Home คดีแพ่ง รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีบัตรเครดิต อับเดต 2563

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีบัตรเครดิต อับเดต 2563

12661

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีบัตรเครดิต อับเดต 2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5226/2561

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ณ วันที่ 20 มีนาคม 2552 จำเลยมีหนี้ค้างชำระการใช้บัตรเครดิตแก่โจทก์จำนวน 200,042.17 บาท ซึ่งจะต้องชำระภายในวันที่ 9 เมษายน 2552 โจทก์ได้ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,042.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 184,386.18 บาท นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2552 เป็นเงิน 6,592.44 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 206,634.61 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,592.44 บาท ซึ่งคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยค้างชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 206,634.61 บาท และโจทก์ระบุเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องคดีนี้ อันเป็นการบรรยายหนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ตามที่ปรากฏในคำฟ้องแล้ว แสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะได้รับชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ดังกล่าว หาใช่ต้องการให้จำเลยชำระหนี้เพียง 6,592.44 บาท ไม่ น่าเชื่อว่าตามคำขอบังคับของโจทก์ เกิดจากความพลั้งเผลอพิมพ์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากเจตนาที่แท้จริง เป็นเหตุให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 6,592.44 บาท ผิดพลาดไปด้วย กรณีถือได้ว่าคำพิพากษามีข้อผิดพลาดเล็กน้อย โจทก์จึงชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ถูกต้องได้ จึงมีเหตุสมควรแก้ไขจำนวนเงินในคำพิพากษาจาก 6,592.44 บาท เป็น 206,634.61 บาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2561

ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับแห่งหนี้ ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 5 บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปต่อเมื่อได้มีการชำระหนี้ มีการปลดหนี้ มีการหักกลบลบหนี้ มีการแปลงหนี้ใหม่หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้เพียงบางส่วนจาก บ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์เฉพาะเท่าที่ปลดหนี้ให้ บ. เท่านั้น เมื่อการชำระหนี้นั้นยังไม่ครบจำนวน ทั้งไม่ปรากฏเหตุอื่นที่อาจทำให้หนี้ดังกล่าวทั้งหมดระงับสิ้นไป แต่ยังมีหนี้ที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระอีก การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจาก บ. เป็นเพียงโจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีหนี้ส่วนที่เหลือ จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 685 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปกับ บ. ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกับ บ. เมื่อได้ความว่า ทั้งจำเลยที่ 2 และ บ. ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่มิได้ค้ำประกันร่วมกัน แต่ต้องรับผิดร่วมกันดังกล่าวไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229, 293 และ 296 แม้โจทก์จะยอมรับการชำระหนี้และปลดหนี้ให้ บ. คงเป็นประโยชน์แก่โจทก์เพียงเท่าส่วนของ บ. ชำระให้โจทก์และที่ปลดไป ซึ่งทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ปลดไปได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือไม่ เมื่อได้ความว่า บ. ชำระหนี้ให้โจทก์ไปเพียง 4,050,000 บาท ยังไม่ครบตามภาระหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างชำระในต้นเงิน ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2561

การที่จำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีเงินฝาก ป. รวม 9 ครั้ง เป็นเงิน 4,173,000 บาท ตามที่ได้รับมอบอำนาจจาก ป. เพื่อนำไปให้ ต. ผู้ที่ขายเมทแอมเฟตามีนให้ ศ. กับพวก ถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (2), 60

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2560

แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารเป็นคู่สัญญาและมีข้อกำหนดในข้อ 1 ระบุว่า สมาชิกบัตรหลักและสมาชิกบัตรเสริมตามที่ปรากฏในใบสมัครจะต้องผูกพันร่วมกันในฐานะลูกหนี้ร่วมรับผิดชอบชำระหนี้ค่าสินค้าและหรือบริการอันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตรวมทั้งค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวนั้นมิใช่นิติกรรมประเภทสัญญาที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม เพราะสัญญาบัตรเครดิตนั้นสามารถแยกการใช้จ่ายได้ระหว่างบัตรหลักคือบัตรเครดิตของจำเลยที่ 1 กับบัตรเสริมหรือบัตรเครดิตเสริมที่โจทก์ออกให้จำเลยที่ 2 นอกจากนี้เอกสารก็มิใช่สัญญาค้ำประกันที่จะผูกพันจำเลยที่ 2 ในอันที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม โดยเห็นได้ชัดว่าการทำบัตรเครดิตหลักและบัตรเครดิตเสริมนั้น โจทก์มุ่งหมายให้ผู้ใช้บัตรเครดิตหลักซึ่งเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือกว่าผู้ใช้บัตรเครดิตเสริมเป็นลูกหนี้หลัก ทั้งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัดให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมดดังนั้นข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักจะต้องมีมากกว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตเสริมโจทก์จะพิจารณาดูจากเครดิตหรือความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการชำระหนี้จากผู้ถือบัตรหลักคือจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์จึงอนุญาตในการออกบัตรเครดิตเสริมให้แก่จำเลยที่ 2 โดยลักษณะของสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ถึงเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ว่า โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักเป็นผู้รับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เองและของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเสริมเท่านั้น มิใช่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ผู้ถือบัตรเครดิตเสริมต้องมาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้ในเอกสารที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในใบสมัครบัตรเสริมจะมีข้อความกำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมก็ตาม แต่ข้อกำหนดในเอกสารคำขอเปิดบัตรเครดิตเสริมนั้นไม่ถือว่าผูกพันจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ข้อสัญญาดังกล่าวยังถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภคด้วยประกอบกับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตหลักในการก่อหนี้โดยตรงกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้โดยตรงเพียงคนเดียวที่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันร่วมรับผิดกับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3115/2557

ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่โจทก์นำสืบ 2 ฉบับ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 (1) และข้อ 8 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ได้ออกข้อกำหนดที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามที่กำหนดในประกาศข้อ 4.4 (4) ว่า การให้บริการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอนนั้น และ (5) ว่า ภายใต้ (4) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตอาจเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระหรือดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใดจากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคได้ แต่ดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมและค่าบริการนั้น เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวมีความหมายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการและค่าธรรมเนียมใด ๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ตามลำดับ แต่ข้อเท็จจริงตามสัญญาการใช้บัตรเครดิต ใบบันทึกยอดหนี้ และคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า โจทก์อนุมัติวงเงินตามสัญญาบัตรเครดิต 55,000 บาท นั้น คิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินตั้งแต่ 25,000 บาท ขึ้นไป คิดอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และคิดดอกเบี้ยในยอดเงินที่ค้างชำระอัตราร้อยละ 10 ต่อปี เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินเข้าด้วยกันแล้วเกินกว่าอัตราร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ทั้งสองฉบับดังกล่าว การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าวจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะ ก็เท่ากับสัญญาบัตรเครดิตมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด เมื่อปรากฏตามใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตและใบบันทึกรายการยอดหนี้ว่า จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 183,455 บาท สูงกว่าจำนวนเงินต้นที่จำเลยใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโจทก์เพียง 130,953.74 บาท จึงถือว่าจำเลยได้ชำระหนี้บัตรเครดิตให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13972/2556

แม้จำเลยจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญากู้ยืมเงินและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่โจทก์ทั้งสองแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยจนครบจำนวนให้เสร็จสิ้น จำเลยย่อมมีสิทธิหักเงินเดือนและเงินโบนัสของโจทก์ที่ 2 ภายหลังจากเลิกสัญญาจำนวน 79,194.50 บาท เพื่อชำระหนี้ตามข้อตกลงที่โจทก์ที่ 2 ให้ไว้แก่จำเลยแต่เดิมได้เพราะเป็นสิทธิโดยชอบและโจทก์ที่ 2 ยังค้างชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเมื่อโจทก์ที่ 2 และจำเลยต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน จำเลยย่อมมีสิทธิหักกลบลบหนี้ระหว่างกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ได้ด้วย การหักเงินของจำเลยจึงเป็นไปโดยสุจริตไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวน 79,194.50 บาท คืนจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2556

ก่อน ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายได้ทำหนังสือให้ความยินยอมให้จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้บัตรเครดิตของ ม. แม้ ม. จะเป็นหนี้จากการใช้บัตรเครดิตของจำเลยครั้งสุดท้ายก่อนวันที่ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและหนี้ดังกล่าวไม่ระงับลงเพราะความตายของ ป. เจ้ามรดกก็ตาม แต่การที่จำเลยจะใช้สิทธิและอำนาจในการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดก จำเลยจะต้องดำเนินการในระหว่างที่หนังสือให้ความยินยอมมีผลใช้บังคับ หาใช่จะใช้สิทธิและอำนาจตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้ เมื่อหนังสือให้ความยินยอมทำขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยออกให้แก่ ม. โดยสภาพจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ป. เจ้ามรดก เมื่อ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หน้าที่และความรับผิดตามหนังสือให้ความยินยอมย่อมสิ้นสุดลงหาเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทไม่ จำเลยจะอาศัยแสวงสิทธิจากหนังสือให้ความยินยอมหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดกหลังจาก ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายหาได้ไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยจะทราบเรื่องที่ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ การที่จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดกชำระหนี้บัตรเครดิตของ ม. จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10969/2555

เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอันเกิดจากการกระทำของลูกหนี้อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ รวมไปถึงการชำระหนี้ให้บางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยตกลงชำระหนี้บัตรเครดิตโดยยินยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลย และสัญญาการใช้บัตรเครดิตระบุว่า หากมีการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าด้วยเหตุประการใด ให้ถือว่าเป็นการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตเท่านั้น มิใช่เป็นการยกเลิกสัญญา และหากปรากฏว่ามียอดเงินเป็นลูกหนี้โจทก์ จำเลยตกลงที่จะชำระหนี้โดยให้โจทก์หักเงินจากบัญชีชำระหนี้ได้ ดังนี้ การที่โจทก์หักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยเพื่อชำระหนี้จึงเป็นกรณีที่จำเลยยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์หักเงินจากบัญชีของจำเลยตามอำเภอใจไม่ กรณีจึงเป็นการรับสารภาพหนี้ต่อโจทก์ด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วนอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เช่นนี้นับแต่วันที่จำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายจนถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7319/2553

ตามคำยินยอมคำขอเปิดบัญชีสะสมทรัพย์ข้อ 3 และข้อ 4 มีข้อความว่า “ข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารนำเงินที่ข้าพเจ้านำเข้าฝากในบัญชีสะสมทรัพย์มาหักทอนยอดหนี้ที่เกิดขึ้นตามกล่าวในข้อ 3 หรือหนี้ลักษณะอื่นใดที่ข้าพเจ้ามีอยู่กับธนาคารได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบล่วงหน้า” ซึ่งข้อ 3 มีข้อความว่า “ในกรณีที่ข้าพเจ้าให้คำยินยอมหรือมอบอำนาจให้แก่ธนาคารหรือได้สั่งการไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่ธนาคารหักเงินจากบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้แก่ธนาคารหรือบุคคลอื่น เช่น รายการชำระหนี้ตามบัตรเครดิต … เป็นต้น ถ้าหากธนาคารได้ผ่อนผันการจ่ายเงินเกินบัญชีไป ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินคืนธนาคารโดยถือเสมือนว่าข้าพเจ้าได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคาร และยินยอมให้ธนาคารเรียกดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราสูงสุดที่ธนาคารได้มีประกาศกำหนด..” โดยไม่ปรากฏข้อตกลงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำหนี้ที่โจทก์มีอยู่ต่อจำเลยที่ 1 ก่อนวันขอเปิดบัญชีสะสมทรัพย์มาหักจากเงินฝากในบัญชีของโจทก์ได้ อีกทั้งตามคำขอเป็นผู้ถือบัตรเครดิตของโจทก์ โจทก์ตกลงชำระหนี้การใช้บัตรเครดิตด้วยการให้จำเลยที่ 1 หักเงินจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์เลขที่ 170-0-09210-7 เท่านั้น โดยไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 หักเงินจากบัญชีเงินฝากอื่นของโจทก์ได้อีก ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำเงินฝากจากบัญชีสะสมทรัพย์ของโจทก์เลขที่ 230-0-38370-6 มาหักชำระหนี้บัตรเครดิตได้ และจำเลยที่ 1 ก็มิอาจนำเงินฝากในบัญชีสะสมทรัพย์มาหักกลบลบหนี้บัตรเครดิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 โดยไม่มีข้อตกลงระหว่างกันได้ เนื่องจากในวันที่โจทก์เปิดบัญชีสะสมทรัพย์ไว้กับจำเลยที่ 1 ขณะนั้นสิทธิเรียกร้องในหนี้บัตรเครดิตที่โจทก์มีต่อจำเลยที่ 1 ได้ขาดอายุความไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2553

จำเลยนำหนังสือรับรองยอดเงินฝากธนาคารผู้คัดค้าน สาขาถนนสาธรประเภทเงินฝากประจำของจำเลยมาประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว ว. ต่อศาลแขวงธนบุรี เมื่อศาลแขวงธนบุรีมีหนังสืออายัดเงินฝากไปยังธนาคารผู้คัดค้าน สาขาถนนสาธรแล้ว ธนาคารผู้คัดค้านแจ้งว่าได้รับการแจ้งอายัดสมุดเงินฝากของจำเลยแล้ว ธนาคารผู้คัดค้านจะระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยไว้ตามคำสั่งศาลจนกว่าจะได้รับการแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลเป็นอย่างอื่น ย่อมเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งอยู่แล้วว่าธนาคารผู้คัดค้านทราบดีว่าจำเลยได้นำเงินในบัญชีเงินฝากไปใช้เป็นหลักประกันการขอปล่อยตัวชั่วคราว ว. และธนาคารผู้คัดค้านยังมีภาระผูกพันที่จะต้องระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไว้ตามคำสั่งศาลแขวงธนบุรีจนกว่าจะได้รับการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลแขวงธนบุรีเป็นอย่างอื่น ดังนั้น ตราบใดที่ธนาคารผู้คัดค้านยังไม่ได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลแขวงธนบุรีเป็นอย่างอื่น หนังสืออายัดของศาลแขวงธนบุรี จึงยังมีผลพันธนาคารผู้คัดค้านอยู่ ธนาคารผู้คัดค้านจึงไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ รวมถึงไม่มีสิทธินำเงินในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับบัญชีบัตรเครดิตของจำเลยที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารผู้คัดค้านได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา 

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments