Home คดีอาญา ฎีกาประชุมใหญ่ ดอกเบี้ยเกินอัตราที่ชำระให้ผู้กู้เรียกคืนได้หรือไม่

ฎีกาประชุมใหญ่ ดอกเบี้ยเกินอัตราที่ชำระให้ผู้กู้เรียกคืนได้หรือไม่

11061

ฎีกาประชุมใหญ่ ดอกเบี้ยเกินอัตราที่ชำระให้ผู้กู้เรียกคืนได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 466,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 450,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 395,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 395,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 2,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 จำเลยกู้เงินจากโจทก์ 50,000 บาท มีกำหนดชำระหนี้ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2556 โดยระบุว่านำรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน 1442 ชัยนาท ให้โจทก์ถือไว้เป็นประกัน ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2556 จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ ระบุจำนวนเงินที่กู้ 400,000 บาท มีกำหนดชำระหนี้ภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2556 โดยหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงิน หรือไม่ เพียงใด ปัญหานี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยยังมิได้ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว จำเลยก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่า จำเลยได้ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวแล้ว ย่อมถือได้ว่าจำเลยยอมรับตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยผ่อนชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจนครบแล้ว จึงเป็นการนำสืบนอกเหนือจากที่ให้การต่อสู้ไว้ไม่อาจให้รับฟังได้ ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพียงใด ในข้อนี้โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน และโจทก์ยังเบิกความด้วยว่า หลังจากทำหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่งแล้ว จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เดือนละ 2,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 7,500 บาท ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 จำเลยหาอาจจะเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะแล้ว และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัด คือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 442,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 42,500 บาท นับถัดจากวันที่ 20 มิถุนายน 2556 และของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันที่ 28 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

สรุป

การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments