Home คดีแพ่ง รวมคำพิพากษาฎีกา สู้คดีแชร์ล้ม

รวมคำพิพากษาฎีกา สู้คดีแชร์ล้ม

7106

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2559
โจทก์และจำเลยร่วมกันเล่นแชร์ จำเลยประมูลแชร์ไปแล้วออกเช็คผู้ถือไม่ได้ลงวันที่ระบุจำนวนเงินค่าแชร์มอบให้ ว. ไว้ โจทก์ยังไม่ได้ประมูลแชร์และได้รับเช็คดังกล่าวจาก ว. โดยสุจริตเพื่อชำระค่าแชร์ ต่อมาแชร์ล้มและ ว. หลบหนี โจทก์หมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้โจทก์ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้มตั้งแต่งวดวันที่ 20 สิงหาคม 2553 โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ตามข้อตกลงเล่นแชร์แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวงแชร์ล้มเป็นเวลากว่า 3 ปี จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตและจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็ค ตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1002

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น เป็นการไม่ถูกต้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงเห็นควรหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552

พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและเพื่อมิให้มีการประกอบธุรกิจการเล่นแชร์ที่กระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แต่การเล่นแชร์ของประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจยังให้กระทำต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ประการ เช่น ตามมาตรา 6 (3) อีกทั้งมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บัญญัติเอาความผิดแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 6 แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์จะเอาความผิดเฉพาะผู้เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกวงแชร์มีความผูกพันตามกฎหมายอยู่อย่างไรความผูกพันย่อมมีอยู่เช่นนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คเงินค่าแชร์มอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล เพื่อให้โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าแชร์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อวงแชร์ล้มในวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 และเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกัน โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2551

พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ มาตรา 6 (3) ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ที่ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เป็นการห้ามนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มีบทบัญญัติห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ ทั้งมาตรา 7 ยังระบุว่าบทบัญญัติมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์อีกด้วย การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงระหว่างสมาชิกผู้เล่นซึ่งมีผลผูกพันและบังคับกันได้ตามกฎหมาย

เมื่อ ด. นายวงแชร์ถึงแก่ความตาย มีผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลแชร์ 3 ราย คือ โจทก์ ท. และ ส. ดังนั้นบุคคลทั้งสามเท่าที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์และผู้ที่จะเสนอคำประมูลแชร์ได้ก็มีเพียงสามคนนี้เท่านั้น ผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อไม่มีผู้จัดให้มีการประมูลแชร์ การที่โจทก์ ท. และ ส. ตกลงกันใช้วิธีจับสลากอันดับก่อนหลังแทนการให้ดอกเบี้ย นับเป็นวิธีการที่ทำให้การเล่นแชร์วงนี้สามารถดำเนินต่อไปได้จนจบโดยผู้เล่นแชร์ได้รับเงินจนครบทุกคน และผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ ไม่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบแต่อย่างใดดังนั้น ความรับผิดของผู้เล่นแชร์คนอื่นๆ จึงยังคงต้องมีอยู่อีกต่อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3393/2548

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์ทั้งห้ากับพวกเป็นลูกวงแชร์ซึ่งมีจำเลยเป็นนายวงแชร์เป็นแชร์ชนิดดอกตาม 9 วง หุ้นละ 500 บาท 8 วง และหุ้นละ 300 บาท 1 วง กำหนดประมูลแชร์วันที่ 5, 15, 20, 25, 30 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2537 จำเลยมีหน้าที่เรียกเก็บเงินจากลูกวงแชร์มาให้ผู้ประมูลได้ หากเรียกเก็บจากลูกวงแชร์คนใดไม่ได้ จำเลยต้องชำระเงินแทนไปก่อนแล้วเรียกเก็บเอาภายหลัง และหากจำเลยไม่มอบเงินกองกลางให้แก่ผู้ประมูลได้ ถือว่าจำเลยผิดสัญญาต้องใช้เงินกองกลางทั้งหมดแก่ลูกวงแชร์ จำเลยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนโดยได้รับเงินกองกลางวงแชร์งวดแรกไปใช้ประโยชน์ก่อนโดยไม่ต้องประมูล ต่อมาวงแชร์ล้มโดยที่โจทก์ทั้งห้ายังไม่ได้ประมูล จำเลยในฐานะนายวงแชร์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่างวดรวมทั้งดอกเบี้ยแชร์แก่โจทก์ทั้งห้า คำฟ้องดังกล่าวได้บรรยายให้เห็นถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยแล้วว่าเป็นอย่างไร และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าเพราะเหตุใด เป็นเงินจำนวนเท่าใด ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์แต่ละคนร่วมเล่นแชร์วงที่เท่าใด เล่นคนละกี่มือ แชร์แต่ละวงที่ร่วมเล่นมีการประมูลไปแล้วกี่มือ ยังไม่ได้ประมูลกี่มือ โจทก์แต่ละคนส่งค่าแชร์ไปแล้วกี่งวดเป็นเงินเท่าใด และยังค้างส่งอีกกี่งวด นั้น แม้จะไม่บรรยายมาในคำฟ้องก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ทั้งห้าจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ไม่เคลือบคลุมแต่อย่างใด

เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จะต้องคำนวณจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันตามข้อหาของการผิดสัญญาเล่นแชร์แต่ละวง โดยทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำหรับแชร์วงแรก มีจำนวน 42,787.23 บาท ต้องถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรกเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับแชร์วงแรกเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนอุทธรณ์ในดอกเบี้ยค้างชำระเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เพราะหนี้ประธานต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรก การที่โจทก์เพียงยื่นคำแก้ฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาใหม่ โดยพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 บังคับให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งคำแก้ฎีกาของโจทก์ไม่มีผลเป็นการฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งในประเด็นดังกล่าว คดีสำหรับแชร์วงแรกจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2547

จำเลยฎีกา หนี้ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระสำหรับแชร์วงที่สองซึ่งเกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความแล้ว นั้น เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าแชร์วงที่สองจัดตั้งเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2532 แล้วแชร์ล้มก่อนครบกำหนด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยนับแต่แชร์ล้ม แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความซึ่งมีกำหนด 5 ปี คำให้การของจำเลยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าหนี้ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งเกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระขาดอายุความ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความดอกเบี้ยค้างชำระสำหรับแชร์วงที่สองนั้นชอบแล้ว

ยอดหนี้ค่าแชร์วงที่สองของโจทก์จำนวนสามหุ้นกับดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องคำนวณยอดเงินได้ 119,547.50 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์เพียง 118,566.16 บาท เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาและกรณีมิใช่การผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย จึงไม่มีเหตุที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2547

เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จะต้องคำนวณจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันตามข้อหาของการผิดสัญญาเล่นแชร์แต่ละวงโดยทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำหรับแชร์วงแรก มีจำนวน 42,787.23 บาท ต้องถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรกเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับแชร์วงแรกเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนอุทธรณ์ในดอกเบี้ยค้างชำระเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เพราะหนี้ประธานต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรก การที่โจทก์เพียงยื่นคำแก้ฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาใหม่ โดยพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 บังคับให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งคำแก้ฎีกาของโจทก์ไม่มีผลเป็นการฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งในประเทศดังกล่าว คดีสำหรับแชร์วงแรกจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าแชร์วงที่สองจัดตั้งเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2532 แล้วแชร์ล้มก่อนครบกำหนด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยนับแต่แชร์ล้ม แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความซึ่งมีกำหนด 5 ปี คำให้การของจำเลยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าหนี้ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งเกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความ เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระขาดอายุความ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความดอกเบี้ยค้างชำระสำหรับแชร์วงที่สองนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2926/2544

เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลย เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็จะตกได้แก่ผู้นั้น กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็ต้องรับผิดแทน ซึ่งเป็นความผิดในทางแพ่งจำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงเท่านั้นมิได้บัญญัติว่าจะต้องจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มากกว่าสามวงดังกล่าวขึ้นมาพร้อม ๆ กันในวันเดียวกัน จึงจะเป็นความผิด เมื่อจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีจำเลยเป็นนายวงแชร์ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าสามวงจึงเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 มาตรา 4,6,17 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมคงเป็นผู้เสียหายและเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เท่านั้น ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2533

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์กับจำเลยและผู้อื่นร่วมกันเล่นแชร์โดย จำเลยเป็นนายวงมีหน้าที่รับผิดชอบในการเล่นแชร์ ต่อมาวงแชร์ล้มเลิก โจทก์ยังได้ รับเงินค่าแชร์ขาดอยู่เป็นจำนวนเท่าใด ขอให้บังคับจำเลยในฐานะ นายวงแชร์ ชดใช้ส่วนที่ยังขาดอยู่ให้แก่โจทก์คำฟ้องดังกล่าวได้ แสดงโดย แจ้งชัดซึ่ง สภาพ แห่ง ข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วส่วนใครร่วมเล่นแชร์ บ้าง มีใครประมูลได้ เมื่อไร จำนวนเงินเท่าไรประมูลกี่ครั้งและโจทก์ได้ ชำระเงินค่าแชร์แก่จำเลยกี่ครั้ง ชำระที่ไหน เมื่อใด นั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์ชอบจะนำสืบในชั้น พิจารณาหาจำต้องกล่าวมาในฟ้องไม่ ดังนั้นฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยเป็นนายวงแชร์ มีหน้าที่ต้อง รับผิดชอบในการเล่นแชร์ต่อ ลูกวงแชร์ตาม ที่ตกลง กัน เมื่อวงแชร์ ล้ม เลิก จำเลยไม่ สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกวงแชร์ได้ จำเลยกับลูกวงแชร์ที่ประมูลแชร์แล้วได้ ออกเช็ค เป็นประกันการชำระหนี้ค่าแชร์แก่โจทก์ซึ่ง ยังมิได้ประมูลแชร์ แต่ โจทก์รับเงินตาม เช็ค ไม่ได้ ดังนี้ จำเลยต้อง รับผิดใช้ เงินตาม จำนวนที่ลูกวงแชร์จะต้อง รับผิดต่อ โจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2965/2528

โจทก์จำเลยเป็นผู้เล่นแชร์วงเดียวกัน มีข้อตกลงกันว่าผู้เล่นแชร์ที่ประมูลได้ต้องออกเช็คสั่งจ่ายเงินฉบับละ30,000 บาท โดยไม่ลงวันสั่งจ่ายให้หัวหน้าวงแชร์นำไปเก็บเงินค่าแชร์และมอบเช็คนั้นให้ผู้เล่นแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้เมื่อถึงเดือนที่ผู้เล่นแชร์ประมูลได้ก็ให้ลงวันที่ 27 ของเดือนปีที่ประมูลได้ในเช็คที่รับไว้แล้วนำไปเรียกเก็บเงิน เช็คดังกล่าวจึงเป็นเช็คที่มีวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงเป็นวันที่ 27 ของเดือนปีที่ผู้ทรงเช็คประมูลได้ เมื่อจำเลยประมูลได้แล้ววงแชร์ล้ม ผู้ร่วมเล่นแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้และได้รับเช็คของจำเลยไว้ได้มีการจับสลากกันว่าผู้ใดจะนำเช็คไปเรียกเก็บเงินในเดือนใด โจทก์จับสลากได้และจะต้องลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คเป็นวันที่ 27 มิถุนายนหรือกรกฎาคม 2523 ตามข้อตกลง แต่โจทก์กลับลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คเป็นวันที่ 14 มกราคม 2525 จึงเป็นวันสั่งจ่ายที่ไม่ถูกต้องแท้จริง เป็นการไม่สุจริตและเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ถูกต้องแท้จริงในเช็คคดีโจทก์จึงขาดอายุความ คดีที่ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน แต่ถ้าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2518

การเล่นแชร์ เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างผู้เล่น ไม่มีนักกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำสัญญาหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ คงบังคับกันได้ตามหลักสัญญาทั่วไป เมื่อพฤติการณ์เป็นที่เข้าใจกันระหว่างผู้เล่นว่า จำเลยซึ่งเป็นนายวงตกลงยอมเป็นผู้รับผิดชอบใช้เงินแก่ลูกวงที่ยังไม่ได้ประมูล (เปีย) ในเมื่อวงแชร์ล้ม ดังนี้ เมื่อวงแชร์ล้มจำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งเป็นลูกวงและยังมิได้ประมูล

หากจะมีมติของคณะรัฐมนตรีห้ามข้าราชการและพนักงานองค์การของรัฐเล่นแชร์จริง ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับบัญชาทางวินัยเท่านั้นการเล่นวงแชร์หาได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมาย หรือขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะไม่

แม้โจทก์เปียแชร์วงอื่นซึ่งจำเลยเป็นนายวงได้ไปแล้วและโจทก์มีกำไรก็ตามก็เป็นเรื่องของแชร์วงนั้น ๆ จะให้นำกำไรนั้นมาหักออกจากจำนวนเงินที่โจทก์เสียหายและจำเลยต้องชดใช้ในวงพิพาพไม่ได้เพราะเป็นสัญญาต่างรายกัน ผู้เข้าเล่นแตกต่างกันไปทั้งจำนวนและผู้เข้าเล่นตลอดจนระยะเวลา

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @Lawyers.in.th

Facebook Comments