Home คดีครอบครัว จดทะเบียนหย่ากับสามีแล้ว มีสิทธิฟ้องชู้เรียกค่าทดแทนหรือไม่

จดทะเบียนหย่ากับสามีแล้ว มีสิทธิฟ้องชู้เรียกค่าทดแทนหรือไม่

11074

คำถาม

จดทะเบียนหย่ากับสามีแล้ว มีสิทธิฟ้องชู้เรียกค่าทดแทนหรือไม่

คำตอบ เคยมีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4261/2560

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 กรกฎาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ว. โดยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2534 มีบุตรด้วยกัน 2 คน โจทก์กับนาย ว. จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 โจทก์เป็นผู้บริหารของโรงเรียน นาย ว. ประกอบอาชีพอาจารย์และวิทยากร จำเลยรับราชการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทำละเมิด แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกับสามีโจทก์มีพฤติกรรมทำนองชู้สาว แต่กระทำด้วยความสมัครใจ มิใช่การทำผิดกฎหมาย เป็นการวินิจฉัยนอกอุทธรณ์ เพราะจำเลยอุทธรณ์เพียงว่าจำเลยไม่ได้มีพฤติกรรมทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ ทั้งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดจากการที่จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ทำนองชู้สาว ค่าทดแทนส่วนนี้เป็นค่าเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณด้วย จึงเป็นการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ได้ นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย โดยตั้งข้อหามาในคำฟ้องว่าละเมิด ก็ไม่ผูกมัดว่าศาลจะต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องละเมิดมาปรับแก่คดีดังที่โจทก์ตั้งข้อหา แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับบทกฎหมายที่ถูกต้องเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดี โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยติดต่อและแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง แต่เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว โจทก์เสียสิทธิเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง แต่การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องสูญเสียนาย ว. สามีอันมีค่าของโจทก์ไป โจทก์ได้รับความชอกช้ำระกำใจ อับอาย เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ โจทก์จำใจต้องจดทะเบียนหย่ากับนาย ว. ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ หากฟ้องโจทก์เป็นความจริง ก็หาใช่เป็นเรื่องละเมิดไม่ เพราะกรณีที่สามีไปมีความสัมพันธ์ทำนองชู้สาวกับหญิงอื่นอันเป็นการกระทบกระเทือนถึงสิทธิของภริยานั้น มีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง กรณีต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเท่านั้น ภริยาจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้แม้จะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้วก็ตาม จึงมิใช่เป็นเรื่องการทำละเมิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ปรับบทกฎหมายในเรื่องละเมิดและวินิจฉัยว่าจำเลยทำละเมิดหรือไม่ จึงไม่ถูกต้อง

ส่วนปัญหาที่จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว และต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ นั้น ปัญหานี้แม้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยแต่คู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เห็นว่า การที่ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาวได้ ก็เฉพาะแต่หญิงนั้นต้องแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนอง ชู้สาว สำหรับบทสนทนาที่โจทก์อ้างว่าได้จากการดักฟังโทรศัพท์ของนาย ว. มิใช่จำเลยกระทำการใดๆ อันเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าโจทก์จ้างนักสืบติดตามพฤติกรรมของจำเลยกับนาย ว. และติดตั้งเครื่องติดตามรถยนต์(GPS) ที่รถยนต์ของนาย ว. และติดตั้งเครื่องดักฟังโทรศัพท์ของนาย ว. ทำให้ทราบว่านาย ว. ไปที่บ้านจำเลยบ่อยครั้งและออกจากบ้านจำเลยหลังเวลา 24 นาฬิกา นั้น โจทก์ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเองและไม่มีผู้ใดเป็นพยานหรือภาพถ่ายเป็นหลักฐานให้เห็นเช่นนั้น ลำพังเพียงโจทก์มีนาย ร. หลานชายของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าเคยเห็นจำเลยนั่งในรถของนาย ว. และต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 พบจำเลยและนาย ว. เดินออกจากห้างสรรพสินค้าด้วยกัน และที่โจทก์ นาง ส. และนาย ร. เบิกความว่า วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 16 นาฬิกา นาย ว. ขับรถยนต์มาส่งจำเลยที่หน้าบ้านของจำเลย นั้น ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกามีเพียง 100,000 บาท โจทก์ชำระค่าขึ้นศาล 20,000 บาท เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 18,000 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์

พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมา 18,000 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์ในฐานะภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แม้ขณะฟ้องจะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีมิใช่การกระทำละเมิด

ส่วนปัญหาจำเลยต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เนื่องจากคู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

089142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments