Home คดีอาญา นำหมายจับปลอมมาหลอกลวงผู้เสียหาย มีความผิดฐานใดบ้าง

นำหมายจับปลอมมาหลอกลวงผู้เสียหาย มีความผิดฐานใดบ้าง

3954

นำหมายจับปลอมมาหลอกลวงผู้เสียหาย มีความผิดฐานใดบ้าง

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 265, 268, 337 ริบสำเนาหมายจับปลอมของกลาง และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินและราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 430,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 337 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานใช้เอกสารราชการปลอม จำคุก 2 ปี ฐานกรรโชก จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินและราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 430,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ริบสำเนาหมายจับปลอมของกลาง ส่วนข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยรับจ้างผู้เสียหายช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินที่นางสาวณัฐฐา บุตรสาวผู้เสียหายก่อหนี้ต่อเจ้าหนี้ไว้หลายรายเป็นเงินหลายสิบล้านบาท ระหว่างวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายติดต่อให้จำเลยช่วยพานางสาวณัฐฐากลับบ้านเพราะกลัวว่านางสาวณัฐฐาจะถูกจับดำเนินคดีโดยผู้เสียหายมอบพระพุทธรูปบูชา 50 องค์ และโต๊ะหมู่บูชา พร้อมกับโอนเงิน 260,000 บาท เข้าบัญชีภริยาของจำเลย สำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารราชการยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยโจทก์ไม่อุทธรณ์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ในความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม แม้โจทก์จะไม่มีพยานยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้ปลอมหมายจับของศาลชั้นต้น แต่โจทก์มีนายชนะชาติ ทนายความของนางเต้าเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยมาขอถ่ายสำเนาหมายจับคดีที่นางเต้าเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวณัฐฐา เพื่อให้ผู้เสียหายและนางสาวณัฐฐาดู เพื่อที่ผู้เสียหายและนางสาวณัฐฐาจะได้รีบหาเงินมาผ่อนชำระหนี้ จึงให้สำเนาหมายจับจำเลยไป 1 ชุด และวันเกิดเหตุจำเลยมารับนางสาวณัฐฐาไปเจรจาเรื่องหนี้สินที่บริเวณหลังที่ทำการศาลชั้นต้น โดยนายชูชาติ พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า เห็นจำเลยยื่นหมายจับของศาลที่มีชื่อนางมุกดา เป็นโจทก์ให้นางสาวณัฐฐา ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่เบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 9 นาฬิกา นางสาวณัฐฐาโทรศัพท์มาหาผู้เสียหายบอกว่ามีหมายจับของนางมุกดาอีกคดีหนึ่งซึ่งผู้เสียหายและนางสาวณัฐฐาไม่ทราบว่านางมุกดาได้ฟ้องคดีแก่นางสาวณัฐฐาหรือไม่ หลังจากนั้นนายชูชาติให้จำเลยและนางสาวณัฐฐาไปเจรจากันในรถยนต์ของนายชูชาติสองต่อสอง ต่อมานายชูชาตินำรถยนต์ไปล้างจึงพบสำเนาหมายจับ และนำไปให้ผู้เสียหายตรวจสอบเนื่องจากนายชูชาติยืนยันว่า ไม่ได้ฟ้องนางสาวณัฐฐา เมื่อฟังประกอบกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่เบิกความว่า จำเลยได้โทรศัพท์มาหาผู้เสียหายหลายครั้ง แจ้งว่านางมุกดาให้ชำระหนี้ ในที่สุดตกลงกันที่ยอดเงิน 1,000,000 บาท ผู้เสียหายไม่มีเงินจึงต้องยอมนำพระพุทธรูป 50 องค์ มอบแก่จำเลย แต่จำเลยอ้างว่านางมุกดาบอกว่าไม่พอ ผู้เสียหายจึงโอนเงินอีก 260,000 บาท เข้าบัญชีของภริยาจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์ตามที่นำสืบมารับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้นำสำเนาหมายจับ ไปแสดงให้นางสาวณัฐฐาดูจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมแล้ว นั้น โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า นางสาวณัฐฐาบุตรสาวผู้เสียหายมีหนี้สินเนื่องจากการซื้อขายกุ้งเป็นเงินหลายสิบล้านบาท เฉพาะนางเต้าเป็นหนี้อยู่ 10,000,000 บาทเศษ จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องโดยมาช่วยเจรจาหนี้สินให้แก่นางสาวณัฐฐา วันเกิดเหตุเวลา 8 นาฬิกา จำเลยโทรศัพท์มาหาผู้เสียหายให้พานางสาวณัฐฐาไปพบกับจำเลยที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์ บริเวณวัดพันท้ายนรสิงห์ เพื่อถอนคดีที่บริษัทยูนิตี้ เป็นโจทก์ฟ้อง แต่ผู้เสียหายไม่ได้ไปด้วย ต่อมาเวลา 9 นาฬิกา นางสาวณัฐฐาโทรศัพท์มาบอกผู้เสียหายว่า มีหมายจับที่นางมุกดาเป็นโจทก์อีกหนึ่งคดีซึ่งไม่ทราบว่านางมุกดาได้ยื่นฟ้องคดีไว้หรือไม่ หลังจากนั้นจำเลยโทรศัพท์มาหาผู้เสียหายบอกว่ามีหมายจับในคดีที่นางมุกดาเป็นโจทก์และมีเจ้าหนี้อีกหลายคน เจ้าพนักงานตำรวจจะจับนางสาวณัฐฐา ผู้เสียหายตกใจกลัวว่านางสาวณัฐฐาจะต้องเข้าคุกจึงถามจำเลยไปว่า จะต้องทำยังไง จำเลยบอกว่าไม่เป็นไรจะช่วยเจรจากับเจ้าหนี้ให้ หลังจากนั้นจำเลยโทรศัพท์มาหาผู้เสียหายบอกว่านางมุกดาต้องการเงิน 1,000,000 บาท ผู้เสียหายบอกจำเลยว่า วันนี้ไม่มีเงิน คงต้องยอมให้นางสาวณัฐฐาติดคุก จำเลยบอกว่าไม่เป็นไรจะช่วยเจรจาให้และบอกให้ผู้เสียหายนำพระเครื่องที่มีอยู่มาให้ เหตุที่จำเลยรู้ว่าผู้เสียหายมีพระเครื่องเพราะจำเลยเคยมาเห็นที่บ้าน ผู้เสียหายจึงยอมให้จำเลยนำพระเครื่องไปเพื่อเจรจาชำระหนี้แก่นางมุกดา ต่อมาจำเลยโทรศัพท์มาหาผู้เสียหายอีกบอกว่านางมุกดาไม่ยอม ขอเพิ่มเงินอีก 260,000 บาท วันรุ่งขึ้นจำเลยให้คนมาขนพระเครื่องพร้อมโต๊ะหมู่บูชา ส่วนเงิน 260,000 บาท ผู้เสียหายโอนไปเข้าบัญชีภริยาจำเลยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2556 นายชูชาติสามีนางมุกดา โทรศัพท์มาบอกผู้เสียหายว่านางสาวณัฐฐาลืมเอกสารไว้ในรถยนต์ของนายชูชาติคือ สำเนาหมายจับ ผู้เสียหายถามนายชูชาติว่าหนี้สินของนางมุกดาได้มีการแจ้งความดำเนินคดีแก่นางสาวณัฐฐาแล้วหรือยัง นายชูชาติตอบว่ายังไม่มีการฟ้องคดี แต่จำเลยและนางสาวณัฐฐาเคยเข้าไปพูดคุยกันในรถยนต์ของนายชูชาติ และนายชูชาติบอกผู้เสียหายว่าจำเลยเป็นคนมอบสำเนาหมายจับ แก่นางสาวณัฐฐาในรถยนต์ของนายชูชาติ ผู้เสียหายจึงขอสำเนาหมายจับดังกล่าวจากนายชูชาติให้คนไปตรวจสอบที่ศาลชั้นต้นจึงทราบว่าหมายเลขคดีที่ปรากฏในสำเนาหมายจับ เป็นหมายเลขคดีที่นางเต้าเป็นโจทก์ เมื่อทราบว่าเป็นหมายจับปลอมผู้เสียหายจึงไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย นายชูชาติ สามีนางมุกดา พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า นางสาวณัฐฐากับนางมุกดาเป็นเพื่อนกันและทำธุรกิจร่วมกัน นางสาวณัฐฐาเป็นหนี้นางมุกดาอยู่เป็นเงิน 15,700,000 บาท มีการเจรจากันมาตลอด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2556 พยานพบจำเลยที่บริเวณศาลชั้นต้น โดยวันดังกล่าวพยานเดินทางไปที่ศาลเนื่องจากจำเลยโทรศัพท์มาแจ้งว่าจะพานางสาวณัฐฐามาพูดคุยเจรจายอดหนี้คดีที่บริษัทยูนิตี้เป็นโจทก์ฟ้องโดยมีนางมุกดาร่วมมาด้วย แต่เมื่อพบและเจรจากันแล้ว นางมุกดาโมโหเดินออกไปที่อื่น พยานจึงเข้าไปพูดคุยกับนางสาวณัฐฐาแทน ระหว่างนั้นพยานได้ยินจำเลยพูดกับนางสาวณัฐฐาว่านางสาวณัฐฐายังมีหมายจับอีกหลายคดี และเห็นจำเลยถือหมายจับอยู่ในมือโดยหมายจับใบหนึ่งมีชื่อ นางมุกดาเป็นโจทก์ พยานเข้าใจว่าน่าจะเป็นหมายจับที่ไปแจ้งความไว้เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2554 แต่ที่ไปแจ้งความไว้ไม่ได้เป็นการแจ้งความให้ดำเนินคดี เพียงแต่แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจลงบันทึกรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐาน หลังพูดคุยอีกครู่หนึ่งนางสาวณัฐฐาบอกว่ารู้สึกอายที่มีเจ้าหนี้หลายราย และชวนพยานกับจำเลยเข้าไปพูดคุยในรถยนต์ของพยานที่จอดอยู่ใกล้บริเวณศาล เมื่อเดินไปถึงที่รถ จำเลยบอกพยานว่า ขอพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับนางสาวณัฐฐา พยานจึงยืนรออยู่ข้างรถและไม่ได้ยินเสียงพูดคุยของจำเลยและนางสาวณัฐฐา หลังจากนั้นพยานเห็นจำเลยลงจากรถไปพูดคุยโทรศัพท์นานประมาณ 1 ชั่วโมง ภายหลังต่อมาจึงทราบว่าจำเลยโทรศัพท์ไปพูดคุยกับผู้เสียหาย ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2556 เวลา 9 นาฬิกา ขณะพยานล้างรถยนต์ของพยานได้พบสำเนาหมายจับ ในช่องเก็บของบริเวณประตูซ้ายมือด้านหลังของรถ พยานรู้สึกแปลกใจ จึงไปพูดคุยกับนางมุกดาว่าไม่เคยแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่นางสาวณัฐฐา เหตุใดจึงมีหมายจับของศาลได้ พยานไปสอบถามเพื่อนที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจจึงทราบว่า กรณีดังกล่าวไม่สามารถออกหมายจับได้ วันเดียวกันเวลา 13 นาฬิกา พยานจึงไปหาผู้เสียหายมอบสำเนาหมายจับ แก่ผู้เสียหาย และเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า สำเนาหมายจับจะเป็นฉบับเดียวกันกับที่เห็นในวันเกิดเหตุหรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่เอกสารที่เห็นจำเลยให้นางสาวณัฐฐาดู ดูแล้วลักษณะคล้ายหมายจับ และโจทก์มีนางพีระญาณ์ หรือนางมุกดา เป็นพยานเบิกความว่า พยานและนางสาวณัฐฐาทำธุรกิจซื้อกุ้งด้วยกัน โดยนางสาวณัฐฐามีหนี้ค้างชำระพยานอยู่เป็นเงิน 15,700,000 บาท เมื่อประมาณปลายปี 2555 จำเลยโทรศัพท์มาหาพยาน บอกให้พยานไปพบที่โรงงานของผู้เสียหายเนื่องจากได้นัดหมายบรรดาเจ้าหนี้ของนางสาวณัฐฐามาประชุมกัน พยานพร้อมสามีคือนายชูชาติไปที่โรงงานดังกล่าวพบจำเลยแนะนำตัวเองว่าชื่อ “มานพ” และอ้างว่าเป็นน้องชายของผู้เสียหายจะมาพูดเจรจาหนี้ให้ และมีการตกลงว่าจะลดหนี้ให้นางสาวณัฐฐาเหลือเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ของต้นเงิน เป็นเงินประมาณ 2,400,000 บาทเศษ ต่อมาวันที่ 7 มกราคม 2556 จำเลยโทรศัพท์มาหาพยานบอกว่าจะพานางสาวณัฐฐามาพบที่ศาลชั้นต้น เพื่อพูดคุยเรื่องหนี้ที่ค้างชำระ พยานเดินทางไปพร้อมกับนายชูชาติ เห็นจำเลยกับนางสาวณัฐฐาเดินทางมาที่บริเวณศาลและเห็นจำเลยถือเอกสารบางอย่างในมือ พยานเข้าไปพูดคุยกับนางสาวณัฐฐาได้ครู่หนึ่งแล้วโต้เถียงกัน นายชูชาติเดินเข้ามาห้ามและบอกว่าจะเจรจากับนางสาวณัฐฐาเอง พยานจึงเดินออกไป หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง นายชูชาติโทรศัพท์ตามให้พยานกลับไปที่บริเวณศาลชั้นต้นและบอกว่าไม่สามารถพูดคุยกับนางสาวณัฐฐาได้ พยานไม่เห็นนางสาวณัฐฐาและจำเลยที่บริเวณดังกล่าวแล้ว หลังจากวันนั้น นายชูชาติเล่าให้พยานฟังว่า ในวันที่มาเจรจากันที่บริเวณศาลชั้นต้น จำเลยได้โทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายอ้างว่าพยานต้องการเงินสด 1,000,000 บาท แต่ผู้เสียหายไม่มีเงินจำนวนดังกล่าวให้ จำเลยบอกนายชูชาติว่า ผู้เสียหายจะนำพระเครื่องมาขายแก่จำเลย จะได้เงินประมาณ 700,000 บาท กับเงินสดอีก 200,000 บาทเศษ มาชำระหนี้แก่พยาน ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2556 นายชูชาตินำรถยนต์ไปล้างและพบสำเนาหมายจับ นายชูชาตินำเอกสารดังกล่าวมาให้ดูและถามพยานว่าได้มีการแจ้งความดำเนินคดีแก่นางสาวณัฐฐาหรือไม่ พยานตอบนายชูชาติว่าไม่เคยแจ้งความดำเนินคดีแก่นางสาวณัฐฐา เพียงแต่เคยไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจเมืองสมุทรสาคร นายชูชาติโทรศัพท์ไปถามเพื่อนที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วทราบว่าการที่พยานไปแจ้งความเป็นหลักฐานไม่สามารถออกหมายจับได้ นายชูชาติจึงนำสำเนาหมายจับดังกล่าวไปมอบแก่ผู้เสียหาย และเบิกความว่าตามสำเนาหมายจับ ที่ระบุว่า “นางมุกดา ถ้วยทอง” ในช่วงเวลาดังกล่าวพยานจะใช้ชื่อสกุลว่า “ถ้วยทองนพเก้า” ที่สำเนาหมายจับระบุชื่อสกุลของพยานว่า “ถ้วยทอง” จึงไม่ถูกต้อง และคนที่ไม่สนิทสนมกับพยานจะไม่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว ส่วนพันตำรวจโทภาณุพันธ์ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า กรณีที่ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหากรรโชกทรัพย์ มีและใช้เอกสารราชการปลอม พยานได้ไปตรวจสอบที่ศาลชั้นต้นแล้วพบว่าสำเนาหมายจับ เป็นสำเนาหมายจับปลอม ตามหนังสือตรวจสอบ และเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า พยานได้เรียกนายชนะชาติมาเป็นพยานในคดี นายชนะชาติให้การว่าได้มอบสำเนาหมายจับให้แก่จำเลยไปโดยสำเนาหมายจับที่มอบให้ไประบุว่า นางเต้า เป็นโจทก์ ในข้อเดียวกัน จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยเจรจาลดหนี้ของนางสาวณัฐฐาบุตรผู้เสียหายซึ่งมีเจ้าหนี้อยู่หลายรายเป็นเงินหลายล้านบาท โดยรายนางมุกดา จำเลยไกล่เกลี่ยแล้วได้ข้อตกลงว่า นางมุกดาจะลดหนี้จาก 15,000,000 บาทเศษ เหลือ 2,400,000 บาทเศษ ส่วนเจ้าหนี้รายนางเต้า เจรจาตกลงกันไม่ได้ จำเลยไปเจรจากับนายชนะชาติ ทนายความของนางเต้า แต่นายชนะชาติไม่ยอมตกลงโดยอ้างว่าศาลจะพิพากษาคดีแล้ว วันที่ 4 มกราคม 2556 จำเลยติดต่อไปหานายชนะชาติอีก นายชนะชาติบอกจำเลยว่าศาลมีคำพิพากษาและออกหมายจับนางสาวณัฐฐาแล้วและนายชนะชาติมอบหมายจับแก่จำเลยเพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายเห็นหมายจับแล้วก็ไม่ได้ชำระหนี้แก่นางเต้า ช่วงเย็นวันเดียวกันนางสาวณัฐฐาติดต่อจำเลยเรื่องที่จะถอนคดีบริษัทยูนิตี้ โดยนัดหมายไปพบกันในวันที่ 5 มกราคม 2556 เมื่อไปถึงบริเวณศาลชั้นต้นจำเลยได้ยินนางมุกดาพูดกับนางสาวณัฐฐาว่ายังมีเจ้าหนี้ตามมาอีก 20 ถึง 30 คน จำเลยจึงให้นางสาวณัฐฐาชวนนางมุกดามาที่รถของจำเลยเพื่อพูดคุยกัน นางมุกดาบอกนางสาวณัฐฐาว่าต้องการเงิน 1,000,000 บาท จึงจะยุติคดีและบอกนางสาวณัฐฐาว่ายังมีหมายจับที่นางเต้า เป็นโจทก์ฟ้องคดีอยู่ แต่จำเลยไม่เห็นหมายจับ หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง นางสาวณัฐฐาโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายแล้วยื่นโทรศัพท์ให้จำเลยพูดกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายบอกจำเลยว่าทำอย่างไรก็ได้ให้พานางสาวณัฐฐากลับบ้านให้ได้ จำเลยรับปากว่าจะพานางสาวณัฐฐา กลับบ้าน และเบิกความว่า ระหว่างพูดคุยกันก่อนหน้านั้นนางสาวณัฐฐาบอกนายชูชาติและนางมุกดาว่าบิดานางสาวณัฐฐามีพระเครื่องจำนวนมาก จะให้บิดานำพระเครื่องมาตีใช้หนี้ แต่นางมุกดาบอกว่าพระเครื่องอย่างเดียวไม่พอต้องนำเงินสดมาใช้หนี้ด้วย และมีการพูดคุยตกลงกันได้ที่จำนวนเงิน 260,000 บาท ในวันดังกล่าวจำเลยมีเงินติดตัวอยู่ 60,000 บาท จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวชำระหนี้นางมุกดาไปก่อน ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2556 ผู้เสียหายได้โอนเงิน 260,000 บาท มาให้จำเลยโดยเข้าบัญชีของนางสุภาพร ภริยาจำเลย จำเลยจึงโอนเงินไปให้นายชูชาติ 200,000 บาท ในวันที่ 5 มกราคม 2556 บิดานางสาวณัฐฐาบอกนายชูชาติและนางมุกดาให้ไปเอาพระเครื่องที่โรงงานแต่เจ้าของโรงงานไม่ยอมให้พระเครื่องมา จำเลยไปเจรจากับเจ้าของโรงงานคนใหม่จนยอมตกลงให้พระเครื่องมา วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ผู้เสียหายโทรศัพท์มาหาจำเลยบอกให้ไปช่วยนำพระเครื่องกลับมาให้ จำเลยไปเจรจากับนายชูชาติจนนายชูชาติยอมคืนพระเครื่อง จำเลยนำพระเครื่องดังกล่าวมาไว้ที่บ้านของจำเลยและโทรศัพท์ไปบอกให้ผู้เสียหายมารับพระเครื่องคืน ผู้เสียหายบอกว่าฝากไว้ที่จำเลยก่อนจนกระทั่งวันที่ 1 มีนาคม 2556 ผู้เสียหายพาเจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมจำเลยพร้อมกับยึดพระเครื่องดังกล่าวไป และเบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ว่า จำเลยกับนายชูชาติ นางมุกดา และนายชนะชาติไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน เห็นว่า โจทก์มีนายชนะชาติทนายความของนางเต้าซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสาวณัฐฐาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นคนขอถ่ายสำเนาหมายจับ โดยจำเลยอ้างต่อนายชนะชาติว่า จะนำสำเนาหมายจับฉบับดังกล่าวไปให้ผู้เสียหายและนางสาวณัฐฐาดู ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า วันเกิดเหตุเวลา 9 นาฬิกา นางสาวณัฐฐาโทรศัพท์มาหาผู้เสียหายบอกว่ายังมีหมายจับของนางมุกดาอีกหนึ่งคดีคือ สำเนาหมายจับที่มีข้อความรายละเอียดทุกอย่างเหมือนข้อความในสำเนาหมายจับ คงแตกต่างเฉพาะชื่อโจทก์ในคดีที่ระบุว่า นางมุกดา เป็นโจทก์ซึ่งนางมุกดาเบิกความว่า ตนเองยังไม่เคยดำเนินคดีแก่นางสาวณัฐฐา อีกทั้งศาลชั้นต้นมีหนังสือยืนยันว่าสำเนาหมายจับ ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาครส่งไปให้ตรวจสอบ มีการแก้ไขชื่อโจทก์จากนางเต้า เป็นนางมุกดา เมื่อได้ความจากนายชูชาติพยานโจทก์ว่า วันเกิดเหตุพยานให้จำเลยและนางสาวณัฐฐาเข้าไปพูดคุยกันในรถยนต์ของพยาน ต่อมาพยานพบสำเนาหมายจับที่มีการทำปลอมขึ้นภายในรถยนต์ของพยาน ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ในวันเกิดเหตุ นางสาวณัฐฐาโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายบอกว่ายังมีหมายจับของนางมุกดาอีกหนึ่งคดี ซึ่งนางมุกดาพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า พยานไม่เคยดำเนินคดีแก่นางสาวณัฐฐา พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้นำสำเนาหมายจับ 8 ซึ่งเป็นหมายจับปลอมไปแสดงต่อนางสาวณัฐฐา ทำให้นางสาวณัฐฐาต้องโทรศัพท์ไปบอกผู้เสียหาย และผู้เสียหายกลัวว่านางสาวณัฐฐาจะถูกจับกุมดำเนินคดีจึงยอมมอบพระเครื่องพร้อมโต๊ะหมู่บูชา และโอนเงินไปเข้าบัญชีภริยาจำเลยอีกส่วนหนึ่ง แม้โจทก์จะไม่ได้ตัวนางสาวณัฐฐามาเบิกความ ก็ไม่ถือว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยถึงกับรับฟังไม่ได้ และเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยมีความผิดฐานกรรโชกด้วยหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สามจนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก …”เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องโดยผู้เสียหายว่าจ้างให้จำเลยมาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ให้แก่นางสาวณัฐฐา แต่จำเลยทำผิดหน้าที่โดยฉกฉวยโอกาสนำสำเนาหมายจับปลอมมาใช้แสดงต่อนางสาวณัฐฐา ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่านางสาวณัฐฐาจะถูกจับกุมดำเนินคดีตามสำเนาหมายจับปลอมดังกล่าว และผู้เสียหายยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยไป แม้จำเลยจะไม่ได้แสดงการขู่เข็ญด้วยตัวของจำเลยเอง แต่การกระทำของจำเลยที่นำสำเนาหมายจับปลอมมาใช้ประกอบการขู่เข็ญ ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของนางสาวณัฐฐา บุตรสาวผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานกรรโชกแล้ว หาใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง พฤติการณ์ที่จำเลยนำสำเนาหมายจับปลอมไปแสดงต่อนางสาวณัฐฐา บุตรผู้เสียหาย ทำให้นางสาวณัฐฐาต้องโทรศัพท์ไปบอกผู้เสียหาย และผู้เสียหายกลัวว่านางสาวณัฐฐาจะถูกจับกุมดำเนินคดี จึงยอมมอบพระเครื่องพร้อมโต๊ะหมู่บูชา และโอนเงินไปเข้าบัญชีภริยาจำเลยอีกส่วนหนึ่ง เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้รับทรัพย์สินไปจากผู้เสียหายเป็นหลัก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาได้เป็นความผิดสองกรรมต่างกันดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 337 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

สรุป

จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องโดยผู้เสียหายว่าจ้างให้จำเลยมาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ให้แก่ ณ. แต่จำเลยทำผิดหน้าที่โดยฉกฉวยโอกาสนำสำเนาหมายจับปลอมมาใช้แสดงต่อ ณ. ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่า ณ. จะถูกจับกุมดำเนินคดีตามสำเนาหมายจับปลอมดังกล่าว และผู้เสียหายยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยไป แม้จำเลยจะไม่ได้แสดงการขู่เข็ญด้วยตัวของจำเลยเอง แต่การกระทำของจำเลยที่นำสำเนาหมายจับปลอมมาใช้ประกอบการขู่เข็ญ ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของ ณ. บุตรสาวผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานกรรโชกแล้ว และเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

Facebook Comments