Home คดีอาญา การขอถอนคำให้การรับสารภาพเป็นปฏิเสธ หลังจากตกลงชดใช้ค่าเสียหายกับโจทก์แล้วสามารถทำได้หรือไม่

การขอถอนคำให้การรับสารภาพเป็นปฏิเสธ หลังจากตกลงชดใช้ค่าเสียหายกับโจทก์แล้วสามารถทำได้หรือไม่

9959

คำถาม

การขอถอนคำให้การรับสารภาพเป็นปฏิเสธ หลังจากตกลงชดใช้ค่าเสียหายกับโจทก์แล้วสามารถทำได้หรือไม่

คำตอบ เคยมีคำพิพากษาศาลฎ๊กาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18043/2555

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยทนายความจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดทำคำให้การให้ และศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสองพร้อมบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ประกอบกับจำเลยทั้งสองแถลงว่าประสงค์ที่จะเจรจาเรื่องยอดหนี้ในส่วนแพ่งและขอผ่อนชำระเงินให้ผู้เสียหาย ขอให้นัดพร้อม ต่อมาผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองตกลงกันโดยผู้เสียหายเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 400,000 บาท จำเลยทั้งสองขอเวลาหาเงินมาชำระให้ผู้เสียหายสักระยะหนึ่ง ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินให้ผู้เสียหายตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อกระบวนพิจารณากระทำในศาลโดยเปิดเผย จึงเป็นการให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจและมิได้สำคัญผิด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ จึงไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ แม้จำเลยทั้งสองจะให้การหรือไม่เป็นสิทธิของจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองให้การต่อศาลแล้ว การขอแก้คำให้การจำเลยทั้งสองสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของจำเลยทั้งสอง อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลถ้าเห็นสมควรจึงอนุญาตให้แก้ได้ การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 โดยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพและให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องโจทก์ ซึ่งมีผลเป็นการแก้คำให้การหลังจากที่ได้ให้การรับสารภาพและตกลงกับผู้เสียหายได้แล้ว โดยอ้างเหตุว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด ผู้ที่กระทำความผิดที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทราบคือ พ. กับพวก ซึ่งข้ออ้างของจำเลยทั้งสองแสดงว่าจำเลยทั้งสองรู้แต่แรกแล้วว่าผู้กระทำความผิดเป็นใคร ย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพ เช่นนี้ เห็นได้ว่าเป็นการที่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถหาเงินมาชำระให้ผู้เสียหายตามที่ตกลงกันไว้ได้เพื่อให้มีการสืบพยานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประวิงคดี จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุสมควร ไม่ชอบที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การ และคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี มิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป เมื่อจำเลยทั้งสองรับสารภาพในชั้นพิจารณา ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การและพิพากษาคดีไปตามคำให้การรับสารภาพจึงชอบแล้ว

ในคดีส่วนแพ่งเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 341 และมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย จำนวน 2,060,000 บาท ซึ่งเป็นคำขอส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไป ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงเงินผู้เสียหายไปและผู้เสียหายยังไม่ได้รับเงินคืนจำนวน 2,060,000 บาท แม้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้เสียหายแถลงติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในส่วนแพ่งเป็นเงิน 400,000 บาท ก็เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองเจรจาตกลงกันเท่านั้น มิใช่ผู้เสียหายไม่ได้รับความเสียหายทางแพ่งตามฟ้อง และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายก็แถลงต่อศาลว่าผู้เสียหายยังติดใจให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ขอท้ายฟ้อง ดังนี้ โจทก์จึงไม่ต้องสืบพยานหลักฐานในคดีส่วนแพ่งอีก

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันเริ่มพิจารณาศาลชั้นต้นได้สอบจำเลยทั้งสองเรื่องทนายความแล้ว จำเลยทั้งสองแถลงว่าจะหาทนายความเอง ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2554 จำเลยทั้งสองแต่งตั้ง ต. เป็นทนายความ ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง แล้ว ส่วนในวันนัดพร้อมหรือนัดฟังคำพิพากษา ต. ขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยทั้งสอง และศาลชั้นต้นอนุญาตก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแถลงต่อศาลขอเลื่อนคดีเพื่อให้จำเลยทั้งสองแต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินคดี แต่จำเลยทั้งสองกลับเจรจาตกลงกับผู้เสียหายเพื่อขอชำระเงินแก่ผู้เสียหายและขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ติดใจที่จะให้ทนายความดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในวันดังกล่าว ทั้งต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยทั้งสองได้แต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณา ดังนี้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

สรุป จะกระทำได้ต่อเมื่อเข้าเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 และศาลต้องอนุญาต

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @Lawyers.in.th

 

Facebook Comments