Home คดีแพ่ง การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามความหมายของคำพิพากษาศาลฎีกา

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามความหมายของคำพิพากษาศาลฎีกา

12779

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามความหมายของคำพิพากษาศาลฎีกา

การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงสาเหตุของการเลิกจ้างเป็นสำคัญ กล่าวคือ นายจ้างมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่

คดีนี้แม้จำเลยจะอ้างว่าปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทมาตั้งแต่ปี 2556 แต่มีพนักงานของจำเลยเพียง 3 คนที่ลาออก ไม่ปรากฏว่าจำเลยยุบหน่วยงานหรือลดขนาดหน่วยงานบางหน่วย และตามสำเนางบกำไรขาดทุนในปี 2558 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 จำเลยก็มีผลประกอบกิจการได้กำไร การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 8 มกราคม 2558 ก่อนจำเลยมีผลประกอบกิจการได้กำไรเพียง 2 เดือนเศษ แสดงว่าการเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้จำเลยกลับมามีกำไร เหตุในการเลิกจ้างจึงเป็นนโยบายของนายจ้างที่ประสงค์จะลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนขององค์กรลงเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าก่อนการเลิกจ้างโจทก์ จำเลยมีวิธีการ ขั้นตอนในการลดภาระค่าใช้จ่าย หรือมีวิธีการคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างอย่างไร การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุผลอันสมควรเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

{บทวิเคราะห์ ศาลพิจารณาจาก สาเหตุการเลิกจ้างเป็นสำคัญ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัท การย้ายการยุบแผนกทำให้ขาดทุนหรือมีกำไร และการเลิกจ้างดังกล่าวทำให้กลับมามีกำไรหรือไม่ การเลือกพนักงานที่ถูกเลิกจ้างมีวิธีคัดเลือกอย่างไร }

หนังสือเอกสารไม่มีข้อความว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คงมีข้อความเพียงว่าการชำระเงินครั้งนี้เป็นการชำระเงินครั้งสุดท้ายครบถ้วนตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งหมดตามสัญญาจ้างงาน ซึ่งมีความหมายเพียงว่าโจทก์ยอมรับว่าได้รับเงินตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการที่โจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเลิกจ้างด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

{การตกลงกันเป็นหนังสือว่าสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ไม่มีคำว่าสละสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม }

เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และได้พิจารณาต่อไปว่าในระหว่างการพิจารณาคดีโจทก์ได้งานใหม่ทำแล้ว จึงพิจารณาต่อไปถึงเรื่องจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ควรจะได้รับ เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานกลางจึงต้องกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แทน ตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายว่าภายหลังเลิกจ้างจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นยอดเงินรวมหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเป็นเงิน 4,439,773.45 บาท ปัจจุบันนี้โจทก์ได้งานใหม่แล้ว จำนวนเงินภายหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เนื่องจากเหตุเลิกจ้างนั้นเป็นจำนวนถึง 11.9 เท่า ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายของโจทก์จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์อีก โดยที่จำนวนเงินที่ศาลแรงงานกลางนำมาประกอบการพิจารณานั้นมีทั้งค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินอื่น ๆ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและตามสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 49

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

 

Facebook Comments