Home คดีแพ่ง รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่คดี ผิดสัญญาซื้อขายทองคำ

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่คดี ผิดสัญญาซื้อขายทองคำ

6024

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2560

โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไปจากโจทก์ มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ประกอบมาตรา 193/34 (1) ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.3 การชำระเงินระบุว่า จำเลยต้องชำระค่าซื้อทองคำแท่งภายใน 5 วันทำการ และในข้อ 7 ระบุว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิปิดสถานะการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยได้ทันที โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า จำเลยต้องรับผิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายขาดทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แสดงว่าการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยกับโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนโดยจำเลยต้องชำระเงินภายใน 5 วันทำการ หากครบกำหนด 5 วันทำการ จำเลยไม่ชำระเงินโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้นับแต่เวลานั้น ส่วนกรณีที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไว้ออกขายนำมาหักจากราคาที่จำเลยสั่งซื้อ เป็นเพียงการดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ทำได้เพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยเท่านั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์เพิ่งเกิดในวันที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อออกขาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยสั่งซื้อทองคำแท่งจากโจทก์ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 วันที่ 17 ธันวาคม 2555 และวันที่ 11 เมษายน 2556 ตามลำดับ กำหนดชำระราคาภายใน 5 วันทำการนับแต่วันสั่งซื้อแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการสั่งซื้อทองคำแท่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 นั้น ปรากฏว่าวันที่ 12 ถึง 16 เมษายน 2556 เป็นวันหยุดราชการ ต้องเริ่มนับวันทำการวันพุธที่ 17 เมษายน 2556 ถึงวันอังคารที่ 23 เมษายน 2556 ไม่รวมวันที่ 20 และ 21 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดราชการ ดังนั้น วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่ 23 เมษายน 2556 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4288/2558

สัญญากู้ยืมเงินกับสัญญาซื้อขายทองคำ มีข้อสัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแล้วหรือเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง

เมื่อจำเลยยื่นข้อเรียกร้องให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการลอนดอน และต่อมาจำเลยได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการลอนดอน จึงเป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิเลือกที่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ทำให้การระงับข้อพิพาทต้องใช้กระบวนการของอนุญาโตตุลาการตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาซื้อขายทองคำ การที่โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อสัญญาอนุญาโตตุลาการ

เหตุบกพร่องของสัญญาที่โจทก์อ้างไม่ว่าจะเป็นนิติกรรมอำพรางหรือกลฉ้อฉล หรือข้อตกลงที่จำเลยให้โจทก์ชำระหนี้เงินกู้ด้วยทองคำโดยกำหนดราคาทองคำที่แน่นอนไว้ล่วงหน้าซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม หรือการกระทำของจำเลยที่ใช้อำนาจต่อรองสูงกว่า จัดทำสัญญาเอาเปรียบโจทก์ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเนื้อหา และความสมบูรณ์ของสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาซื้อขายทองคำ จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาโดยตรง อีกทั้งการยกเหตุดังกล่าวถือเป็นการโต้เถียงในเรื่องความมีอยู่ของสัญญาและการมีผลใช้บังคับของสัญญาซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นเรื่องสัญญาหาใช่มูลละเมิด

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องอันเป็นเนื้อหาข้อพิพาทซึ่งต้องระงับโดยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ และเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทำการไต่สวนแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุที่จะทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลดังกล่าวจึงชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13930/2555

กำหนดเวลาให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) เป็นการกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี แม้ไม่เป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ แต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากร ศาลย่อมมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 17

บันทึกคำให้การที่โจทก์ขอคัดถ่ายสำเนาปรากฏรายละเอียดและเหตุผลในการตรวจสอบ รวมทั้งข้อมูลที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ในการประเมิน ดังนี้ ย่อมฟังได้ว่าเหตุผลแห่งการประเมินเป็นที่รู้กันอยู่แล้วแก่โจทก์ จึงไม่จำต้องระบุในหนังสือแจ้งการประเมินถึงรายละเอียดและเหตุผลอีก ต้องด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 37 วรรคสาม (2) แล้ว

โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์รับซื้อทองคำเก่าโดยใช้ราคาตลาดโลก แต่โจทก์ไม่สามารถชี้แจงที่มาของราคาตลาดโลกตามที่โจทก์อ้างซึ่งมีหลายราคา ทั้งโจทก์ไม่สามารถนำสืบอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการรับซื้อ ตลอดจนไม่สามารถชี้แจงถึงค่าความเสี่ยงที่โจทก์อ้างคืออะไร และเป็นจำนวนเท่าใด การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ใช้ราคาประกาศของสมาคมค้าทองคำในการคำนวณต้นทุนจึงมีเหตุผลและเป็นธรรม

แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 27 ทวิ ให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรวางระเบียบในการงดหรือลดเบี้ยปรับออกมาใช้ แต่ก็เป็นเพียงระเบียบที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องถือปฏิบัติ ไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบเช่นว่านั้น ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการลดหรืองดเบี้ยปรับนั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดได้เองในกรณีมีเหตุสมควรอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760/2537

เมื่อโจทก์อ้างว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบและขอให้ศาลเพิกถอน โจทก์ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการไม่ชอบตามที่กล่าวอ้าง สำเนาเอกสารที่จำเลยอ้างเป็นเพียงพยานหลักฐานประกอบกับพยานอื่น ทั้งเมื่อจำเลยอ้างส่งสำเนาเอกสารดังกล่าว โจทก์มิได้คัดค้านว่าต้นฉบับไม่มี หรือเอกสารปลอม หรือสำเนาไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93 การกำหนดเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 เจ้าพนักงานประเมินต้องกำหนดเสียตั้งแต่เบื้องต้นที่ทำการประเมินภาษี การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินครั้งแรกโดยกำหนดเงื่อนไขว่าสำหรับเงินเพิ่มพิจารณาลดให้คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมาย หากอุทธรณ์การประเมินจะไม่ลดเงินเพิ่มให้และจะประเมินเพิ่มเติมต่อไป เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เจ้าพนักงานประเมินจึงทำการประเมินในครั้งที่สองเพิ่ม โดยเรียกเงินเพิ่มเติมในส่วนที่ลดให้นั้นเป็นการอาศัยเงื่อนไขในอนาคตมากำหนดเงินเพิ่มเติมเพิ่มเติม ทั้งเป็นเงื่อนไขที่มิให้โจทก์ปฏิบัติตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ การประเมินในกรณีที่สองนี้ไม่ชอบ

มีปัญหาคดีความคดีซื้อขายทองคำ

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments