Home คดีอาญา หลักการนับโทษต่อในคดีความผิดหลายกรรม ศาลฎีกาใช้หลักการในการพิจารณาอย่างไร (มีฎีกา)

หลักการนับโทษต่อในคดีความผิดหลายกรรม ศาลฎีกาใช้หลักการในการพิจารณาอย่างไร (มีฎีกา)

9584

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2373/2562

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 268, 335 ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนรวมเป็นเงิน 1,559,400 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 100/2560, 248/2560, 638/2560, 654/2560, 806/2560, 821/2560, 866/2560, 931/2560, 1091/2560, 1153/2560 และ 1154/2560 ของศาลชั้นต้น และนับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558, 415/2560 และ 821/2560 ของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 335 (7) (11) วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปลอมเอกสารนั้นเอง ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทกับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง ให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 638/2560, 654/2560, 806/2560, 821/2560, 866/2560, 1091/2560, 1153/2560 และ 1154/2560 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558, 415/2560 และ 821/2560 ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 415/2560 ของศาลชั้นต้น คืนเงิน 1,559,400 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 100/2560, 248/2560 และ 931/2560 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 415/2560 ของศาลชั้นต้น โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 ของศาลชั้นต้น และเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้นับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 ของศาลชั้นต้น และเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน 20 วัน และในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 9 เดือน แม้คดีทั้งสองจะยังไม่ถึงที่สุดเพราะอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ฎีกา แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังต้องถูกบังคับตามผลของคำพิพากษาในคดีทั้งสองอยู่ จึงมิใช่เหตุที่จะนำมานับโทษต่อกับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ไม่ได้แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น จึงชอบแล้ว อย่างไรก็ตาม ระหว่างจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาในคดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ ตามสำเนาคำพิพากษาแนบท้ายฎีกา จึงไม่มีโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ที่จะนำโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ไปนับต่อได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน

มีปัญหาข้อเท็จจริงต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นการร่วมมือกับนางณภัทรหรือหนึ่ง จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 415/2560 ของศาลชั้นต้น กระทำความผิดโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

สรุป จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 ของศาลชั้นต้น และเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน 20 วัน และในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 9 เดือน แม้คดีทั้งสองจะยังไม่ถึงที่สุดเพราะอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ฎีกา แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังต้องถูกบังคับตามผลของคำพิพากษาในคดีทั้งสองอยู่ ศาลฎีกาชอบที่จะนำโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีทั้งสองมานับต่อจากโทษจำคุกคดีนี้ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น จึงไม่มีโทษจำคุกในคดีดังกล่าวที่จะนำมานับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments