Home คดีครอบครัว รวมคำพิพากษา เรียกค่าทดแทนจากการฟ้องชู้

รวมคำพิพากษา เรียกค่าทดแทนจากการฟ้องชู้

5769

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2562

คำฟ้องโจทก์ขอเรียกค่าทดแทนจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้” จากพฤติการณ์ที่สามีโจทก์ไปพบจำเลยที่บ้านเช่าของจำเลยในช่วงเวลากลางคืนบ่อยครั้ง โดยขับรถมาเองหรือมาพร้อมกับจำเลยก็ตาม บางครั้งก็นอนพักค้างคืนที่บ้านจำเลยและกลับออกมาในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น อีกทั้งสามีโจทก์ยังมีกุญแจที่ใช้เปิดประตูเข้าออกบ้านจำเลยได้เอง แม้ในยามกลางดึกซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยเข้านอนแล้วก็สามารถเข้าบ้านจำเลยโดยไม่ต้องรอให้จำเลยเปิดประตูบ้านให้ อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากกว่าที่จะเป็นเพียงนายจ้างหรือลูกจ้างกันตามปกติธรรมดา การที่จำเลยเป็นหญิงที่แต่งงานมีสามีแล้ว ยินยอมให้สามีโจทก์ซึ่งเป็นชายอื่นเข้าออกบ้านจำเลยในเวลากลางคืนบ่อยครั้ง รวมทั้งให้มานอนค้างคืนที่บ้านแล้วออกจากบ้านไปช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น โดยบางครั้งมีการแต่งกายออกไปทำงานพร้อมกัน ย่อมทำให้เพื่อนบ้านหรือบุคคลอื่นที่พบเห็นถึงพฤติกรรมระหว่างจำเลยกับสามีโจทก์เข้าใจได้ว่า จำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการที่จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2561

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง โจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นได้นั้น ต้องมีข้อเท็จจริงว่า หญิงอื่นแสดงตนว่ามีความสัมพันธ์กับสามีตนในทำนองชู้สาว “โดยเปิดเผย” หน้าที่นำสืบให้ได้ความเช่นว่านั้นจึงตกแก่โจทก์ การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ช. สามีโจทก์ โดยได้ติดต่อกันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งข้อความทางโทรศัพท์ ส่งข้อความ (Chat) ทางระบบเครือข่ายไลน์ มีการนัดหมายกันไปมีเพศสัมพันธ์กันตามสถานที่ต่างๆ และมีคลิปวิดีโอภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ช. รวมถึง ช. ได้ส่งดอกไม้ให้จำเลยเป็นประจำ และโอนเงินเข้าบัญชีจำเลย โจทก์ได้มีหนังสือร้องเรียนถึงพฤติกรรมจำเลยไปที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคาร ก. เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมและตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยจำเลย แต่โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความเพียงปากเดียวว่า จำเลยกับ ช. มีพฤติกรรมดังกล่าว แม้จำเลยยอมรับในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยมีเพศสัมพันธ์กับ ช. จริง แต่จำเลยก็ไม่ได้รับว่าตนเองอยู่ในฐานะภริยาอีกคนของ ช. หรือ ช. ได้มีพฤติกรรมยกย่องตนเองฉันภริยาแต่อย่างใด ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอโจทก์ได้มาจาก ช. ทั้งสิ้น โดย ช. เก็บไว้ในโน๊ตบุ๊ก flashdrive และ external harddisk ช. เป็นผู้อธิบายให้โจทก์ฟังว่าสถานที่ต่างๆ คือที่ใดแสดงให้เห็นว่า การที่โจทก์รู้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ ช. กับจำเลยเกิดจากคำบอกเล่าของสามีของโจทก์เองหาใช่การกระทำของทั้ง ช. และจำเลยที่มีการแสดงออกโดยเปิดเผยจนเป็นที่รับรู้และเข้าใจต่อบุคคลอื่นไม่ ไม่ปรากฏพฤติกรรมว่า ช. ได้เลี้ยงดูยกย่องจำเลยเป็นภริยา หรือแยกไปอาศัยอยู่กินด้วยกัน หรือพาจำเลยไปเปิดตัวต่อผู้อื่นในที่ชุมชน หรือพาไปตามสถานที่ต่างๆ แบบเปิดเผย ไม่มีการแสดงออกทั้งภาพถ่าย และการระบุสถานะในสื่อสังคมออนไลน์ปรากฏต่อสาธารณชน ไม่มีพยานบุคคลอื่นที่รู้เห็นความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองไม่ว่าพนักงานโรงแรม พนักงานรักษาความปลอดภัย บิดามารดา เพื่อร่วมงานของจำเลยที่ธนาคาร ก. ที่สาขาพัทยา เพื่อนร่วมงานของโจทก์ เพื่อนของ ช. ลำพังเพียงรูปถ่ายของจำเลยกับ ช. ที่ไปมีเพศสัมพันธ์ตามสถานที่ต่างๆ และคลิปวิดีโอที่โจทก์ได้มาจากสามีตนเอง ไม่ใช่สิ่งที่สื่อถึงเจตนาที่แท้จริงของบุคคลทั้งสองว่าต้องการมีความสัมพันธ์แบบเปิดเผย โจทก์กลับนำพยานหลักฐานต่างๆ เหล่านี้มาได้ด้วยความยินยอมของ ช. โจทก์ส่งภาพการมีเพศสัมพันธ์ของจำเลยกับ ช. ไปให้ ส. น้องสาวจำเลยทางเครือข่ายไลน์ ทำให้เป็นที่เผยแพร่ไปในสังคม อันเป็นการกระทำด้วยตัวโจทก์เอง หาใช่จำเลยเป็นคนเผยแพร่ไม่ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองคนที่ย่อมต้องปกปิด แอบลักลอบกระทำกันในที่ลับ แม้ว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิในครอบครัวของโจทก์กับผู้เป็นภริยา แต่โจทก์ย่อมไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ เพราะจำเลยไม่ได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตามนัยแห่งบทบัญญัติมาตรา 1523 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4261/2560

โจทก์ในฐานะภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แม้ขณะฟ้องจะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีมิใช่การกระทำละเมิด

ส่วนปัญหาจำเลยต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เนื่องจากคู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10842/2559

ทั้งก่อนและหลังจากจำเลยทราบว่า ท. มีโจทก์เป็นภริยาแล้ว จำเลยยังติดต่อคบหาสมาคมกับ ท. และติดตาม ท. มาถึงสถานที่ทำงาน อยู่ในห้องทำงานของ ท. และมีเพศสัมพันธ์กันซึ่งมิใช่ที่รโหฐาน ปกปิดมิดชิดไม่มีผู้ใดล่วงรู้ เมื่อคนงานและเพื่อนร่วมงาน ท. ทราบว่า ท. มีภริยาแล้วและพบเห็นจำเลยกับ ท. มาที่บริษัท โดยจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยกับ ท. มีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษ หลังจากจำเลยทราบว่า ท. มีภริยาแล้ว ย่อมทำให้วิญญูชนทั่วไปมีเหตุอันควรเชื่อและเข้าใจว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับ ท. มากกว่าที่จะรู้จักกันในฐานะลูกค้าหรือบุคคลธรรมดาที่รู้จักกันทั่วไป ข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ ท. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แล้ว พฤติการณ์แห่งคดีที่ฟังยุติมาข้างต้นมิอาจแปลความว่า การกระทำของจำเลยมีลักษณะลักลอบมีเพศสัมพันธ์กับ ท. และพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยกับ ท.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1899/2559

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าทดแทน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่าประเด็นหย่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์โดยไม่ได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งศาลชั้นต้นสั่งให้ใช้แทน จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท และจำเลยที่ 2 เห็นว่ารับผิดในค่าธรรมเนียมแทนโจทก์เพียงกึ่งหนึ่งจึงวางเงินเพียง 3,260 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง เห็นว่าศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์มาโดยไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลเพิ่มเติม เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจผิดว่าตนปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องแล้ว แสดงว่าไม่จงใจจะกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย สมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป

โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนที่ล่วงเกินจำเลยที่ 1 ในทางชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 แต่ถูกจำเลยที่ 2 ข่มขืน จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันวางแผนทำลายชื่อเสียงจำเลยที่ 2 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโจทก์เข้าใจเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดีแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมไปในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และมิได้เป็นผู้ประพฤติชั่วและจะขออยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ไม่ประสงค์จะหย่าขาดจากกัน สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรูปคดีของจำเลยที่ 2 ประเด็นฟ้องหย่าจึงพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และเห็นควรหยิบยกปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แก่โจทก์หรือไม่ด้วย ซึ่งการกระทำในทำนองชู้สาวต้องมีผู้กระทำสองฝ่าย เมื่อฝ่ายหญิงคือ จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมแสดงว่าฝ่ายชายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีการกระทำในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558

บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า “ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง” แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2557

ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น” ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10851/2555

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง การที่ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาวได้ก็เฉพาะแต่หญิงนั้นต้องแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาว เมื่อโจทก์เพียงแต่สงสัยในความสัมพันธ์ระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย เช่น การที่สามีโจทก์ไปค้ำประกันหนี้เช่าซื้อรถยนต์ให้จำเลย การรับฟังผู้อื่นเล่ามาว่ามีคนต้องการโทรศัพท์ไปหาสามีโจทก์ เมื่อโทรหาจำเลยก็ติดต่อกับสามีโจทก์ก็ได้ หรือมีผู้เล่าว่าสามีโจทก์ไปหาจำเลยที่บ้านเช่า แต่ไม่ปรากฏว่า มีพยานอื่นสนับสนุนยังไม่พอฟังว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผย ทั้งการที่จำเลยกับสามีโจทก์อยู่ด้วยกันตามลำพังในโรงแรมชานเมือง แม้เป็นพฤติกรรมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อสิทธิที่โจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยนั้น จำเลยต้องแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลักลอบและพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยและสามีโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2552

แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยาแต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6164/2552

เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ไม่ว่าจะได้อุปการะหรือยกย่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ยังรับการอุปการะเลี้ยงดูและการยกย่องฉันภริยาอยู่อีกจึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสองได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2552

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทนกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีเป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย เมื่อโจทก์เรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยมิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงควรได้ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าว ศาลจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์ จำเลยและพฤติการณ์แห่งคดี อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองตามบทบัญญัติมาตรา 1525 ดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments