห็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 เข้าไปปลูกผักในที่พิพาทเจือสมพยานจำเลยในข้อที่จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทมานานเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยได้ครอบครองที่พิพาทอย่างเจ้าของมาเกิน 10 ปี แล้วย่อมได้กรรมสิทธิ์…” จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่นำมาวิเคราะห์ทั้ง 3 เรื่อง พอจะวางแนวกว้าง ๆ ได้ว่า กรณีที่ผู้ครอบครองได้กระทำหรือใช้ประโยชน์จากที่ดินดุจเดียวกับเจ้าของที่ดินหรือตามที่วิญญูชนพึงคาดหมายได้ว่า เจ้าของที่ดินจะพึงกระทำหรือใช้ประโยชน์จากที่ดินตามสภาพแห่งที่ดินนั้น ๆ หรือกรณีกระทำการใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานแสดงสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ตนครอบครอง อันเป็นพฤติการณ์ที่เจ้าของที่ดินพึงกระทำโดยทั่วไปเป็นต้น

ในทางตรงข้ามพฤติการณ์เช่นไรที่ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ ขอให้ศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298-1299/2531วินิจฉัยว่า “…จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 หาได้นำสืบว่า จำเลยที่ 3ที่ 4 ที่ 5 ได้ครอบครองที่พิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแต่อย่างใดไม่โดยเฉพาะจำเลยที่ 4 ที่ 5 เคยให้ถ้อยคำต่อนายสมพรชาเรณเจ้าพนักงานที่ดนิอำเภอผักไห่ตามเอกสารหมาย จ.17 ว่าจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินของรัฐ ถ้าการรังวัดผลปรากฏว่าอยู่ในที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองก็ยินยอมรื้อบ้านเรือนออกไป จำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ให้ถ้อยคำ แสดงว่าจำเลยดังกล่าวมิได้มีเจตนาครอบครองที่พิพาทเพื่อยึดถือเป็นของตน ไม่ได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่แรก เพราะเข้าใจว่าเป็นที่ดินของรัฐหรือที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพียงต้องการอยู่อาศัยโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าเท่านั้น จึงไม่เป็นการครอบครองปรปักษ์ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382…” ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่นำมาวิเคราะห์ปรากฏชัดตามบันทึกว่า จำเลยทั้งสองมิได้มีเจตนาจะครอบครองที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด โดยจำเลยทั้งสองเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองนั้นเป็นของรัฐ จึงเท่ากับจำเลยทั้งสองมิได้มีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ

สำหรับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่บันทึกหมายเหตุนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยทำนองเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298-1299/2531เพียงแต่ข้อเท็จจริงไม่ชัดเหมือนคดีดังกล่าวที่มีการทำบันทึกถ้อยคำไว้ แต่จำเลยทั้งหกนำสืบรับว่าที่ดินที่เข้าครอบครองพวกตนเข้าใจว่าเป็นของทหาร หากทหารจะเอาคืนเมื่อไหร่ก็จะคืน พฤติการณ์จึงมิใช่เป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นการครอบครองชั่วคราวแม้จะครอบครองที่พิพาทติดต่อกันมาเกินกว่า10 ปีก็หาได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ไม่ความจริงแล้วถ้าพิเคราะห์แต่เพียงพฤติการณ์ภายนอกที่จำเลยทั้งหกแสดงออกย่อมเป็นการครอบครองปรปักษ์ แต่จำเลยทั้งหกกลับเผยไต๋ให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของตนว่ามิได้มีเจตนาจะครอบครองเพื่อตน

ผู้บันทึกเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่บันทึกหมายเหตุนี้ แต่ยังมีข้อสงสัยว่าการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น เพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ ตามมาตรา 1382 จะต้องนำหลักที่ว่าทุกครต้องใช้สิทธิโดยสุจริตมาใช้ ดังนั้น กรณีบุกรุกที่ดินคนอื่นแล้วครอบครองด้วยความสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ก็คงไม่มีทางได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แต่มีตำรากฎหมายบางเล่มอธิบายว่า การบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินของผู้อื่นย่อมได้กรรมสิทธิ์ ตามมาตรา 1383 ผู้บันทึกเห็นว่าจะนำ มาตรา 1383 มาปรับใช้ไม่น่าจะตรงนักเพราะ มาตรา 1383 เป็นเรื่องของการได้มา ตัวบทฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า “acquire” เห็นว่าน่าจะใช้กับสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ส่วนมาตรา 1382 เป็นเรื่องของการครอบครอง ตัวบทฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า “possession” ผู้บันทึกจึงเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกัน.

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments