Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีลักทรัพย์นายจ้าง

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีลักทรัพย์นายจ้าง

33940

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12888/2558

ประธานกรรมการโจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินของโจทก์ร่วมไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพให้ไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 แล้ว แต่โจทก์ร่วมฎีกาว่าไม่รู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินโจทก์ร่วมไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด และโกงอย่างไร แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันใดที่มิใช่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพไว้ และรู้เรื่องความผิดก่อนไปแจ้งความร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน คดีจึงไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำผิดและรู้เรื่องความผิดตั้งแต่เมื่อใดก่อนวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 อันเป็นวันร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน กรณีไม่อาจทราบแน่ชัดว่าคดียังไม่ขาดอายุความ หรือไม่แน่ชัดว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิฟ้องคดีได้หรือไม่ จึงสมควรยกประโยชน์ให้แก่จำเลยทั้งสองว่าสำหรับข้อหาฉ้อโกงนั้น คดีขาดอายุความแล้ว โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฟ้องคดีข้อหานี้

ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องคดีนี้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองรับเงินจากธนาคารตามเช็คไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริตอันครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นการบรรยายฟ้องรวมการกระทำอื่นซึ่งอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสองในการกระทำผิดอื่นนั้นตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้พิจารณาลงโทษความผิดของจำเลยทั้งสองตามที่พิจารณาได้ความ ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิจารณาตามมาตรานี้โดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 215 และมาตรา 225 ได้เพราะข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบเช็คให้จำเลยที่ 2 ไปขึ้นเงินที่ธนาคารจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม ได้เงินของโจทก์ร่วมมาจำนวน 125,616 บาท โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 มอบเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มอบเงินคืนให้โจทก์ร่วมแล้วดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ย่อมไม่อาจร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้และมีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ แม้ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างด้วย ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 ก็ตาม แต่ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดโทษจำเลยทั้งสองให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เพราะจะเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยที่โจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558

ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2557

จำเลยมิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้จำเลยร่วมกับ น. ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายลักทรัพย์ของผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของ น. จึงไม่มีผลไปถึงจำเลยด้วย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2557

จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบเงินดังกล่าวไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3562/2556

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการไว้เป็นการเฉพาะให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานได้เฉพาะในข้อกฎหมาย ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นกรณีหนึ่งกรณีใดให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ จึงนำหลักการอุทธรณ์กรณีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างทำความเห็นแย้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง มาใช้กับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานไม่ได้

ตามวิธีปฏิบัติงาน เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ระบุการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์โดยสารแต่ละคันเติมด้วยยอดจำนวนเต็มหรือตามที่กำหนดในแต่ละสาย เมื่อครบจำนวนตามกำหนดพนักงานเติมน้ำมันจะดึงหัวจ่ายออกแล้วเก็บไว้ในที่เก็บและปิดฝาถังน้ำมันรถยนต์โดยสาร แสดงให้เห็นว่าน้ำมันที่ยังค้างอยู่ในหัวจ่ายเป็นน้ำมันของจำเลย แม้จะมีการตัดยอดจ่ายน้ำมันแล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีระเบียบให้ทิ้งน้ำมันดังกล่าว การที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเติมน้ำมันเทน้ำมันที่ค้างอยู่ที่หัวจ่ายใส่ถังน้ำมันและเอาไว้เป็นส่วนตัวจึงเป็นการลักทรัพย์นายจ้างซึ่งเป็นความผิดอาญาและจงใจไม่ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติงาน เป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 46 จำเลยมีอำนาจไล่โจทก์ออกได้ตามข้อบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1694/2555

จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2550 และร่วมกันปลอมใบส่งของ เล่มที่ 3/3 เลขที่ 18 ลงวันที่ 16 เมษายน 2550 อันเป็นเอกสารสิทธิของผู้เสียหาย แล้วนำใบส่งของที่ทำปลอมขึ้นไปแสดงต่อ ส. กรรมการผู้จัดการของผู้เสียหายในวันเดียวกัน แม้การปลอมเอกสารดังกล่าวจะกระทำภายหลังจากจำเลยทั้งสองลักทรัพย์สำเร็จ แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะใช้เอกสารปลอมที่ทำขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อปกปิดการกระทำของตนที่ได้ลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ฎีกาในปัญหานี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10787/2554

จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม มีหน้าที่ดูแลการขายรถยนต์และรับเงินค่าขายรถยนต์จากลูกค้าของโจทก์ร่วม การที่จำเลยปกปิดข้อเท็จจริง ละเว้นไม่รายงานจำนวนรถยนต์ของโจทก์ร่วมที่ขายให้แก่ลูกค้าและไม่รายงานการนำรถยนต์ออกไปจากโกดังตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจนทำให้การกระทำความผิดสำเร็จ ถือได้ว่าจำเลยเป็นตัวการ แม้ต่อมาภายหลังจะรายงานจำนวนรถยนต์ต่อโจทก์ร่วมตามความเป็นจริง ก็เป็นการรายงานหลังจากที่ตรวจพบถึงการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว ไม่อาจทำให้การกระทำของจำเลยกลับกลายไม่เป็นความผิด

ส. และจำเลยรับมอบเงินค่าขายรถยนต์ของโจทก์ร่วมจากลูกค้า เป็นเพียงการรับเงินไว้ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในฐานเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินของโจทก์ร่วมและยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยร่วมกับพวกเอาเงินดังกล่าวของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ของนายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) วรรคแรก มิใช่เป็นความผิดฐานยักยอก

แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจะแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงรายละเอียด มิใช่ข้อที่เป็นสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12793 – 12794/2553

เมื่อคนไข้นอกไปพบแพทย์ผู้ตรวจ แพทย์จะออกใบสั่งตรวจและใบสั่งยาให้คนไข้นำไปยื่นที่แผนกการเงินเพื่อชำระเงินค่าตรวจรักษาและค่ายา เงินที่คนไข้นอกจ่ายให้โรงพยาบาลย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงพยาบาล การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาลเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการกระทำความผิดในทางอาญาต่อโรงพยาบาล โรงพยาบาลย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

การที่จำเลยซึ่งมีหน้าที่รับเงินค่ารักษาพยาบาลจากคนไข้แทนผู้เสียหายแล้วส่งต่อให้เจ้าหน้าที่เก็บรักษาเงินของผู้เสียหายในแต่ละวัน เป็นเพียงการยึดถือเงินของผู้เสียหายไว้ชั่วระยะเวลาทำการเท่านั้น ผู้เสียหายหาได้มอบเงินให้อยู่ในความครอบครองของจำเลย เมื่อจำเลยเอาเงินไปเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิอันเป็นการทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง และการที่จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายในวันเวลาที่ต่างกัน จำเลยย่อมกระทำไปในแต่ละครั้งโดยอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดคนละเจตนาแยกต่างหากจากกันตามโอกาสที่มีให้กระทำ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5454/2553

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาจำเลยว่า จำเลยปลอมเอกสารและนำ เอกสารปลอมไปลักทรัพย์ของนายจ้าง โดยเหตุเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยงอันเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยว่าเกิดขึ้นในเวลากลางวันหรือเกิดในเวลากลางคืน อันเป็นเหตุฉกรรจ์ที่ทำให้จำเลยต้องได้รับโทษหนักขึ้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงก็คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยลักทรัพย์นายจ้างตามฟ้องเท่านั้น แต่ไม่อาจจะรับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดในเวลากลางวันหรือกลางคืน ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพในส่วนนี้โดยชัดแจ้ง จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยไม่ได้ คงฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางวันเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) ด้วยจึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2553

การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมมีหน้าที่เบิกจ่ายเงินของโจทก์ร่วมให้กับลูกค้าของโจทก์ร่วมได้ใช้โอกาสในหน้าที่ดังกล่าวจัดทำใบเบิกจ่ายล่วงหน้าระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย ค่าผ่านท่าและค่ารถยก อันเป็นข้อความเท็จ หลอกลวงโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมหลงเชื่อยินยอมมอบเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้จำเลยไปจำนวน 353 ครั้ง จึงมิใช่การเอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยพลการโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในใบเบิกเงินทดรองจ่ายว่าต้องนำเงินไปชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

คำขอบังคับในคดีนี้กับคดีของศาลแรงงานกลางแม้จะมีลักษณะอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้โจทก์ฟ้องและขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญา ส่วนคดีของศาลแรงงานกลางที่มีมาจากมูลกรณีการผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกัน อันเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ขณะที่จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้และในคดีอื่นนั้น จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในทุกคดี โดยจำเลยถือโอกาสที่เป็นพนักงานกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยมีเจตนาฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วมไป คดีนี้และคดีอื่นจึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับมาตรา 91 (1) กล่าวคือ เมื่อลงโทษจำคุกทุกกระทงทุกคดีแล้วจะเกิน 10 ปี ไม่ได้ คดีนี้จำเลยถูกลงโทษเกินกำหนดดังกล่าวแล้วจึงย่อมไม่อาจนำโทษคดีนี้ไปนับต่อจากคดีอื่นได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2551

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกลักทรัพย์นายจ้าง หรือร่วมกันรับของโจรและพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่ศาลชั้นต้นบันทึกคำให้การของจำเลยโดยใช้แบบพิมพ์ของศาล ซึ่งมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ว่าข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง และมีถ้อยคำที่เขียนด้วยปากกาตกเติมต่อจากข้อความดังกล่าวว่าในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ดังนี้ พอแปลความหมายของคำรับสารภาพของจำเลยได้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกลักทรัพย์นายจ้างหรือร่วมกันรับของโจร ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นเขียนถ้อยคำเพิ่มเติมต่อท้ายว่า ในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ก็เพื่อเป็นการระบุให้แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใดระหว่างความผิดในสองข้อหาดังกล่าว กรณีจึงพอถือได้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างและพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องแล้ว ซึ่งการแปลความหมายเช่นนี้ย่อมเป็นการตีความให้ตรงตามเจตนาที่แท้จริงของจำเลยและเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2551

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกลักทรัพย์นายจ้าง หรือร่วมกันรับของโจรและจำเลยพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลชั้นต้นบันทึกคำให้การของจำเลยว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้องในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง และบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาต่อท้ายคำให้การของจำเลยว่าอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ของศาล ซึ่งมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้องและมีถ้อยคำที่เขียนด้วยปากกาตกเติมต่อจากข้อความดังกล่าวว่าในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง เมื่อพิจารณาแล้วพอแปลความหมายคำรับสารภาพของจำเลยได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกลักทรัพย์นายจ้างหรือร่วมกันรับของโจร การที่ศาลชั้นต้นเขียนถ้อยคำเพิ่มเติมต่อท้ายว่า ในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ก็เพื่อเป็นการระบุให้แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใดระหว่างความผิดในสองข้อหาดังกล่าว กรณีจึงพอถือได้ว่าจำเลยได้ให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง และพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งก็ตรงกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนด้วย ทั้งการแปลความหมายเช่นนี้ ย่อมเป็นการตีความตรงตามเจตนาที่แท้จริงของจำเลยและเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้กระเป๋าของกลางในการปิดบังซุกซ่อนทรัพย์ที่คนร้ายลักมาเท่านั้น จำเลยมิได้ใช้กระเป๋าเป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์ จึงถือไม่ได้ว่ากระเป๋าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบ ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบมานั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2550

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว เพราะความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดคนละฐานกัน จะลงโทษจำเลยทั้งสามทั้งสองฐานความผิดดังกล่าวย่อมไม่ได้ คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามที่ว่า ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการนั้นไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดฐานใด แม้จะปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสามให้การชั้นสอบสวนอย่างไรไม่เกี่ยวข้องกับคำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสาม กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าการที่จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการนั้นเป็นการให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ดังนี้ เมื่อคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามไม่สามารถรับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะพิพากษาไปได้โดยไม่สืบพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสาม เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานศาลจึงลงโทษจำเลยทั้งสามไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375/2545

เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามคำฟ้องของโจทก์ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้อย่างชัดเจนแยกการกระทำของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันลักเช็คของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างไป ปลอมเช็ค และใช้เช็คที่ปลอมนั้นไปยื่นต่อธนาคารเพื่อขอรับเงิน ซึ่งการกระทำแต่ละอย่างมีลักษณะที่แตกต่างกันต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัว และเป็นการกระทำความผิดโดยอาศัยเจตนาแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างกระทงหนึ่งและฐานปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอมซึ่งต้องลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอมอีกกระทงหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16/2544

จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสายไฟฟ้าเก่าของผู้เสียหายที่วางอยู่ตามพื้นโรงงานมาวางบนเหล็กร้อน ทำให้เปลือกสายไฟฟ้าไหม้ ละลายหมดเหลือแต่ลวดทองแดงที่เป็นซากของสายไฟฟ้าเพื่อความสะดวกในการเอาทรัพย์นั้นไปขาย แต่ก็มิใช่แปรสภาพไปเป็นของอื่น ถือว่า เริ่มลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นับแต่ที่นำสายไฟฟ้าไปวางบนเหล็กร้อนแล้ว และเป็นความผิดต่อเนื่องกันมาจนกระทั่งขนย้ายลวดทองแดงออกจากโรงงานไปขึ้นรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่นอกรั้วโรงงาน แต่จำเลยที่ 1 รออยู่ห่างจากจุดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โยนทรัพย์ออกมาประมาณ 100 เมตร ไม่อาจช่วยเหลือกันได้ทันท่วงที ไม่ใช่แบ่งหน้าที่กันทำในส่วนที่เป็นการกระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการคงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น

การที่จำเลยทั้งสามคบคิดกันลักลวดทองแดงของผู้เสียหายโดยให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มารออยู่ใกล้โรงงาน เพื่อบรรทุกทรัพย์ไป ย่อมเล็งเห็นเจตนาได้ว่า ประสงค์จะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อการพาทรัพย์นั้นไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ส่วนจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการลักทรัพย์ดังกล่าว

สายไฟฟ้าของผู้เสียหายที่ถูกจำเลยลักนำไปเผาลอกเอาเปลือกออกยังคงเหลือซากที่เป็นลวดทองแดงอยู่ มิได้ถูกทำลายสูญหายไปทั้งหมดหรือแปรสภาพไปเป็นของอื่นแล้ว เมื่อผู้เสียหายได้รับลวดทองแดงคืนแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จะขอให้คืนหรือใช้ราคาเต็มของสายไฟฟ้าแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43อีกไม่ได้ แม้ผู้เสียหายจะได้รับความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยเนื่องจากนำสายไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายจะต้องไปว่ากล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเอาเองเป็นคดีใหม่

จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มารออยู่ใกล้ที่เกิดเหตุเพื่อจะใช้ เป็นพาหนะบรรทุกลวดทองแดงที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลักไปไม่ได้ใช้ เป็น เครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์โดยตรงจึงถือไม่ได้ว่ารถจักรยานยนต์ เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16/2544

จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสายไฟฟ้าเก่าของผู้เสียหายที่วางอยู่ตามพื้นในโรงงานมาวางบนเหล็กร้อน ทำให้เปลือกสายไฟฟ้าไหม้ละลายหมดเหลือแต่ลวดทองแดงที่เป็นซากของสายไฟฟ้าเพื่อความสะดวกในการเอาทรัพย์นั้นไปขายก็มิใช่แปรสภาพไปเป็นของอื่น ถือว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เริ่มลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นับแต่ที่นำสายไฟฟ้าไปวางบนเหล็กร้อนและเป็นความผิดต่อเนื่องกันมาจนกระทั่งขนย้ายลวดทองแดงออกจากโรงงานไปขึ้นรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่นอกรั้วโรงงาน แต่จำเลยที่ 1 รออยู่ห่างจากจุดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โยนทรัพย์ออกมาประมาณ 100 เมตร ไม่อาจช่วยเหลือกันได้ทันท่วงที ไม่ใช่แบ่งหน้าที่กันทำในส่วนที่เป็นการกระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการ คงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น

การที่จำเลยทั้งสามคบคิดกันลักลวดทองแดงของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างโดยให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มารออยู่ใกล้โรงงานเพื่อบรรทุกทรัพย์ไปย่อมเล็งเห็นเจตนาได้ว่า ประสงค์จะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อการพาทรัพย์นั้นไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ ส่วนจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการลักทรัพย์ดังกล่าว

สายไฟฟ้าของผู้เสียหายที่ถูกจำเลยลักนำไปเผาลอกเอาเปลือกออกยังคงเหลือซากที่เป็นลวดทองแดงอยู่ มิได้ถูกทำลายสูญหายไปทั้งหมดหรือแปรสภาพไปเป็นของอื่น เมื่อผู้เสียหายได้รับลวดทองแดงคืนแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จะขอให้คืนหรือใช้ราคาเต็มของสายไฟฟ้าแก่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 อีกไม่ได้ แม้ผู้เสียหายจะได้รับความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยเนื่องจากนำสายไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายจะต้องไปว่ากล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเอาเองเป็นคดีใหม่

จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มารออยู่ใกล้ที่เกิดเหตุเพื่อจะใช้เป็นพาหนะบรรทุกลวดทองแดงที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลักไป จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์โดยตรง จึงถือไม่ได้ว่ารถจักรยานยนต์เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบ ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7264/2542

จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหาย มีหน้าที่รับจ่ายเงินสดแทนผู้เสียหาย จำเลยมีอำนาจยึดถือเงินสดของผู้เสียหายไว้เพียงชั่วระยะเวลาทำการพฤติการณ์เช่นนี้ เป็นการที่จำเลยยึดถือเงินสดเพื่อผู้เสียหาย ผู้เสียหายหาได้ส่งมอบเงินสดให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยไม่ เมื่อจำเลยเอาเงินสดนั้นไปเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิ อันเป็นการทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ.มาตรา 335 (11)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6178/2541

จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงโทษจำคุกจำเลยที่ได้อ่านคำพิพากษาในครั้งแรกให้จำคุกจำเลยคนละ 2 ปี มาเป็นจำคุกคนละ 6 ปีเพราะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ เป็นการแก้ไขคำพิพากษาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นกระบวนพิจารณาอันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย เมื่อปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ดังกล่าวให้ ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว ซึ่งเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ต้องห้ามตามกฎหมายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(6)ประกอบมาตรา 215 ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) และมาตรา 247 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างรวม 3 กรรมต่างกันโดยระบุในคำฟ้องข้อ 1 ก. ข้อ 1 ข. และข้อ 1 ค.สำหรับความผิดแต่ละกรรม ดังนี้คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2539เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันลักเอากุ้งแช่แข็งจำนวน 24 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 7,680 บาทของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต วันที่ 8 สิงหาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันลักเอากุ้งแช่แข็งจำนวน 10 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 3,250 บาท ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้าง ไปโดยทุจริต และวันที่ 14 สิงหาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ที่ 4และที่ 5 ร่วมกันลักเอากุ้งแช่แข็งจำนวน 12 กิโลกรัม ปลาหมึกหอมจำนวน 25 กิโลกรัม และเนื้ออกไก่จำนวน 6 กิโลกรัม คิดเป็นเงินรวม 7,882 บาทของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต จำเลยที่ 1ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ดังนี้เท่ากับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 รับว่าได้กระทำความผิดทั้งสามกรรมดังกล่าวจริง ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ทั้ง 3 กรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ทั้งสามกรรมตามฟ้อง ทรัพย์ที่จำเลยลักไปมีราคา เป็นเงิน 7,680 บาท 3,250 บาทและ 7,882 บาทซึ่งล่างทั้งสองพิพากษายืนโดยใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลย เท่ากันทุกกระทงความผิดอันเป็นโทษที่หนักเกินไปและไม่เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดในแต่ละกรรม ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลย ให้เหมาะสมแก่สภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดแต่ละกระทงตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดาโทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @Lawyers.in.th

Facebook Comments