ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3)

คำท้าในคดีแพ่ง คือ การที่คู่ความต่างแถลงร่วมกันต่อศาล โดยตกลงจะยอมรับข้อเท็จจริงที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้าง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ถ้าผลแห่งการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นเป็นประโยชน์ต่อคู่ความฝ่ายใด อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงตามข้ออ้างของฝ่ายนั้นทั้งหมด โดยถือว่าเป็นคำรับกันในศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) ย่อมส่งผลให้ศาลจะไปรับฟังข้อเท็จจริงให้ผิดเพี้ยนไปจากที่ท้ากันไม่ได้

ปัญหาข้อพิพาทนั้นจะถูกแบ่งเป็นสองอย่าง คือ

1 ปัญหาข้อกฎหมาย กับ 2 ปัญหาข้อเท็จจริง

ปัญหาข้อกฎหมายนั้นศาลจะใช้ความรู้ทางกฎหมายของศาลวินิจฉัยชี้ขาดโดยที่คู่ความไม่ต้องนำสืบ

ส่วนปัญหาข้อเท็จจริง คู่ความต้องใช้พยานหลักฐานมาพิสูจน์กัน

มีข้อยกเว้นอยู่ 3 ข้อ ที่คู่ความไม่จำต้องใช้พยานหลักฐานมาพิสูจน์ คือ

1. ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป

2. ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้

3. ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความรับกันแล้วหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล

ตัวอย่าง

โจทก์กับจำเลยตกลงท้ากันว่า ถ้านาง ก.กล้าสาบาน โจทก์จะยอมรับข้ออ้างของจำเลยและยอมแพ้คดี แต่ถ้านางก.ไม่กล้าสาบานจำเลยต้องแพ้คดี เมื่อถึงวันนัดหมายนางก.ไปยังสถานที่ที่กำหนดแล้วไม่ยอมสาบาน ทั้งนี้นางก.จะรู้หรือไม่รู้ว่าโจทก์กับจำเลยท้ากันก็ไม่เกี่ยว เมื่อนางก.ไม่ยอมสาบาน ศาลก็ต้องตัดสินให้จำเลยแพ้คดี เพราะถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในข้อสำคัญของคดีแล้ว

หลักเกณฑ์

1. คำท้านั้นต้องมีเงื่อนไขว่าจะต้องเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล เช่น ท้าในเรื่องการสาบานตนก่อนเบิกความ (ฎ.339/2492) หรือท้ากันในเรื่องข้อเท็จจริงที่พยานเบิกความ (ฎ.2181/2523) แต่ไม่รวมถึงเรื่องที่อาจเข้าลักษณะเป็นการพนันขันต่อ ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและส่งผลให้คำท้านั้นไม่มีผลบังคับและถูกบอกเลิกได้ เช่น ท้ากันโดยถือเอาการออกรางวัลของสลากกินแบ่งรัฐบาลมาเป็นข้อแพ้ชนะ เป็นต้น

2. คำท้านั้นอาจท้ากันในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีก็ได้ เช่น การท้าสาบาน หากโจทก์ยอมสาบาน จำเลยจะยอมแพ้ และแม้จะตกลงกันเอาการสาบานของบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกับคดีมาเป็นเงื่อนไขก็ได้ (ฎ.1186/2533) หรือ การท้ากันในเรื่องของผลพิสูจน์ลายมือชื่อ หากผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลย จำเลยจะยอมแพ้ (ฎ.407/2544)

3. การท้านั้นอาจท้ากันโดยเอาผลของคดีอื่นมาเป็นข้อแพ้ชนะกันก็ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าคดีอื่นนั้นต้องเกี่ยวข้องกับคดีเรื่องที่ท้ากันด้วย เช่น ในคดีละเมิดขับรถชน คู่ความท้ากันว่าถ้าศาลในคดีอาญาตัดสินว่าจำเลยไม่ได้กระทำโดยประมาท โจทก์จะยอมแพ้ในคดีแพ่งและไม่เรียกค่าสินไหมทดแทนใดๆ แต่ถ้าศาลตัดสินว่าจำเลยกระทำโดยประมาท จำเลยจะยอมแพ้และชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามฟ้องของโจทก์ เช่นนี้ ถือว่าเป็นคำท้าที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลและมีผลผูกพันกัน

4. คำท้านั้นจะท้ากันได้ ต้องได้ผ่านขั้นตอนของการทราบประเด็นข้อพิพาทในคดีนั้นเสียก่อน การท้านั้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่ง โดยมีสาระสำคัญ คือ สละประเด็นข้อพิพาททั้งหมด คงมีเหลือแต่คำท้าเท่านั้น ดังนั้น การที่จะสละประเด็นข้อพิพาทต่างๆได้ ก็ควรผ่านกระบวนพิจารณาของการทราบประเด็นข้อพิพาทเสียก่อน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ คู่ความได้เสนอคำคู่ความครบถ้วนแล้วเท่านั้น เมื่อโจทก์พึ่งได้รับคำให้การและฟ้องแย้งภายหลังที่ได้ทำคำท้า โจทก์จึงยังไม่ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งอันจะทำให้ครบกระบวนพิจารณาของการทราบประเด็นข้อพิพาทจึงมีเหตุยกเลิกคำท้าได้

5. คำท้าเมื่อท้ากันแล้วจะถอนมิได้ เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายที่ทำหรือรับคำท้าด้วยจะยินยอม ดังนั้น จะถอนได้ต่อเมื่อคู่ความที่ทำหรือรับคำท้าได้ยินยอมด้วยเท่านั้น จะถอนฝ่ายเดียวไม่ได้ (ฎ.75/2540)

6. คำท้านั้นแม้คู่ความที่ท้ากันจะถึงแก่ความตาย คำท้าก็ไม่สิ้นผล ผลแห่งคำท้านั้นยังคงผูกพันทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป (ฎ.982/2506)

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716

Facebook Comments