Home คดีแพ่ง ท้าวแชร์ผิดสัญญาหลายวง สามารถแยกฟ้องที่ละวงได้หรือไม่

ท้าวแชร์ผิดสัญญาหลายวง สามารถแยกฟ้องที่ละวงได้หรือไม่

4586

ท้าวแชร์ผิดสัญญาหลายวง สามารถแยกฟ้องที่ละวงได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8639/2551

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ตั้งวงแชร์ขึ้น 2 วง โดยมีโจทก์เป็นนายวงแชร์ จำเลยเป็นสมาชิกผู้ร่วมเล่นแชร์ทั้งสองวง วงละ 1 มือ จำเลยประมูลแชร์วงที่ 2 ได้ในงวดที่ 2 จำเลยได้รับเงินค่างวดแชร์ไปครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินค่างวดแชร์เป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะนายวงแชร์ต้องชำระเงินค่างวดแชร์ให้แก่ลูกวงแชร์ทั้งสองวงแทนจำเลย โดยชำระเงินค่างวดแชร์วงที่ 1 ตั้งแต่งวดที่ 4 ถึงงวดที่ 12 รวม 9 งวดเป็นเงิน 90,000 บาท และชำระค่างวดแชร์วงที่ 2 ตั้งแต่งวดที่ 3 ถึงงวดที่ 11 รวม 9 งวด เป็นเงิน 90,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 180,000 บาท ต่อมาจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์บางส่วน โดยชำระให้วงละ 5,000 บาท และจำเลยตกลงว่าจะชำระเงินค่างวดแชร์ให้แก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท จนกว่าจะครบถ้วน แต่จำเลยมิได้ชำระเงินค่างวดแชร์ให้แก่โจทก์ตามกำหนด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 200,133 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 170,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเป็นสมาชิกผู้ร่วมเล่นแชร์ทั้งสองวง ไม่เคยเข้าประมูลแชร์ตามฟ้องและไม่เคยนำเงินไปชำระค่างวดแก่โจทก์ ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,133 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 170,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 ตุลาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าแชร์ 2 วง การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกานั้น ต้องแยกคำนวณตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันตามข้อหาของการผิดสัญญา เมื่อแชร์แต่ละวงมีรายละเอียดข้อสัญญาต่างกัน การผิดสัญญาวงหนึ่งวงใดไม่เป็นเหตุให้ผิดสัญญาอีกวงหนึ่งด้วยโจทก์จึงสามารถแยกฟ้องจำเลยได้ตามข้อหาของการผิดสัญญาเป็นสองคดี เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำหรับการเล่นแชร์แต่ละวงมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ร่วมเล่นแชร์กับโจทก์ทั้งสองวงตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ให้เป็นพับ

สรุป สามารถแยกฟ้องได้ เมื่อแชร์แต่ละวงมีรายละเอียดข้อสัญญาต่างกัน การผิดสัญญาวงหนึ่งวงใดไม่เป็นเหตุให้ผิดสัญญาอีกวงหนึ่งด้วยโจทก์จึงสามารถแยกฟ้องจำเลยได้ตามข้อหาของการผิดสัญญาเป็นสองคดี

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments