Home คดีอาญา รวมคำพิพากษาฎีกาใหม่ฟ้อง คดียักยอกทรัพย์

รวมคำพิพากษาฎีกาใหม่ฟ้อง คดียักยอกทรัพย์

12508

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2562

คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2560

ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมพิมพ์เป็นเล่มมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษขนาด เอ 4 แต่บางกว่า บนหัวกระดาษมีรูปเต่าพร้อมชื่อที่อยู่ของบริษัทพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม มุมขวาบนระบุเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน ซึ่ง 1 ฉบับมี 1 เลขที่ใบเสร็จ ประกอบด้วยกระดาษ 4 แผ่น ใบแรกเป็นสีขาว มีคำที่มุมขวาบนว่า ต้นฉบับ ซึ่งส่งมอบให้ลูกค้าที่ชำระเงิน ใบที่ 2 เป็นสีฟ้า มีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ส่งให้สำนักงานบัญชีตอนปลายเดือนเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบที่ 3 เป็นสีเหลืองที่มุมขวาบนมีคำว่า สำเนา ส่วนนี้เก็บไว้ในแฟ้มของลูกค้าแต่ละราย ใบสุดท้ายเป็นสีชมพูมีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนา ส่วนนี้ติดเล่มใบเสร็จรับเงินไว้กับต้นขั้ว เมื่อใช้ใบเสร็จรับเงินหมดทั้งเล่มแล้วฝ่ายบัญชีจะคืนเล่มใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปคืนกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินที่ยังใช้ไม่หมดเล่มจะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ในการนำเอกสารไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่งจะใช้ใบเสร็จรับเงินสีขาวเป็นต้นฉบับที่กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว โดยนำไปถ่ายเอกสารมาให้กรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนำไปประกอบเอกสารชุดโอน แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่ผู้เช่าซื้อราย ร. พ. จ. ส. ส. ก. ส. ม. ส. และ อ. ตามลำดับ รวม 10 รายนี้ โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่ ศ. ส. ธ. พ. ส. และ อ. ไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดต้นขั้วในเล่มใบเสร็จรับเงินที่ ก. กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้ และตามสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชีซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงฉบับที่ออกให้ ส. เลขที่ 4351 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ พ. ส. และ ส. ฉบับที่ออกให้ ธ. เลขที่ 4451 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ จ. และ ม. กับฉบับที่ออกให้ พ. เลขที่ 4501 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ ก. และ ส. จึงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกผู้เช่าซื้อทั้ง 10 ราย ซึ่งพบและถ่ายสำเนามาจากเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งเป็นเอกสารปลอมมาจากใบเสร็จรับเงินฉบับที่แท้จริงสีชมพูที่ติดอยู่ต้นขั้วในเล่มที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้โดยวิธีการถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับใบเสร็จรับเงินสีขาวที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความแล้วนำมากรอกข้อความแสดงการรับเงินจากลูกค้า โดยฉบับที่ออกให้ จ. ส. และ ก. ระบุจำนวนเงินน้อยกว่าที่คนเหล่านี้จ่ายให้ จากนั้นนำไปถ่ายสำเนาอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่สำนักงานขนส่ง เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทมีหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง และตามคำเบิกความของผู้เช่าซื้อในจำนวน 10 รายนั้น บางคนไปที่บริษัทโจทก์ร่วม ที่เต็นท์ขายรถ ที่ศาลแขวงชลบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา พบจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีแก่จำเลยที่ 1 หรือพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกให้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 บอกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้หรือจะได้รับสมุดคู่มือจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการปลอมใบเสร็จรับเงินและใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมเหล่านี้ประกอบเอกสารชุดโอนรถ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อออกใบเสร็จรับเงินรวมทั้งดูแลเล่มใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วม ในใบเสร็จรับเงินเอกสารปลอมเหล่านี้ล้วนมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจและช่องฝ่ายบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของตนจริง โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนส่งใบเสร็จรับเงินเหล่านี้มาให้ตนเขียนกรอกข้อความบอกว่าจะเอาไปแนบประกอบเอกสารชุดโอนปิดบัญชีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ลูกค้า จำเลยที่ 2 รู้ว่าใบเสร็จรับเงินในเล่มที่ตนเก็บรักษาดูแลไว้เป็นของที่แท้จริงของโจทก์ร่วมมีเลขที่ใบเสร็จรับเงินในแต่ละเลขที่ 1 เลขที่ซึ่งมีจำนวน 4 แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นฉบับอีก 3 แผ่นเป็นสำเนา การออกใบเสร็จรับเงินต้องออกเรียงตามลำดับเลขที่พร้อมใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ยอมกรอกข้อความลงในแบบใบเสร็จรับเงินที่ถ่ายสำเนามาทั้งที่รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเป็นอย่างไร ใบเสร็จรับเงินที่ตนจะออกต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่ตนดูแลเก็บรักษาและใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ออกใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเอกสารถ่ายสำเนาไม่ใช่ของบริษัททั้งที่จำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเลขที่เดียวกันนั้นตนได้ออกให้ลูกค้าคนอื่นไปแล้วจำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาร่วมปลอมใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นด้วย อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเอกสารชุดโอนไปจดทะเบียนแม้จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะใช้ในการโอนรถ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนั้นในการใช้ใบเสร็จรับเงินปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมใช้เอกสารปลอมด้วย

แม้จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี มีหน้าที่รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าผู้เช่าซื้อรถของโจทก์ร่วม และลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีของใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมในการปิดบัญชีเพื่อใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่จำเลยที่ 1 ใช้ทั้ง 10 รายดังกล่าว และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมี ส. จ. ส. ส. และ อ. เบิกความว่า นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเพื่อปิดบัญชีที่บริษัทโจทก์ร่วมพบพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีหรือเจ้าหน้าที่การเงินจึงส่งมอบเงินนั้นให้ไปแล้วพนักงานหญิงนั้นออกใบเสร็จรับเงินให้พยาน แต่ในทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงได้ความจากกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินนั้นมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ในตอนเย็นทุกวันเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งให้กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทุกวัน ซึ่งทางปฏิบัติการทำงานเป็นเช่นนี้โจทก์และโจทก์ร่วมจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นของตนโดยมิได้นำส่งกรรมการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงตามที่วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าทั้ง 10 ราย นำมาปิดบัญชี แต่จะรับฟังโดยสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ถึงขนาดว่าเป็นการแบ่งงานกันทำกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และไม่เป็นพยานแวดล้อมกรณีอย่างหนึ่งที่จะนำมารับฟังประกอบกันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะการรับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2560

แม้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหายจะกำหนดให้มีผู้ประสานงานในจังหวัดเป็นผู้แทนของผู้เสียหายในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ และรายงานการตรวจสอบข้าวที่หน่วยรับฝากไว้แก่ผู้เสียหายอย่างช้าไม่เกิน 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่า ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนองค์การ และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด และตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้นการแสดงออกของผู้เสียหายย่อมต้องแสดงออกโดยผู้อำนวยการ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า พ. ทราบเหตุที่ข้าวสารในหน่วยที่รับฝากไว้สูญหายไปตามฟ้องก่อนแล้ว แต่ พ. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของผู้เสียหายซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับชั้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์หรือดำเนินคดี จึงถือไม่ได้ว่า พ. เป็นผู้แทนของผู้เสียหายในการรับรู้เรื่องอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่มีข้าวสารในโรงสีของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจรับ ตามหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4399/2560

แม้โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพมิได้ต่อสู้คดี จึงต้องถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว

ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ว่าความ เงินค่าว่าความจึงเป็นสินจ้างตอบแทนแก่จำเลยที่ตกลงรับจะว่าความให้ การที่จำเลยไม่ยื่นฟ้องคดีให้ผู้เสียหายเป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกตามฟ้อง

จำเลยได้รับเงินค่าว่าความจากผู้เสียหายแล้วไม่ฟ้องคดีให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงต้องคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ซึ่งการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 แม้โจทก์มิได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2560

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม กับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560

โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8426/2559

แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นของผู้เสียหายที่ 1 ไม่กระทบต่อจำนวนหุ้นของโจทก์ร่วมที่ยังคงมีอยู่ 1 หุ้น เช่นเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นดังกล่าวหากกระทำไปโดยไม่ชอบ เป็นความเท็จ และมีการนำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันเป็นเท็จนั้นไปแสดงต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อให้รับจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงลงไว้ในสารบบรายการจดทะเบียนของบริษัทย่อมมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการของผู้เสียหายที่ 1 ไม่มากก็น้อย เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในบริษัทผู้เสียหายที่ 1 ย่อมได้รับผลกระทบด้วย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายในการกระทำดังกล่าว และมีสิทธิที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6953/2559

ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์แก้ฟ้องทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี และรถเกี่ยวข้าวคันที่โจทก์นำสืบอ้างว่าจำเลยยักยอกนำไปขายให้แก่ อ. เป็นรถเกี่ยวข้าวคันเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการวินิจฉัยคำร้องขอแก้ฟ้องและการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยมีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด ฯ มาตรา 3

คดีที่โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 3 เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้ยักยอกรถเกี่ยวข้าวคันที่โจทก์ฟ้องไป ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6811/2559

ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพียงแต่โจทก์อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนผู้อื่นเท่านั้น ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 จะต้องได้ความในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ถูกผู้อื่นยักยอกทรัพย์ได้และสิทธิดังกล่าวที่โจทก์มีอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 352 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่มีรูปร่าง จึงไม่อาจถูกยักยอกได้ เมื่อทางนำสืบของโจทก์เองโจทก์มิเคยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 นำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการโดยพลการ เงินที่ได้มาจึงมิใช่เงินที่จำเลยที่ 5 จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์มีแต่สิทธิที่จะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments