Home ทั้งหมด ทำศัลยกรรมแล้วใบหน้าผิดรูป ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ เรียกค่าทนทุกข์ทรมานได้หรือไม่

ทำศัลยกรรมแล้วใบหน้าผิดรูป ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ เรียกค่าทนทุกข์ทรมานได้หรือไม่

4686

ทำศัลยกรรมแล้วใบหน้าผิดรูป ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ เรียกค่าทนทุกข์ทรมานได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2544

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2538 จำเลยทำการผ่าตัดหนังตาล่างและหางตาให้โจทก์เพื่อดูดไขมันออก หลังการผ่าตัดปรากฏว่าหนังตาล่างของโจทก์ทั้งสองข้างหงายเบิกกว้างผิดปกติหลังจากตัดไหมแล้วหนังตาล่างทั้งสองข้างปิดไม่สนิททำให้โจทก์ได้รับความทรมาน โจทก์ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทางศัลยกรรมตกแต่งผ่าตัดแก้ไขให้ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยต้องคืนค่าจ้างทำศัลยกรรม 25,000 บาท แก่โจทก์เนื่องจากจำเลยทำการผ่าตัดโดยขาดความชำนาญและประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ต้องเสียค่าผ่าตัดแก้ไขอีก 90,000 บาท และผลจากการผ่าตัดของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ หน้าเสียโฉมติดตัว ขอเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ 300,000 บาท หลังจากการผ่าตัดโจทก์ไม่สามารถทำงานพิเศษตามปกติเป็นเวลา 6 เดือน ขาดรายได้ไป 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหาย 515,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยทำการผ่าตัดให้โจทก์ประสบความสำเร็จด้วยดี มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริงหากเกิดความเสียหายจริงค่าเสียหายไม่ควรเกิน 3,000 บาทจำเลยไม่มีภาระหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหาย230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหาย 30,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินจากจำเลยได้หรือไม่เพียงใด ในปัญหานี้โจทก์นำสืบและฎีกาว่า หลังจากตัดไหมในวันที่ 17 เมษายน2538 แล้ว หนังตาล่างของโจทก์ทั้งสองข้างแหว่ง โดยเฉพาะข้างซ้ายแหว่งมากเห็นตาขาวมาก น้ำตาไหลและเวลาอาบน้ำน้ำเข้าตา มีอาการอักเสบต้องใช้ยาหลอดตาในช่วงได้รับการผ่าตัดแก้ไข โจทก์ต้องดมยาสลบเพราะได้รับความเจ็บปวดทรมานมาก เห็นว่า เมื่อจำเลยไม่แก้ฎีกาต่อสู้ให้เห็นเป็นอย่างอื่นประกอบกับข้อเท็จจริงรับฟังยุติแล้วว่าโจทก์ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขเช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าว การที่โจทก์ซึ่งเป็นหญิงรับราชการตำแหน่งอาจารย์ โดยตำแหน่งหน้าที่จึงต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก แต่ต้องเสียบุคลิกภาพใบหน้าเสียโฉมเนื่องจากหนังตาแหว่งเห็นตาขาวมากกว่าปกติ ย่อมเป็นความทุกข์ทรมานที่โจทก์รู้สึกได้อยู่ตลอดเวลาตราบจนความเสียโฉมดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข ค่าที่โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานกับค่าที่โจทก์ต้องสูญเสียบุคลิกภาพตั้งแต่จำเลยผ่าตัดโจทก์จนโจทก์ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข ถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 วรรคแรกและที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายส่วนนี้200,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความรวม 7,000 บาท

สรุป โจทก์เป็นหญิง รับราชการเป็นอาจารย์ โดยตำแหน่งหน้าที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมากแต่ต้องเสียบุคลิกภาพ ใบหน้าเสียโฉมเนื่องจากหนังตาแหว่งเห็นตาขาวมากกว่าปกติ ย่อมเป็นความทุกข์ทรมานที่โจทก์รู้สึกได้อยู่ตลอดเวลาตราบจนความเสียโฉมดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข ค่าที่โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานกับค่าที่โจทก์ต้องสูญเสียบุคลิกภาพตั้งแต่จำเลยผ่าตัดโจทก์จนโจทก์ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 วรรคแรก

สรุปสั้น ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และค่าทนทุกข์ทรมานได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments