อย่างที่ทีมงานทนายกฤษดา เคยเขียนบทความแนะนำท่านผู้อ่านไปแล้ว เกี่ยวกับที่ดิน (ส.ป.ก.) สามารถซื้อขายกันได้หรือไม่ และหากไม่ได้ผู้ซื้อมีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนหรือไม่ (คลิกเพื่ออ่าน) ในวันนี้มีปัญหาประการหนึ่งที่เป็นคดีความขึ้นสู่ศาลจำนวนมากว่า ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 สามารถทำพินัยกรรมตกทอดให้แก่ทายาทได้หรือไม่ ในวันนี้ทีมงานทนายกฤษดา จะขออธิบายความหมาย พร้อมทั้งบอกหลักการและวิธีแก้มีอย่างไร ไปชมกัน
ความหมายของที่ดิน ส.ป.ก.
ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 คือเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีหลักการสำคัญว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน
คำถามประการแรกที่ว่าที่ดิน ส.ป.ก. สามารถซื้อขายได้หรือไม่
มีบทบัญญัติตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ตามมาตรา ๓๙ให้คำตอบเอาไว้ พร้อมกันนี้ทางทีมงานขออนุญาตอธิบายพร้อมแนบคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบ
มาตรา ๓๙ ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางปราณี ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายโพธิ์ ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง คืนค่าขึ้นศาลและค่านำส่งคำคู่ความให้แก่ผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย และผู้ตายมีบุตร 3 คน คือ นายอภิญญา นางสาวอภัสรา และผู้คัดค้าน ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01) แปลงเลขที่ 84 อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์
มีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า มีเหตุสมควรถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01) สิทธิการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินจึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 ที่บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม” ดังนี้ สิทธิการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่อาจตกทอดแก่ทายาทโดยพินัยกรรมได้
เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมให้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตกแก่ผู้คัดค้านเพียงผู้เดียว การทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย พินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จึงมิใช่กรณีที่ผู้ร้องถูกตัดมิให้รับมรดกด้วยพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม และมีสิทธิที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 กรณีไม่เป็นไปตามที่ผู้คัดค้านอ้าง จึงไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
สรุปสั้น
ศาลมองว่าไม่สามารถตกทอดตามพินัยกรรมได้ เพราะเป็นโมฆะขัดต่อกฎหมายมาตรา 39
สรุปยาว
เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 ที่ต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่อาจตกทอดแก่ทายาทโดยพินัยกรรมได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมให้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตกแก่ผู้คัดค้านเพียงผู้เดียว การทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย พินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงมิใช่กรณีที่ผู้ร้องถูกตัดมิให้รับมรดกด้วยพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม และมีสิทธิที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 จึงไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th