Home คดีอาญา แม่ข่ายแชร์ออนไลน์ ช่วยแชร์ภาพหลอกลวงหรือสร้างความน่าเชื่อถือ มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงหรือไม่ ฐานใด

แม่ข่ายแชร์ออนไลน์ ช่วยแชร์ภาพหลอกลวงหรือสร้างความน่าเชื่อถือ มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงหรือไม่ ฐานใด

2141

แม่ข่ายแชร์ออนไลน์ ช่วยแชร์ภาพหลอกลวงหรือสร้างความน่าเชื่อถือ มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงหรือไม่ ฐานใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22171/2555

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 343,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 172,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 181,000 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 52,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 52,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 50,000 บาท ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 32,000 บาท ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 30,000 บาท ผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 52,000 บาท ผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 51,000 บาท และผู้เสียหายที่ 11 จำนวน 51,000 บาท นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5743/2551 ของศาลแขวงสมุทรปราการ

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 11 กระทง จำคุกคนละ 33 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ส่วนคำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กระทงละกึ่งหนึ่ง ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 11 ปี 66 เดือน คงจำคุกจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 กระทงละ 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 คนละ 22 ปี แต่ความผิดที่กระทำมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี จึงคงจำคุกจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 คนละเพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5743/2551 ของศาลแขวงสมุทรปราการ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 343,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 172,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 181,000 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 52,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 52,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 50,000 บาท ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 32,000 บาท ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 30,000 บาท ผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 52,000 บาท ผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 51,000 บาท และผู้เสียหายที่ 11 จำนวน 51,000 บาท

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทั้งสามไม่ได้รับสัมปทานการขนส่งผัก ผลไม้ อาหารและสินค้าต่าง ๆ จากการบินไทยและไม่ได้รับสัมปทานให้การบินไทยเช่ารถยนต์แต่อย่างใด ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนได้จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ไปเป็นจำนวนเงินตามฟ้อง และคดีฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้อง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดเนื่องจากไม่มีผู้เสียหายคนใดเลยที่กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยหลอกลวงบรรดาผู้เสียหาย และจากการหลอกลวงนั้น ทำให้จำเลยที่ 2 ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน เป็นเรื่องที่บรรดาผู้เสียหายเข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เกิดจากการทราบและชักชวนต่อ ๆ กันมา บางคนจำเลยที่ 2 หาได้เข้าเกี่ยวข้องด้วยไม่ แม้แต่จำเลยที่ 2 ก็เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น ผู้เสียหายบางรายสมัครใจติดต่อกับจำเลยที่ 1 โดยตรง การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 รวม 11 กระทง จึงหาชอบด้วยกฎหมายไม่ นั้น เห็นว่า แม้ว่าการที่ผู้เสียหายเข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 จะเกิดจากการทราบและชักชวนต่อ ๆ กันมาและจำเลยที่ 2 ก็เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ด้วย ผู้เสียหายบางรายจำเลยที่ 2 มิได้ชักชวน กับผู้เสียหายบางรายสมัครใจติดต่อกับจำเลยที่ 1 โดยตรงก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ที่ในช่วงเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 โดยตลอด ซึ่งจากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ที่มีผู้เสียหายที่ 11 เป็นผู้กล่าวหาได้ความว่า ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2552 จำเลยที่ 1 พักอยู่กับจำเลยที่ 2 จากนั้นในเดือนเมษายน 2552 จำเลยที่ 1 จึงย้ายออกไป และผู้เสียหายสิบคนซึ่งมาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ในการติดต่อกับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันก็ดี ในการติดต่อจ่ายเงินค่าประกันการทำงานแก่จำเลยที่ 1 ก็ดี ส่วนใหญ่กระทำกันที่บ้านของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 พักอยู่ด้วยกันกับจำเลยที่ 2 บางครั้งก็โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เองเป็นผู้ชักชวนให้ผู้เสียหายบางรายมาทำงานร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้โทรศัพท์ไปบอกผู้เสียหายหลายคนถึงกำหนดการสัมมนา ทั้งขณะมีการสัมมนาจำเลยที่ 2 ยังเข้าไปพูดคุยกับเจ้าพนักงานตำรวจที่มาสังเกตการณ์หน้าห้องอบรมในทำนองยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ได้รับสัมปทานมาถูกต้อง ทั้งในขณะที่ผู้เสียหายบางรายพูดขอถอนตัวจากการทำงานร่วมกับจำเลยที่ 1 และขอเงินคืนนั้น จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้บอกบรรดาผู้เสียหายว่า ให้ถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและหมายเลขบัญชีธนาคารของผู้เสียหายพร้อมลงชื่อไว้กับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 จะคืนเงินให้ ดังนั้นตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวบ่งชี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมสมคบในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น โดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องทั้งสิบเอ็ดกระทง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะจบการศึกษาด้านคหกรรมศาสตร์ มีความรู้ในเรื่องอาหารเป็นอย่างดี และไม่มีผู้เสียหายคนใดยืนยันว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชักชวนหรือได้รับเงินจากผู้เสียหายคนใดก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่รู้อยู่แล้วว่าตนมิใช่เจ้าหน้าที่ของการบินไทย แต่กลับยอมแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของการบินไทยดังที่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 8 และที่ 10 ได้เบิกความยืนยันตรงกัน ทั้งในวันดังกล่าวที่จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยาย ปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจมาสอบถามในทำนองว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์หลอกลวงบรรดาผู้เสียหายหรือไม่ หากจำเลยที่ 3 เป็นผู้บริสุทธิ์จริงแล้วก็ไม่ควรที่จะร่วมดำเนินงานกับจำเลยที่ 1 อันเป็นการช่วยหลอกลวงโดยการสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้บรรดาผู้เสียหายหลงเชื่ออีกต่อไป แต่จำเลยที่ 3 กลับร่วมดำเนินงานกับจำเลยที่ 1 ต่อมาโดยตลอดและการที่จำเลยที่ 3 บอกให้ผู้ช่วยถ่ายภาพรถยนต์ของผู้เสียหายหลายรายในวันที่นำรถยนต์มาตรวจสภาพที่สนามบินสุวรรณภูมิดังที่ผู้เสียหายที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 10 ได้เบิกความยืนยันตรงกัน อีกทั้งการที่จำเลยที่ 3 ไปติดต่อกับแม่ค้าขายปูก่อนพาบรรดาผู้เสียหายไปดูสถานที่ซื้อปูเพียง 2 วัน ดังที่ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 7 นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 3 อยู่ด้วยกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านจำเลยที่ 2 ในวันนัดรับเอกสารตารางการวิ่งรถ สติ๊กเกอร์ติดรถ บัตรประจำตัว และในวันนัดตรวจสภาพรถกับวันนัดรับบัตรเติมน้ำมัน อีกทั้งจำเลยที่ 3 ยังคอยต้อนรับผู้เข้ารับการอบรมโดยนั่งบริเวณจุดต้อนรับและอำนวยความสะดวกในการลงลายมือชื่อในเอกสารที่โต๊ะบริเวณจุดต้อนรับ กับจำเลยที่ 3 รับเสื้อไปแจกแก่บรรดาผู้เสียหายที่บ้านของจำเลยที่ 2 คราวหนึ่ง และรับตารางการวิ่งงานกับสติ๊กเกอร์ไปแจกแก่บรรดาผู้เสียหายที่บ้านของจำเลยที่ 2 อีกคราวหนึ่ง เช่นนี้ ย่อมบ่งชี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนในการสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้บรรดาผู้เสียหายหลงเชื่อและตัดสินใจได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 จะกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 หาใช่จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่เป็นเพียงวิทยากรผู้บรรยายให้ผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมดฟัง หรือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 เป็นวิทยากรเลือกดูสินค้าดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 โดยตลอดแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 3 เพียงแต่ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ในการสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้บรรดาผู้เสียหายหลงเชื่อ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 3 เห็นแก่ผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 หยิบยื่นให้เป็นครั้งคราวเพียงครั้งละไม่กี่พันบาทเท่านั้น ประกอบกับจำเลยที่ 3 จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ด้านคหกรรมศาสตร์ และไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษจำคุกและรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 3 ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี แต่เพื่อให้จำเลยที่ 3 หลาบจำเห็นสมควรลงโทษปรับและคุมความประพฤติจำเลยที่ 3 ด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน และปรับกระทงละ 3,000 บาท ลดโทษให้จำเลยที่ 3 กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 3 กระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 2,000 บาท รวม 11 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 11 ปี และปรับ 22,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยที่ 3 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยที่ 3 ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 3 เห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

สรุป สั้น ถือเป็นผู้สนับสนุน

สรุป ยาว แม้ว่าการที่ผู้เสียหายเข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เกิดจากการทราบและชักชวนกันต่อ ๆ มา และจำเลยที่ 2 ก็เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ด้วย ผู้เสียหายบางรายจำเลยที่ 2 มิได้ชักชวน ผู้เสียหายบางรายสมัครใจติดต่อกับจำเลยที่ 1 โดยตรงก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 มาตลอด และตามที่ผู้เสียหายสิบคนเบิกความยืนยันว่าในการติดต่อกับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันก็ดี ในการติดต่อจ่ายเงินค่าประกันการทำงานแก่จำเลยที่ 1 ก็ดี ส่วนใหญ่ทำที่บ้านของจำเลยที่ 2 บางครั้งก็โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เองเป็นผู้ชักชวนให้ผู้เสียหายบางรายมาร่วมทำงานกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 เป็นผู้โทรศัพท์ไปบอกผู้เสียหายหลายคนถึงกำหนดการสัมมนา ขณะมีการสัมมนาจำเลยที่ 2 ยังเข้าไปพูดคุยกับเจ้าพนักงานตำรวจที่มาสังเกตการณ์หน้าห้องอบรมในทำนองยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสัมปทานมาถูกต้อง ทั้งในขณะที่ผู้เสียหายบางรายพูดขอถอนตัวจากการทำงานร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้บอกบรรดาผู้เสียหายให้ถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและหมายเลขบัญชีธนาคารของผู้เสียหายพร้อมลงชื่อไว้กับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 จะคืนเงินให้ ดังนั้นตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมสมคบในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น โดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องทั้งสิบเอ็ดกระทง

แม้จำเลยที่ 3 จบการศึกษาด้านคหกรรมศาสตร์ มีความรู้ในการทำอาหารอย่างดี และไม่มีผู้เสียหายคนใดยืนยันว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชักชวนหรือได้รับเงินจากผู้เสียหายคนใดก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่รู้อยู่แล้วว่าตนมิใช่เจ้าหน้าที่ของการบินไทย แต่กลับยอมแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของการบินไทย และในวันดังกล่าวที่จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่วิทยากรบรรยายปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจมาสอบถามในทำนองว่า จำเลยที่ 1 มีพฤติกรรมหลอกลวงบรรดาผู้เสียหายหรือไม่ หากจำเลยที่ 3 เป็นผู้บริสุทธิ์จริงก็ไม่ควรที่จะร่วมดำเนินงานกับจำเลยที่ 1 อันเป็นการช่วยหลอกลวงโดยสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้บรรดาผู้เสียหายหลงเชื่ออีกต่อไป แต่จำเลยที่ 3 กลับร่วมดำเนินงานกับจำเลยที่ 1 ต่อไปโดยตลอด การที่จำเลยที่ 3 บอกให้ผู้ช่วยถ่ายภาพรถยนต์ของผู้เสียหายหลายรายในวันที่นำรถยนต์มาตรวจสภาพที่สนามบินสุวรรณภูมิ การไปติดต่อแม่ค้าขายปูก่อนพาบรรดาผู้เสียหายไปดูสถานที่ซื้อปูเพียง 2 วัน การที่จำเลยที่ 3 อยู่ด้วยกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ในวันนัดรับเอกสารตารางการวิ่งรถ สติ๊กเกอร์ติดรถ บัตรประจำตัว และในวันนัดตรวจสภาพรถกับวันนัดรับบัตรเติมน้ำมัน การที่จำเลยที่ 3 คอยต้อนรับผู้เข้ารับการอบรมโดยนั่งบริเวณจุดต้อนรับและอำนวยความสะดวกในการลงลายมือชื่อในเอกสารที่โต๊ะบริเวณจุดต้อนรับ กับการที่จำเลยที่ 3 รับเสื้อไปแจกแก่บรรดาผู้เสียหายที่บ้านของจำเลยที่ 2 คราวหนึ่ง และรับตารางการวิ่งรถกับสติ๊กเกอร์ไปแจกแก่บรรดาผู้เสียหายที่บ้านของจำเลยที่ 2 อีกคราวหนึ่ง เช่นนี้ย่อมบ่งชี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนในการสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้บรรดาผู้เสียหายหลงเชื่อและตัดสินใจได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 จะกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments