Home คดีแพ่ง รวมคำพิพากษาฎีกา สู้คดีเช่าซื้อ อับเดต2563

รวมคำพิพากษาฎีกา สู้คดีเช่าซื้อ อับเดต2563

24302

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า “และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที…” แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14324/2558

จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อให้ ส. ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7892/2553

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 มอบรถยนต์ให้ ช. ใช้ประโยชน์ ช. ย่อมเป็นผู้ครอบครองรถยนต์แทนจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 จะบอกเลิกสัญญาโดยการส่งมอบรถยนต์คืน ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้ส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573

จำเลยทั้งสองให้การแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่ามีการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 เป็น ช. หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงระงับ หรือมิฉะนั้นก็เป็นกรณีตัวการไม่เปิดเผยชื่อ เมื่อเปิดเผยชื่อตัวการโดยจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบ ช. ตัวการต้องเข้ามาผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3238/2552

การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่ ท. และโจทก์ได้เรียกเก็บเงินค่าเปลี่ยนสัญญา ค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียนโดยใช้แบบพิมพ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าตรวจสภาพรถ ค่าปรับล่าช้าและสั่งจ่ายเช็ครวม 6 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าและโจทก์ยึดรถจากผู้ครอบครองคือ ท. และเป็นการยึดรถที่จังหวัดยโสธรอันเป็นภูมิลำเนาของ ท. ซึ่งโจทก์รับในฎีกาว่ายึดรถยนต์ได้จาก ท. พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็น ท. นั้น โจทก์จะไม่อนุมัติในภายหลัง สัญญาเช่าซื้อก็เป็นอันเลิกกันแล้วนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4921/2549

จำเลยให้การโดยชัดแจ้งว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 ทั้งปรากฏตามหลักฐานใบรับรถซึ่งจำเลยเป็นฝ่ายอ้างส่งว่า โจทก์ได้รับรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 ดังนั้น จึงต้องฟังว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 ดังนั้น คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์มีสิทธิเรียกค่าใช้ทรัพย์สินและค่าเสียหายจากจำเลยได้ เมื่อพิจารณาถึงสภาพรถที่เช่าซื้อซึ่งเป็นรถใหม่ และการนำรถไปใช้บรรทุกดินเพื่อรับจ้างของจำเลยแล้ว เห็นควรกำหนดค่าใช้ทรัพย์สินและค่าเสียหายแก่โจทก์เท่ากับค่าเช่าซื้อที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ในแต่ละเดือน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7024/2548

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ 5 งวด แต่ก่อนครบกำหนดชำระประจำงวดที่ 6 จำเลยที่ 1 ติดต่อกับ พ. พนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่โดยให้ ย. เป็นผู้เช่าซื้อและให้ ก. เป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง พ. จึงให้จำเลยที่ 1 และ ย. ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ ให้ ย. ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่โดยไม่มีการกรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ในหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์ที่ทำขึ้นโดยบริษัทโจทก์ โดย พ. พนักงานของโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นฝ่ายโอนสิทธิและผู้ส่งมอบ ซึ่งมีการตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำเอกสารจากพนักงานฝ่ายอื่นของโจทก์ ทั้งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิให้แก่โจทก์รับไปถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติในการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์แล้ว อันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาเช่าซื้อ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้วในวันดังกล่าว มิฉะนั้นโจทก์คงจะไม่ยินยอมให้มีการตกลงโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและทำหลักฐานรับมอบรถยนต์ให้แก่ ย. ไป การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์ โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนังสือโอนสิทธิและสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับ ย. จะได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นอันเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้กับโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7024/2548

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เรื่อยมาโดยไม่มีการผิดนัดจนถึงงวดที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับ พ. พนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่ โดยให้ ย. เป็นผู้เช่าซื้อ และให้ ก. เป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง พ. จึงให้จำเลยที่ 1 และ ย. ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเดิมและผู้เช่าซื้อใหม่ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ให้ ย. ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อโดยไม่มีการกรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ในหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์ที่ทำขึ้นโดยบริษัทโจทก์ โดย พ. พนักงานของโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นฝ่ายโอนสิทธิและผู้ส่งมอบ มีการตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำเอกสารพนักงานฝ่ายอื่นของโจทก์อีกด้วย ทั้งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิให้แก่โจทก์รับไปถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติในการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้วในวันดังกล่าว ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อระหว่าง ย. กับโจทก์จะได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็เป็นอันเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10700/2546

เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ชำระค่าเช่าซื้อแทนจำเลยที่ 2 ผู้เช่าซื้อแล้ว โจทก์มีสิทธิเพียงไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคหนึ่ง แม้ตามวรรคสองบัญญัติว่า “ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย” และสัญญาค้ำประกัน ข้อ 3 ระบุให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิได้รับช่วงสิทธิทั้งหลายที่เจ้าของมีอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าตามกฎหมายหรือตามสัญญาเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อก็ตาม ก็คงมีความหมายเพียงว่า ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 การที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 1 บรรดามีเหนือของจำเลยที่ 2 หาทำให้โจทก์มีสิทธิในรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไปจากจำเลยที่ 1 ไม่ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อแทนจำเลยที่ 2 ไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 2 ทั้งไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ และบังคับให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6967/2545

สัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) ระบุว่า ห้างฯ จำเลยที่ 1 เช่ารถยนต์คันหนึ่งจากบริษัทโจทก์มีกำหนด 4 ปี ชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าแต่มีสิทธิจะซื้อรถยนต์ที่เช่าจากโจทก์ได้ โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ดังนี้ สัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) ที่ทำต่อกันนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งอันเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งที่โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว แต่สัญญานี้หาใช่สัญญาเช่าซื้อตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ไม่ เพราะในสัญญาเช่าซื้อนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อย่อมโอนไปยังผู้เช่าซื้อทันที โดยค่าเช่าซื้อรวมไว้ทั้งค่าเช่าและค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อด้วย และผู้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 แต่สัญญาเช่าแบบลีสซิ่งเมื่อผู้เช่าชำระค่าเช่าจนครบกำหนดการเช่าแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังไม่ตกเป็นของผู้เช่าจนกว่าจะแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าจนเกิดเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าเสียก่อนเงินค่าเช่าก็ไม่อาจถือว่ารวมค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าไว้ด้วย และผู้เช่าไม่อาจบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าได้ ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) นี้มิใช่สัญญาเช่าซื้อ จึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118 ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2545

การที่เจ้าพนักงานตำรวจมีหนังสือแจ้งอายัดการดำเนินการทางทะเบียนต่อผู้อำนวยการสำนักงานทะเบียนรถยนต์ เพราะการนำรถยนต์เข้าประเทศผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์จะรับโอนรถยนต์มาและไม่อาจทราบได้ การที่ไม่อาจต่อทะเบียนรถยนต์ประจำปี จึงมิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเลิกสัญญาเพราะไม่อาจใช้รถยนต์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก็ชอบที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 โดยส่งมอบรถยนต์คืน แต่จำเลยที่ 1 กลับชำระค่าเช่าซื้อต่อมาจนถึงงวดที่ 17 จากนั้นไม่ยอมชำระค่าเช่าซื้อและไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนโดยปราศจากเหตุผล โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมร่วมกันส่งมอบรถยนต์หรือใช้ราคาคืนและเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4974/2545

จำเลยเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบสำเนาทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ผู้เช่าซื้อ เพราะสำเนาทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์เป็นสาระสำคัญในการใช้รถ จำเลยส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อโดยรถยนต์ไม่มีสภาพเหมาะสมจะใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาเช่าซื้อ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ประกอบมาตรา 549 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ จะอ้างเหตุอันเกิดจากบริษัท น. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ยังไม่โอนทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยไม่ได้ เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและไม่ชำระค่าเช่าซื้อได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369

จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่สามารถจัดการแก้ไขให้รถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ในสภาพใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ถือได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องส่งมอบรถยนต์คืนจำเลยก่อน เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 นั้นเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาในกรณีที่ไม่มีการผิดสัญญา ฉะนั้น เมื่อคู่สัญญาเลิกสัญญาโดยชอบแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โดยโจทก์ต้องคืนรถยนต์พิพาทให้จำเลยและต้องใช้เงินตามค่าแห่งการใช้สอยรถยนต์พิพาทให้จำเลยด้วย ส่วนจำเลยก็ต้องคืนค่าเช่าซื้อแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2630/2545

การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องบอกเลิกเป็นหนังสือ หากผู้ให้เช่าซื้อกระทำการใดที่แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่ออกให้เช่าซื้ออีกต่อไป ก็ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว การที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปจึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว

ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า ขอถือเอาคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาจำเลยทั้งสองนั้น เป็นข้อฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร พร้อมด้วยเหตุผลที่คัดค้าน เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 456/2545

คดีก่อนโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคาแทนและให้ใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ ส่วนคดีนี้ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายในการยึดรถยนต์และค่าเสื่อมราคา ซึ่งเป็นความเสียหายของโจทก์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว คำขอบังคับจำเลยทั้งสองในคดีนี้จึงต่างจากคำขอบังคับของโจทก์ในคดีก่อน และมิใช่เป็นประเด็นที่ศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ทั้งมิใช่กรณีที่จะไปว่ากล่าวในชั้นบังคับคดีในคดีก่อนได้ เพราะการบังคับคดีจะต้องอาศัยคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นหลักแห่งคำบังคับ ซึ่งไม่มีหนี้ตามฟ้องโจทก์ในคดีนี้ที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสองต้องชำระแก่โจทก์รวมอยู่ด้วย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments