Home คดีอาญา วัตถุประสงค์ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ตามความหมายของศาลฎีกา

วัตถุประสงค์ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ตามความหมายของศาลฎีกา

4546

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1270/2563

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ กับให้นับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท. 175/2561 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ริบอาวุธปืน ซองกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน และหัวกระสุนปืนของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละกระทง กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษจำคุกคนละตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน เมื่อรวมโทษทุกระทงแล้วคงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละตลอดชีวิตสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบอาวุธปืน ซองกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืนและหัวกระสุนปืนของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 มีผู้พบศพนายประสิทธิ์ ผู้ตายนอนคว่ำหน้าในสภาพเปลือยกาย สภาพศพถูกยิงด้วยอาวุธปืนพก ขนาด .32 (7.65 มม.) บริเวณหน้าอกข้างซ้าย ชายโครงข้างซ้าย แขนข้างซ้าย และคอด้านหลัง กับพบปลอกกระสุนปืนขนาด .32 (7.65 มม.) 3 ปลอก หัวกระสุนปืน ขนาด .32 (7.65 มม.) 1 หัว แก้วน้ำพลาสติกสีชมพู 1 ใบ และถุงมือสีน้ำเงิน จำนวน 1 ข้าง จึงยึดไว้เป็นของกลาง ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรไพศาลีได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยทั้งสองในข้อหาว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และคงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนความผิดทั้งสองฐานนี้มานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานโจทก์ตามบัญชีระบุพยานฉบับลงวันที่ 3 กันยายน 2561 หรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาที่จำเลยไม่ให้การหรือให้การปฏิเสธ กฎหมายมีมาตรการให้มีการตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์ส่งเอกสารและวัตถุที่โจทก์จะอ้างเป็นพยานให้อีกฝ่ายตรวจสอบตามที่คู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควรก่อนสืบพยานโจทก์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม กรณีจึงไม่จำต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีแพ่งมาใช้บังคับในคดีอาญานี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานลงวันที่ 3 กันยายน 2561 จำเลยทั้งสองก็ได้รับสำเนาบัญชีระบุพยานในวันนั้นโดยไม่ได้คัดค้านแต่ประการใด และยังปรากฏว่าทนายจำเลยทั้งสองซักค้านพยานที่โจทก์ระบุในบัญชีระบุพยานได้อีกด้วย การไม่ได้ปฏิบัติดังกล่าวของโจทก์จึงมิได้ทำให้จำเลยทั้งสองเสียโอกาสในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด และการที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในบัญชีระบุพยานโจทก์ว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม รับรวม 24 อันดับ สำเนาให้จำเลยทั้งสอง” แสดงว่าศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงใช้อำนาจอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 229/1 วรรคท้ายแล้ว กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นไม่จำเป็นต้องบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาอีก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย แต่โจทก์มีนายธเนศเป็นพยานที่เห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดก่อนผู้ตายถูกยิงจนถึงแก่ความตาย โดยเป็นผู้ขับรถอีแต๋นพาจำเลยทั้งสองและผู้ตายไปเขาช้างฟุบที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยที่ 2 ให้นายธเนศนั่งรอก่อนที่จำเลยทั้งสองกับผู้ตายจะเดินเข้าไปในป่า ต่อมานายธเนศได้ยินเสียงปืนดังขึ้น แล้วจำเลยทั้งสองเดินกลับออกจากป่าโดยไม่มีผู้ตายมาด้วย เมื่อนายธเนศถามหาผู้ตาย จำเลยที่ 2 ก็บอกว่าผู้ตายไปแล้ว ระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาไม่นานซึ่งไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยได้ว่าจะมีผู้อื่นเข้ามาฆ่าผู้ตายในช่วงเวลานั้น เชื่อว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย คำเบิกความของนายธเนศสอดคล้องกับที่นายธเนศให้การไว้ในชั้นสอบสวน ทั้งยังสอดรับกับที่จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กับผู้ตายเข้าพักที่สร้อยบุรีรีสอร์ทก่อนเดินทางไปพบจำเลยที่ 2 ด้วยกัน และที่จำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 นำอาวุธปืนของกลางมาฝากไว้ในวันดังกล่าวด้วย ทำให้พนักงานสอบสวนติดตามยึดอาวุธปืนที่จำเลยทั้งสองใช้ก่อเหตุมาตรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตาย และสามารถสืบสวนจนพบเบาะแสการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 บริเวณสร้อยทองบุรีรีสอร์ท กับตรวจพบภาพจากกล้องวงจรปิดว่าจำเลยที่ 1 อยู่กับผู้ตายในวันเกิดเหตุ ซึ่งตรงกับที่นางสาวศรีไพร พนักงานต้อนรับสร้อยบุรีรีสอร์ท พยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 มาเข้าพักที่รีสอร์ทในวันเกิดเหตุ และเห็นผู้ตายกับจำเลยที่ 1 เดินทางออกไป แม้คำให้การของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมแล้ว น่าเชื่อว่าจะสามารถพิสูจน์ความจริงได้ กับมีเหตุผลอันหนักแน่นที่เชื่อได้ว่าเป็นการให้การไปตามความจริงเช่นว่านั้นแล้ว จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวเพื่อลงโทษจำเลยทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) พยานหลักฐานสำคัญที่โจทก์พิสูจน์ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฆ่าผู้ตายในคดีนี้คืออาวุธปืนของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจตามไปยึดได้จากนางบังอรพี่สาวของนายธเนศ อาวุธปืนดังกล่าวจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำมาฝากไว้กับนายธเนศ และนายธเนศนำไปฝากไว้กับนางบังอรอีกทีหนึ่ง ซึ่งจากการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับลูกกระสุนปืนที่พบจากศพผู้ตายและที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุแล้ว เป็นอาวุธปืนกระบอกเดียวกับที่ใช้ยิงผู้ตาย ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่อาจนำสืบหักล้างได้ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองแสดงให้เห็นถึงการวางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า อันเป็นการคิดทบทวนตกลงใจก่อนจะกระทำความผิดแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาประกอบกันแล้วมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน

สรุป

ในคดีอาญาที่จำเลยไม่ให้การหรือให้การปฏิเสธ กฎหมายมีมาตรการให้มีการตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์ส่งเอกสารและวัตถุที่โจทก์จะอ้างเป็นพยานให้อีกฝ่ายตรวจสอบตามที่คู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควรก่อนสืบพยานโจทก์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม กรณีจึงไม่จำต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีแพ่งมาใช้บังคับในคดีอาญานี้ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยาน จำเลยก็ได้รับสำเนาโดยไม่ได้คัดค้าน และยังปรากฏว่าทนายจำเลยทั้งสองซักค้านพยานที่โจทก์ระบุในบัญชีระบุพยานได้อีกด้วย การที่โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานน้อยกว่า 7 วัน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 173/1 วรรคสอง จึงมิได้ทำให้จำเลยทั้งสองเสียโอกาสในการต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคท้าย

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments