Home คดีอาญา บุคคลใดบ้างที่ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นผู้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา

บุคคลใดบ้างที่ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นผู้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา

3549

บุคคลใดบ้างที่ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นผู้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา.

คดีสืบเนื่องจากศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 6 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 9 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 10 จังหวัดสมุทรปราการ มีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 1 ปี 6 เดือน แต่ไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุครบ 24 ปี บริบูรณ์ ริบของกลาง และให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังแล้ว เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า จากการตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลย ปรากฏว่าปัจจุบันจำเลยอายุ 24 ปี 9 เดือน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ปล่อยจำเลยไป

ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งปล่อยตัวจำเลยขอให้ศาลแก้ไขคำสั่งโดยลงโทษจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกา

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 วรรคท้าย หากศาลจะให้ควบคุมตัวจำเลยที่มีอายุครบ 24 ปี บริบูรณ์ ให้ศาลระบุไว้ในคำพิพากษาให้ส่งตัวไปจำคุกในเรือนจำ แต่ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หาได้ระบุไว้ว่าให้ส่งตัวไปเรือนจำแต่อย่างใด โดยศาลฎีกาพิพากษายืน กรณีไม่สามารถดำเนินการตามความประสงค์ผู้ร้องได้ ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเอกวุธ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของจำเลย ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง โดยให้เหตุผลว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ เห็นว่า บุคคลที่มีอำนาจอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ของศาลต้องเป็นผู้เสียหาย หรือคู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดี ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (15) ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 คู่ความ หมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นโจทก์หรือจำเลยคดีนี้ ทั้งศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า นายเอกวุธไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้ด้วยแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นคู่ความหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ และถือไม่ได้ว่านายเอกวุธเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นมาตั้งแต่แรก ตลอดทั้งไม่มีอำนาจอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น และผู้ร้องในฐานะบิดาของนายเอกวุธย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนนายเอกวุธที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นได้เช่นกัน การที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยในเนื้อหาของคำร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังว่าผู้ร้องมิใช่คู่ความและมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดี จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นและไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงชอบแล้ว และมีผลให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นฎีกาต่อมาได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตามเมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังว่าผู้ร้องมิใช่คู่ความและมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดี ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษชอบที่จะยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาด้วย การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำร้องของผู้ร้อง ยกฎีกาของผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

สรุป บุคคลที่มีอำนาจอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ของศาลต้องเป็นผู้เสียหาย หรือคู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดี ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 คู่ความ หมายความถึง โจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นโจทก์หรือจำเลยคดีนี้ ทั้งศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า อ. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้ด้วยแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นคู่ความหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ และถือไม่ได้ว่า อ. เป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นมาตั้งแต่แรก ตลอดทั้งไม่มีอำนาจอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น และผู้ร้องในฐานะบิดาของ อ. ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทน อ. ที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นได้เช่นกัน การที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยในเนื้อหาของคำร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังว่า ผู้ร้องมิใช่คู่ความและมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดี จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นและไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้อง จึงชอบแล้วและมีผลให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นฎีกาต่อมาได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังว่า ผู้ร้องมิใช่คู่ความและมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดี ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษชอบที่จะยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาด้วย การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำร้องของผู้ร้อง และยกฎีกาของผู้ร้อง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments