Home คดีแพ่ง ไม่ใช่ทายาทผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก มีสิทธิยื่นคำคัดค้านในการขอตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่

ไม่ใช่ทายาทผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก มีสิทธิยื่นคำคัดค้านในการขอตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่

5323

ไม่ใช่ทายาทผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก มีสิทธิยื่นคำคัดค้านในการขอตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2561

ป.พ.พ. ตัดมิให้รับมรดก พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1608 วรรคท้าย, 1658, 1713
ป.วิ.พ. ภาระการพิสูจน์ มาตรา 84/1

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางวิมลพรรณผู้ตาย ตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านให้เป็น
ผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายสุเทพย์ ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนางวิมลพรรณ
ผู้ตาย ให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน

ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและ
ชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นายกณภัทร และผู้คัดค้านต่างเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางวิมลพรรณ ผู้ตาย เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบ
เอกสารฝ่ายเมืองที่สำนักงานเขตพญาไทยกทรัพย์มรดกให้นายกณภัทร ตัดทายาทโดยธรรมคนอื่น ๆ ไม่ให้มีสิทธิรับมรดก และให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อตนถึงแก่ความตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องมีภาระในการตรวจพิสูจน์ความถูกต้องของพินัยกรรม เมื่อผู้ร้องไม่นำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำพินัยกรรมดังกล่าวมาเป็นพยานยืนยันความถูกต้องของการจัดทำและได้จัดทำขึ้น
ตามความประสงค์ของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า ผู้คัดค้านมีภาระในการพิสูจน์ จึงไม่ถูกต้อง รับฟังไม่ได้ว่าพินัยกรรม เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองอย่างแท้จริง เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำรองขอจัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ซึ่งมีนายวรเศรษฐ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตพญาไท ผู้จัดทำพินัยกรรมบันทึกไว้ตอนท้ายหน้า 2 ว่า ข้าพเจ้าได้จดและอ่านข้อความที่ทำเป็นพินัยกรรมขึ้นนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง ผู้ทำพินัยกรรมและพยานได้รับรองข้อความว่าถูกต้องและลงลายมือชื่อในพินัยกรรม นับว่าพินัยกรรมฉบับนี้ได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติอนุมาตรา 1 ถึง 3 ของมาตรา 1658 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วผู้คัดค้านยอมรับว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมจริง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมโดยถูกหลอก และมีการสมคบกัน ขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ผู้ตายไม่ได้เป็นผู้แจ้งข้อความที่ประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพญาไท พยานในพินัยกรรมมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับนายกณภัทรผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม และพินัยกรรมมีพิรุธ ผู้คัดค้านจึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นตามข้อกล่าวอ้างาของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 ผู้ร้องหามีหน้าที่ต้องนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำพินัยกรรม มาเป็นพยานยืนยันความถูกต้องของพินัยกรรมดังกล่าว
ดังที่ผู้คัดค้านฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าผู้คัดค้านมีภาระการพิสูจน์
จึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า พินัยกรรมเกิดจากการสมรู้ร่วมคิดและแบ่งหน้าที่กันทำของผู้ร้องและนายกณภัทร มิได้
เกิดจากเจตนาที่แท้จริงของผู้ตาย เห็นว่า เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และที่ผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้ร้องไม่นำแพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์ มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงถึงสภาพร่างกายและความมีสติสัมปชัญญะของผู้ตาย จึงมีข้อพิรุธถึงความไม่ถูกต้องของพินัยกรรมนั้น เห็นว่า การทำพินัยกรรมได้กระทำต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นคนกลางมิได้มีส่วนได้เสียใด ๆ โดยผู้ตายได้แจ้งความประสงค์ในการทำพินัยกรรมของตนเพื่อให้เจ้าหน้าที่จดข้อความดังกล่าวต่อหน้าพยาน 2 คนจึงเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำพินัยกรรมได้สอบถามและพูดคุยกับผู้ตายแล้วเห็นว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์สามารถทำพินัยกรรมจึงได้ทำพินัยกรรมขึ้นโดยมิได้พิจารณาเพียงใบรับรองแพทย์ ที่ระบุว่าผู้มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดีและมีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ ดังปรากฏในพินัยกรรม ข้อ 4 ที่ระบุว่า …ขณะทำพินัยกรรมนี้ ข้าพเจ้า (ผู้ตาย) มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี สามารถพูดคุยรู้เรื่อง …ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ประกอบผู้คัดค้านมีภาระในการพิสูจน์ดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น และผู้คัดค้านไม่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นตามที่อ้างผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องนำแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์ดังกล่าวมาเบิกความตามที่ผู้คัดค้านฎีกา พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้องได้เมื่อพินัยกรรม มีรายการถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 จึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ดังนั้นเมื่อพินัยกรรม ข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายได้ยกทรัพย์สินให้แก่นายกณภัทร และข้อ 3 ได้ตัดทายาทโดยธรรมคนอื่น ๆ มิให้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เช่นนี้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป ต้องเป็นผูู้มีส่วนได้เสียถึงจะมีสิทธิยื่นคำคัดค้าน

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments