Home คดีอาญา ท้าวแชร์มีสมาชิกต่อวง ไม่เกิน30 คน ผิด พรบ.แชร์ที่มีโทษจำคุกหรือไม่

ท้าวแชร์มีสมาชิกต่อวง ไม่เกิน30 คน ผิด พรบ.แชร์ที่มีโทษจำคุกหรือไม่

3925

ท้าวแชร์มีสมาชิกต่อวง ไม่เกิน30 คน ผิด พรบ.แชร์ที่มีโทษจำคุกหรือไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20111 – 20112/2556

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 และพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 4, 6, 17 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายจำนวน 28 คน และ 26 คน เป็นเงิน 5,562,500 บาทและ 3,116,700 บาท ตามลำดับ และให้นับโทษจำเลยทั้งสองในสำนวนหลังต่อจากโทษของจำเลยทั้งสองในสำนวนแรก

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน

ระหว่างพิจารณานางพิสมัย นางอัมราภรณ์ นางทองใบ นางบัวสร้อย นายวีระ นายคะนอง นายจำนงค์ นายบุญถิน และนายสมบูรณ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชน ส่วนข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต โดยให้เรียกนางพิสมัยว่าโจทก์ร่วมที่ 1 นางอัมราภรณ์ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 นางทองใบว่าโจทก์ร่วมที่ 3 นางบัวสร้อยว่าโจทก์ร่วมที่ 4 นายวีระ ว่าโจทก์ร่วมที่ 5 นายคะนองว่าโจทก์ร่วมที่ 6 นายจำนงค์ว่าโจทก์ร่วมที่ 7 นายบุญถินว่าโจทก์ร่วมที่ 8 และนายสมบูรณ์ว่า โจทก์ร่วมที่ 9

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2), 17 (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นจำคุกกระทงละ 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 รวม 12 เดือน ข้อหาและคำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียว จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

โจทก์ฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 อีกเช่นกันว่า แชร์วงใหญ่ตามสำนวนแรกและแชร์วงเล็กตามสำนวนหลังมีสมาชิกวงแชร์รวมกันแต่ละวงกว่า 30 คนหรือไม่ สำหรับปัญหานี้พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์ หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน” จึงเห็นได้ว่าจำนวนสมาชิกที่เล่นแชร์นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการเล่นแชร์วงเดียวกันเท่านั้น แต่อาจเป็นการเล่นแชร์คนละวงกันหรือหลายวงต่างกันได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าในการเป็นนายวงแชร์หรือเล่นแชร์นั้นมีสมาชิกวงแชร์ทุกวงจำนวนรวมกันมากกว่า 30 คน ดังนั้นเมื่อตามฎีกาของจำเลยที่ 1 รับว่า แชร์วงใหญ่มือละ 1,000 บาท ซึ่งประกอบด้วยวงแชร์ 2 วง จำนวนสมาชิกวงละ 29 คน จึงมีจำนวนรวมกัน 58 คน จึงเป็นจำนวนมากกว่า 30 คน กรณีแชร์วงเล็กมือละ 500 บาท ซึ่งมีจำนวนวงละ 27 คน จึงมีจำนวนรวม 54 คน อันเป็นจำนวนมากกว่า 30 คนเช่นกัน ดังนั้นทั้งแชร์วงใหญ่ตามสำนวนแรกและแชร์วงเล็กตามสำนวนหลังจึงมีจำนวนสมาชิกวงแชร์ในแต่ละสำนวนมากกว่า 30 คนแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยแล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่ามีสมาชิกวงแชร์บางคนไม่ได้เล่นแชร์ แต่กลับมาลงชื่อเป็นสมาชิกในการแล่นแชร์โดยอาศัยความเป็นญาติหรืออาศัยความเป็นสามีภริยา รวมทั้งข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ที่โจทก์อ้างว่าแชร์ทั้ง 2 วง ยังมีสมาชิกอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องที่ไม่ได้รับความเสียหายเพราะเปียแชร์ได้แล้ว ได้รับเงินครบถ้วนสมาชิกวงแชร์ทั้ง 2 วง จึงรับฟังว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวมีสมาชิกเกิน 30 คน ไม่ได้ เพราะโจทก์อ้างส่งเพียงคำให้การชั้นสอบสวนไม่ได้นำบุคคลดังกล่าวมาเบิกความต่อศาลให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสซักค้าน ทั้งไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวเล่นแชร์วงใหญ่ มือละ 1,000 บาท วงใดจึงไม่อาจนำคำให้การของบุคคลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา เพื่อลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับปัญหาต่อไปศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าเป็นนายวงแชร์และจัดให้มีการเล่นแชร์ตามฟ้อง กับปัญหาว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่

สำหรับปัญหาเรื่องจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า เห็นจำเลยที่ 1 จัดการเล่นแชร์ เช่นห่อเงินมาแต่แรก จำเลยที่ 2 ก็ไม่เคยทักท้วง ยอมให้จำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่นแชร์ตลอดมา โดยยอมให้จำเลยที่ 1 วางมือในงานด้านอื่น ทั้งเรื่องในครอบครัว คือการเลี้ยงดูบุตรที่ยังเล็กกำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาล และการทำมาหากิน การทำฟาร์มหมู การตกแต่งหมูขึ้นเขียง เพื่อนำไปขายในตลาด ส่วนการจัดให้มีการเล่นแชร์ จำเลยที่ 2 ก็เบิกความความรับว่า ตนก็ได้เข้าไปเกี่ยวข้องตามที่ข้อเท็จจริงรับฟังยุติข้างต้นว่า จำเลยที่ 2 เคยนำห่อดอกเบี้ยไปส่งให้นางอุ่น สมาชิกวงแชร์ เมื่อวงแชร์มีปัญหาขัดข้องด้านการเงิน จำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่า ตนได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหา โดยจัดตั้งวงแชร์ใหม่เพื่อให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายวงแชร์ นำเงิน 2 มือแรก ที่ตกเป็นของจำเลยที่ 1 เนื่องจากนายวงโดยไม่ต้องเปียและเสียดอกเบี้ยไปจ่ายให้โจทก์ร่วมที่ 2 และนางอุ่นสมาชิกวงแชร์ในคดีนี้ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเบิกความรับว่า จำเลยที่ 2 ยังได้ไปยืมเงินจากเพื่อน ๆ รวมทั้งสิ้น 140,000 บาท แล้วนำเงินดังกล่าวบางส่วน 60,000 บาท และอีก 40,000 บาท ไปชำระให้นางสดใสกับนางดวงมณี ต่อจากนั้นก็นำรถยนต์ไปเข้าไฟแนนซ์ได้เงินมา 200,000 บาท และนำเงินที่เหลือจากคืนให้เพื่อนๆ ที่ยืมมาไปมอบให้กลุ่มผู้เสียหายคดีนี้ รวมทั้งไปเก็บเงินจากสมาชิกวงแชร์ ทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ก็รับว่าจำเลยที่ 1 เข้าเจรจาต่อรองกับสมาชิกวงแชร์ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้และแจ้งให้โจทก์ร่วมที่ 6 กับผู้เสียหายบางส่วนทราบว่าตนได้ให้จำเลยที่ 1 ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารมาชำระค่าเสียหายให้สมาชิกวงแชร์ แต่ตกลงเรื่องจำนวนค่าเสียหายที่จะชำระให้แก่สมาชิกวงแชร์ไม่ได้ การเจรจาจึงล้มเหลว พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่บ้านเดียวกับจำเลยที่ 1 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ภริยาตนมีความสามารถทั้งจัดการเล่นแชร์และเป็นนายวงแชร์ จึงยอมร่วมแล่นแชร์กับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายวงแชร์และจัดการเล่นแชร์ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 จัดการเล่นแชร์แล้วมีปัญหาวงแชร์จะล้มไม่สามารถดำเนินการได้ต่อไป จำเลยที่ 2 ก็สามารถเข้ามาตัดสินใจและจัดการแก้ปัญหาได้ทันทีโดยไม่ต้องรอความเห็นชอบจากจำเลยที่ 1 อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ตามกฎหมายถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมเป็นนายวงแชร์และจัดการเล่นแชร์ตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว

ส่วนในเรื่องการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวตามฎีกา จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า สำหรับแชร์วงเล็กมือละ 500 บาท นั้น เกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยที่ 1 ได้เป็นนายวงแชร์และดำเนินการเล่นแชร์ประสบผลสำเร็จสมาชิกวงแชร์ของจำเลยทั้งสองทุกคนได้รับเงิน (ทุน) กองกลางแต่ละงวดได้ครบถ้วน ทำให้สมาชิกวงแชร์วงใหญ่อยากเล่นแชร์กับจำเลยที่ 1 เพิ่ม รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าในตลาดที่มีรายได้น้อย จำเลยทั้งสองจึงจัดตั้งแชร์วงเล็กมือละ 500 บาทขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ก็สอดคล้องกับคำฟ้องที่ระบุว่าแชร์วงใหญ่เล่นกัน (เกิดเหตุ) ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2546 ส่วนแชร์วงเล็กเล่นกัน(เกิดเหตุ) ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม 2546 และวันที่ 4 ธันวาคม 2546 ซึ่งเป็นการกระทำต่างเวลาต่างกรรมกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

สรุป จำนวนสมาชิกที่เล่นแชร์นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการเล่นแชร์วงเดียวกันเท่านั้น แต่อาจเป็นการเล่นแชร์คนละวงกันหรือหลายวงต่างกันได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าในการเป็นนายวงแชร์หรือเล่นแชร์นั้นมีสมาชิกวงแชร์ทุกวงจำนวนรวมกันมากกว่า 30 คน

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments