Home ทั้งหมด รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่เกี่ยวกับ การยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่เกี่ยวกับ การยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

7099

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่เกี่ยวกับ การยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2562

การปิดหมาย เจ้าพนักงานศาลผู้ส่งต้องปิดหมายไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย การที่ผู้ส่งหมายเพียงแต่วางหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ที่โต๊ะของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชั้นล่างของอาคารที่จำเลยมีสำนักงานอยู่ที่ชั้น 5 จึงไม่ชอบ กระบวนพิจารณาตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและภายหลังแต่นั้นมาย่อมไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2562

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้จะเป็นการเริ่มต้นแบบคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 แต่คำร้องขอของผู้ร้องมีเจตนาเพื่อใช้สิทธิทางศาลเพื่อยังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองในสิทธิของตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 55 คำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นคำคู่ความตามความหมายมาตรา 1 (5) อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือส่วนได้เสียของบุคคลที่สาม นอกจากนี้คำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวยังเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว และสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาประกอบกับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่กล่าวว่า การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกระทบกระเทือนต่อส่วนได้เสียหรือสิทธิในการรับมรดกผู้ตายในส่วนของผู้คัดค้านและทายาทอื่นด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7018/2561

ผู้ร้องทราบก่อนยื่นคำร้องขอแล้วว่า ผู้ตายมีผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย และทราบที่อยู่ของทายาทที่เป็นผู้จัดการมรดกด้วย จึงอยู่ในวิสัยและเงื่อนไขที่ผู้ร้องสามารถส่งสำเนาคำร้องขอ และแจ้งวันนัดไต่สวนด้วยการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอโดยวิธีธรรมดาให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 72 ได้ ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะส่งคำคู่ความโดยวิธีอื่นตามมาตรา 79 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขอและแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านและทายาทไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องก่อนตามมาตรา 21 (2) ถือเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในการส่งคำคู่ความ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า ในส่วนคดีอาญาศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกฟ้อง เป็นผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์เป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์อีกต่อไป จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นในคดีริบทรัพย์สินตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ดำเนินกระบวนพิจารณามีคำสั่งริบทรัพย์สินโดยมิชอบ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งริบทรัพย์สินและคืนเงินที่ริบแก่โจทก์ต่อไป โจทก์จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่ยื่นฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2561

เมื่อ บ. จดทะเบียนสมรสกับ ช. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2496 บ. กับ ช. จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างนั้นแม้ บ. จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยร่วมที่ 1 ซ้อนอีก ซึ่งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ในปี 2533 ทำให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะซึ่งผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ตามมาตรา 1497 ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 มาตรา 70 บัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส …” และตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 บัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส …” ดังนั้น ปัญหาที่ว่าการสมรสของ ช. หรือของจำเลยร่วมที่ 1 ฝ่ายใดสมบูรณ์ จึงต้องวินิจฉัยตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม ซึ่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาตรา 1488 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่มีการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น บัญญัติว่า “บุคคลใดจะอ้างว่า การสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น” ฉะนั้นการที่จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำให้การและฟ้องแย้งของตน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังมีความสมบูรณ์อยู่ ดังนี้ เมื่อการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังสมบูรณ์อยู่ จำเลยร่วมที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ บ. จึงมีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ จึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2561

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อมีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาได้เอง หรือคู่ความฝ่ายที่เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนได้ ส่วนระยะเวลาในการยื่นคำร้อง มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังจากศาลพิพากษา คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ในวันนัดดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาซึ่งมีคำสั่งว่าไม่อนุญาตให้โจทก์นำสืบพยานเพิ่มเติม ให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสามฉบับ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป และศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา หากโจทก์เห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงหรือผิดระเบียบ โจทก์ต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวและต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่มีคำสั่งของศาลชั้นต้นที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการปฏิบัติที่ผิดขั้นตอนไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2561

คดีที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระค่าปรับเนื่องจากผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า “ศาลอุทธรณ์” หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค ดังนั้น เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลนไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments