Home คดีอาญา ไม่ได้บรรยายฟ้องข้อความที่หมิ่นประมาทไว้ในคำฟ้อง ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่

ไม่ได้บรรยายฟ้องข้อความที่หมิ่นประมาทไว้ในคำฟ้อง ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่

4237

ไม่ได้บรรยายฟ้องข้อความที่หมิ่นประมาทไว้ในคำฟ้อง ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2562

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 91 ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 5,014,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยลงประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่ขายตามท้องตลาด 2 ฉบับ เป็นเวลา 5 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยเป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธคดีส่วนอาญาและให้การคดีส่วนแพ่งว่าค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 4 เดือน และปรับกระทงละ 20,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 เดือน และปรับ 40,000 บาท รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยให้เป็นพับ

โจทก์ที่ 1 และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นพระภิกษุ ได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ให้ใช้สำนักสงฆ์เขาดินสอ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และจำเลยจะให้เลขแก่ประชาชนเพื่อไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือหวย วิธีให้เลขจำเลยจะหยดเทียนเป็นรูปตัวเลขในอ่างน้ำมนต์ให้ประชาชนดูว่าเป็นตัวเลขอะไร ในงวดวันที่ 1 มิถุนายน 2557 จำเลยให้เลข 3 ตัวบน ในอ่างน้ำมนต์เป็นเลข 198 หรือ 168 แล้วแต่คนจะดู งวดดังกล่าวสลากกินแบ่งรัฐบาลออกเลขท้าย 3 ตัวบน คือเลข 198 มีประชาชนซื้อหวยถูกเป็นจำนวนมาก วันที่ 2 ถึง 8 มิถุนายน 2557 จำเลยไม่อยู่ที่สำนักสงฆ์เขาดินสอ จำเลยให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ดูแลเงินที่มีผู้นำมาบริจาคที่สำนักสงฆ์ สำหรับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 มิได้อุทธรณ์ คดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยกระทำความผิดรวม 8 กรรม (ที่ถูก 7 กรรม) หรือไม่ เห็นว่า สำหรับการกระทำวันที่ 24, 25, 26, 28 และ 30 มิถุนายน 2557 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด จึงเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องการกระทำในวันดังกล่าว ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ที่ 1 ข้อนี้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยกระทำความผิดในวันที่ 27 และ 29 มิถุนายน 2557 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ใส่ความโจทก์ที่ 1 โดยวิธีป่าวประกาศด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อบุคคลหลายคนว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมนุษย์สิบแปดมงกุฎ ร่วมกันยักยอกเงินทำบุญจากประชาชนซึ่งเป็นเงินของจำเลย ที่จำเลยเก็บไว้ในตู้บริจาคไปเป็นเงินประมาณ 5,000,000 บาท โดยจำเลยได้นำเอาภาพถ่ายของโจทก์ที่ 1 ที่ในภาพถ่ายมีชื่อของโจทก์ที่ 1 อยู่ด้วย มากระจายแจกจ่ายให้บุคคลทั่วไปอีกหลายคนว่า โจทก์ที่ 1 ที่ยักยอกเงินดังกล่าวไปคือคนที่ปรากฏในภาพถ่าย จำเลยใส่ความโจทก์ที่ 1 ทุกวันรวม 10 วัน ปรากฏตามภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้อง แต่ทางพิจารณาโจทก์ที่ 1 มีโจทก์ที่ 1 นายเดชสกุล นางสุวรี และนางอาภรณ์ เป็นพยาน เบิกความประกอบกันว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 นายเดชสกุลและนางสุวรีเดินทางไปที่วัดหนองตะโก ได้ยินจำเลยประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “ญาติโยมทั้งหลาย นางนงนุช (โจทก์ที่ 1) เป็นพวกสิบแปดมงกุฎ บุคคลนี้เป็นบุคคลอันตราย ใครอยู่ใกล้อย่าให้เข้าใกล้ โกงเงินพระเงินวัดไป 5 ล้านบาท” โดยมีภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 ติดอยู่ที่โต๊ะวางถังน้ำมนต์ และในวันที่ 29 มิถุนายน 2557 นางอาภรณ์กับเพื่อนเดินทางไปที่วัดหนองตะโกเพื่อจะหาเลขซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ยินจำเลยพูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “นางนงนุช (โจทก์ที่ 1) เป็นบุคคลเชื่อถือไม่ได้โกงเงินวัดไปจำนวน 5 ล้านบาท เป็นมนุษย์สิบแปดมงกุฎ ไม่ให้ผู้ใดเชื่อถือบุคคลนี้” และมีภาพถ่ายระบุชื่อนามสกุล โจทก์ที่ 1 ปิดไว้ที่โต๊ะวางถังน้ำมนต์ นางอาภรณ์ไม่ได้รอเอาตัวเลขจากจำเลย แต่ขณะอยู่ในวัดได้โทรศัพท์ไปหาโจทก์ที่ 1 แล้วแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้โจทก์ที่ 1 ทราบ พร้อมทั้งสอบถามโจทก์ที่ 1 ว่า โกงเงินไปจำนวน 5 ล้านบาท จริงหรือไม่ โจทก์ที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่ได้โกง เห็นว่า ข้อความที่โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องว่า จำเลยหมิ่นประมาท โจทก์ที่ 1 นั้น พยานโจทก์ที่ 1 คงเบิกความแต่เพียงว่า จำเลยพูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมนุษย์สิบแปดมงกุฎ เท่านั้น ที่ตรงกับถ้อยคำซึ่งโจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องไว้ ส่วนข้อความอื่นที่โจทก์ที่ 1 นำสืบ เป็นข้อความที่โจทก์ที่ 1 มิได้บรรยายไว้ในคำฟ้อง ภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 ที่โจทก์ที่ 1 นำสืบว่า ติดอยู่ที่โต๊ะวางถังน้ำมนต์ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 มิได้บรรยายไว้ในคำฟ้องเพราะโจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 มาแจกจ่ายให้บุคคลทั่วไป ในคดีหมิ่นประมาทนั้น ถ้อยคำพูดหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 วรรคสอง โจทก์ต้องบรรยายไว้ในคำฟ้อง เมื่อโจทก์ที่ 1 มิได้บรรยายฟ้องถ้อยคำพูดอื่น และภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 ที่ติดที่โต๊ะวางถังน้ำมนต์ดังกล่าวไว้ให้ปรากฏไว้ในคำฟ้องจึงถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ประสงค์ให้ลงโทษ แม้จะฟังได้ว่าจำเลยพูดและติดภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจริง ศาลก็ไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาลงโทษจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ ดังนั้น ถ้อยคำที่โจทก์ที่ 1 นำสืบว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 1 คงมีเพียงถ้อยคำที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่า จำเลยพูดว่า “โจทก์ที่ 1 เป็นมนุษย์สิบแปดมงกุฎ” และนำภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 มาแจกจ่ายเท่านั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยพูดถ้อยคำดังกล่าวและนำภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 มาแจกจ่ายจริง และเป็นถ้อยคำที่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่จำเลยเป็นพระภิกษุที่รับผิดชอบดูแลสำนักสงฆ์เขาดินสอ และการให้เลขแก่ประชาชนเพื่อไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือหวยมิใช่กิจของสงฆ์ ในงวดวันที่ 1 มิถุนายน 2557 มีประชาชนจำนวนมากถูกหวยจากเลขท้ายสามตัวที่จำเลยให้ จึงน่าเชื่อว่าหลังวันที่ 1 มิถุนายน 2557 มีประชาชนมาที่สำนักสงฆ์เขาดินสอเป็นจำนวนมากและบริจาคเงินจำนวนไม่น้อย ช่วงเวลาที่จำเลยไม่อยู่ที่สำนักสงฆ์เขาดินสอระหว่างวันที่ 2 ถึง 8 มิถุนายน 2557 เพราะมีคนมายิงปืนที่สำนักสงฆ์ในช่วงเช้าของวันที่ 2 มิถุนายน 2557 จำเลยมอบให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้เก็บเงินที่ประชาชนมาบริจาค โจทก์ที่ 1 อ้างว่ามีเงินบริจาคในช่วงเวลาดังกล่าวเพียง 360,000 บาท โจทก์ที่ 1 สั่งซื้อเครื่องรางจากอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ไปประมาณ 300,000 บาท และจ่ายค่าดินลูกรัง 90,000 บาท เงินบริจาคจึงไม่พอกับค่าใช้จ่าย แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้มอบบิลส่งของชั่วคราวให้จำเลย ทั้งบิลส่งของชั่วคราวดังกล่าวระบุเพียงว่าเป็นค่าตัวต่อเงินต่อทอง แต่มิได้ระบุซื้อมาจากบุคคลใด ร้านค้าชื่ออะไร และไม่มีชื่อหรือลายมือชื่อว่าบุคคลใดเป็นผู้ส่งของ ทั้งโจทก์ที่ 1 ไม่ได้แจ้งยอดเงินบริจาคแต่ละวันให้จำเลยทราบ เกี่ยวกับเรื่องเงินบริจาคของสำนักสงฆ์เขาดินสอนั้น โจทก์ที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ที่ 1 ถามติงว่า ช่วงที่ประชาชนมาจำนวนมากมีเงินทำบุญประมาณ 1,000,000 บาท ต่อวัน จำเลยเก็บเงินดังกล่าวไว้และจำเลยจ้างคนไปนับที่หมู่บ้านพฤกษากาญจน์ และโจทก์ที่ 1 เบิกความยอมรับว่า ช่วงวันที่ 2 ถึง 8 มิถุนายน 2557 นายสุนทร นางแย้ม ลูกศิษย์จำเลยรับโอนเงินจากผู้บริจาคเข้าบัญชีของนายสุนทร 20,000 บาท นายสุนทรโอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์ที่ 1 นายดาบตำรวจหรือนายนิธิพจน์หรือกล้า พยานโจทก์ที่ 1 ก็เบิกความว่า ช่วงก่อนวันสลากกินแบ่งรัฐบาลออกประมาณ 2 ถึง 3 วัน มีประชาชนมาทำบุญจำนวนมาก หากจำเลยอยู่ที่สำนักสงฆ์จะได้เงินวันละ 50,000 ถึง 80,000 บาท บางวันก็ได้เป็นแสน บางวันก็ได้เป็นล้านบาท โจทก์ที่ 2 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ทั้งสองเคยไปช่วยจำเลยนับเงินบริจาคที่บ้าน ผู้ที่ช่วยกันนับเงินบริจาคมีเพียงโจทก์ทั้งสองกับนายกล้าและจำเลยเพียง 4 คนเท่านั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ทราบดีว่าแต่ละวันมีผู้บริจาคเงินจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่จำเลยไม่อยู่ที่สำนักสงฆ์ จำเลยไว้วางใจมอบให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ดูแลเงินบริจาค แต่โจทก์ที่ 1 กลับไม่ได้แจ้งยอดเงินบริจาคแต่ละวันให้จำเลยทราบ จำเลยนำสืบว่าในระหว่างวันที่ 10 ถึง 14 มิถุนายน 2557 จำเลยกลับมาที่สำนักสงฆ์เขาดินสอ มีคนมาร่วมทำบุญวันละหลายแสนบาท ช่วงวันที่ 9 ถึง 15 มิถุนายน 2557 มีประชาชนประมาณ 100 คน บอกจำเลยว่าถวายเงินบริจาคให้จำเลย โดยใส่ซองมอบให้โจทก์ที่ 1 แต่จำเลยไม่ได้รับเงิน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยพูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “โจทก์ที่ 1 เป็นมนุษย์สิบแปดมงกุฎ” เพราะช่วงที่จำเลยไม่อยู่ที่สำนักสงฆ์ จำเลยมอบให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ดูแลเงินบริจาค แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้มอบเงินหรือทำบัญชีแจ้งยอดเงินบริจาคแต่ละวันให้จำเลยทราบ และจำเลยพูดเพื่อมิให้ประชาชนมอบเงินบริจาคให้แก่สำนักสงฆ์เขาดินสอผ่านโจทก์ที่ 1 อีก เป็นการกระทำในฐานะที่จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบดูแลสำนักสงฆ์เขาดินสอ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326 ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง และไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 หรือไม่ คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม อันไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 วรรคสอง โจทก์ต้องบรรยายไว้ในคำฟ้อง เมื่อโจทก์ที่ 1 มิได้บรรยายฟ้องไว้ ถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ประสงค์ให้ลงโทษ แม้จะฟังได้ว่าจำเลยพูดและติดภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจริง ก็ไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่

มีปัญหาคดีความปรึกษาทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments