Home คดีครอบครัว ไม่หย่า ฟ้องค่าเลี้ยงดูระหว่างสามีและภริยาได้หรือไม่

ไม่หย่า ฟ้องค่าเลี้ยงดูระหว่างสามีและภริยาได้หรือไม่

4210

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2515 จำเลยและโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกันและต่อมามีบุตรด้วยกัน 2 คน ปัจจุบันบรรลุนิติภาวะแล้ว ก่อนโจทก์จะสมรสกับจำเลย โจทก์ไม่มีอาชีพและไม่มีรายได้ หลังจากสมรสแล้วจำเลยให้โจทก์เป็นแม่บ้านดูแลความเรียบร้อยภายในบ้านและเลี้ยงดูบุตรตลอดมา ส่วนจำเลยมีอาชีพรับราชการเป็นทหารเรือได้ไปปฏิบัติราชการอยู่ตามหน่วยราชการของกองทัพเรือตามต่างจังหวัด รายได้ที่อุปการะเลี้ยงดูครอบครัวมาจากรายได้ของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เดิมรายได้ที่จำเลยหามาได้ทั้งหมดจะส่งให้โจทก์เป็นผู้เก็บไว้ใช้จ่ายภายในครอบครัว จำเลยจะใช้เงินเบี้ยเลี้ยงเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและจะกลับมาดูแลครอบครัวเป็นประจำทุกสัปดาห์ ต่อมาเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา จำเลยเป็นผู้เก็บเงินไว้เองทั้งหมดคงส่งเงินเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 10,000 บาทตลอดมาจนถึงเดือนตุลาคม 2547 จำเลยได้เกษียณอายุราชการเป็นข้าราชการบำนาญ จำเลยได้ทิ้งร้างโจทก์ไป มิได้กลับไปอยู่กินฉันสามีภริยากันอีก รวมทั้งไม่ให้ความช่วยเหลือหรือส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ทำให้โจทก์ต้องได้รับความลำบากและเดือดร้อนต่อการดำรงชีวิตเพราะโจทก์ไม่มีรายได้จากทางใด และไม่มีโอกาสที่จะหางานทำได้เพราะอายุมากประกอบกับไม่มีวิชาความรู้ใดๆ และไม่มีเงินทุนที่จะนำไปประกอบอาชีพส่วนตัว ส่วนจำเลยยังคงได้รับเงินบำนาญไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาททุกเดือนไม่มีภาระในหน้าที่การงานและหนี้สิน จึงมีความสามารถที่จะให้การอุปการเลี้ยงดูโจทก์ได้โดยไม่เดือดร้อน โจทก์ขอให้จำเลยส่งเงินเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 10,000 บาท แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยยังมิได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ประกอบกับบุตรทั้งสองคน ที่เกิดกับจำเลยและโจทก์ก็ได้บรรลุนิติภาวะและมีครอบครัว มีรายได้ที่แน่นอนและสามารถที่จะประกอบอาชีพมีรายได้เพียงพอแก่การดูแลและให้ความอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ในฐานะมารดาได้เป็นอย่างดีเนื่องจากโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจที่จะแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จะต้องให้ความอุปการะเลี้ยงดูโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่เคยส่งเงินอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท แม้จำเลยจะได้รับเงินบำนาญไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท แต่จำเลยมีภาระหนี้เป็นค่าผ่อนส่งรถยนต์หนี้สินที่จะต้องผ่อนชำระที่จำเลยได้ไปกู้มาเพื่อนำไปซื้อบ้านที่อยู่อาศัยภายหลังจากแยกกันอยู่แล้ว จำเลยจึงไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 10,000 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง นอกจากนี้เมื่อบุตรทั้งสองของโจทก์และจำเลยมีงานทำแล้วได้ให้ความอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควร โจทก์จึงไม่มีความเดือดร้อนเมื่อคำนึงถึงฐานะของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดี โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 3,500 บาท นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2548 อันเป็นวันฟ้อง เป็นต้นไป ค่าฤชาธรรมเนียมของทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ศาลฎีกามีคำสั่งคำร้องที่ ท.1197/2551 พิเคราะห์แล้ว โจทก์ต้องขอถอนคำฟ้องที่เริ่มต้นคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจะขอถอนคำฟ้องขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาไม่ได้ ให้ยกคำร้อง

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ระหว่างอยู่กินด้วยกันจำเลยเคยส่งเงินผ่านบัญชีของบุตรดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวของโจทก์เดือนละ 10,000 บาท ต่อมาลดลงเหลือเดือนละ 8,000 บาท กับเดือนละ 6,000 บาท ตามลำดับ ครั้นปี 2539 โจทก์กับจำเลยได้แยกกันอยู่ และตั้งแต่ปี 2547 จำเลยเกษียณอายุราชการและไม่ส่งค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์อีกต่อไป จำเลยได้รับบำนาญหลังจากหักภาษีและค่าฌาปนกิจแล้วเป็นเงิน 23,000 บาทเศษ ส่วนโจทก์ไม่มีรายได้

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยหรือไม่ เบื้องแรกเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์แห่งการสมรสก็เพื่อที่จะให้ชายหญิงคู่สมรสได้อยู่กินฉันสามีภริยา ดังนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน และตามมาตรา 1598/38 ที่บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้ได้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติเพื่อให้ความคุ้มครองแก่สามีหรือภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามฐานะและความสามารถ ถ้าฝ่ายหนึ่งมีความสามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูแล้วไม่อุปการะเลี้ยงดู อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่า ก็ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ในเมื่ออีกฝ่ายที่ควรได้รับ ไม่ได้รับการเลี้ยงดูตามอัตภาพ หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นเมื่อฟ้องหย่าดังที่จำเลยฎีกาโต้แย้ง ส่วนที่จำเลยอ้างเป็นข้อเถียงในฎีกาว่า จำเลยและโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2539 และนับจากเวลาดังกล่าวโจทก์เองไม่เคยให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลย ทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องให้ความอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า หลังจากจดทะเบียนสมรส โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันที่บ้านบิดาของโจทก์ แม้จำเลยไปรับราชการต่างจังหวัดก็กลับมาบ้านดังกล่าวที่โจทก์อยู่กับบุตร โจทก์เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ เหตุโจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2539 ก็เนื่องจากจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ ที่สำคัญจำเลยไปอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาตลอดมา การสมัครใจแยกกันอยู่จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ และโจทก์ไม่มีอาชีพหรือรายได้จำเลยซึ่งอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตลอดมาและอยู่ในฐานะที่สามารถอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายมีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย ฎีกาประการนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาประการสุดท้ายของจำเลยว่าจำเลยจะต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เพียงใด เห็นว่า จำเลยมีรายได้จากบำนาญในอัตราเดือนละ 23,000 บาทเศษ และมีหนี้อีกหลายจำนวนที่จะต้องผ่อนชำระซึ่งบางจำนวนนำมาซื้อบ้านเพื่อใช้พักอาศัยกับหญิงที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูฉันภริยา ทั้งต้องใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลหญิงดังกล่าวเนื่องจากจำเลยไม่สามารถเบิกจากทางราชการได้ อย่างไรก็ดี แม้จำเลยจะแยกไปอยู่กับหญิงดังกล่าวจำเลยก็ยังมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายดังวินิจฉัยข้างต้น เมื่อคำนึงถึงความสามารถของจำเลยและพฤติการณ์ที่จำเลยมีภาระหนี้เนื่องเพราะไปอุปการะหญิงอื่นตลอดจนฐานะของโจทก์ผู้รับซึ่งไม่มีรายได้และอาชีพ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ในอัตราเดือนละ 3,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปโดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดด้วยเหตุผลว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์จนกว่าโจทก์หรือจำเลยถึงแก่ความตายหรือความเป็นสามีภริยาได้สิ้นสุดนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วย ฎีกาประการนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสองและมาตรา 1598/38 เป็นบทบัญญัติให้ความคุ้มครองแก่สามีหรือภริยาโดยให้ฝ่ายที่มีฐานะดีช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามฐานะและความสามารถ ถ้าฝ่ายหนึ่งมีความสามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูแล้วไม่อุปการะเลี้ยงดู อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่า ก็ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ในเมื่ออีกฝ่ายที่ควรได้รับไม่ได้รับการเลี้ยงดูตามอัตภาพมิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นเมื่อฟ้องหย่า

หลังจากจดทะเบียนสมรส โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันที่บ้านบิดาของโจทก์ แม้จำเลยไปรับราชการต่างจังหวัดก็กลับมาบ้านดังกล่าวที่โจทก์อยู่กับบุตร โจทก์เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ เหตุที่โจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2539 ก็เนื่องจากจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ ที่สำคัญจำเลยไปอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาตลอดมา การสมัครใจแยกกันอยู่จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยซึ่งอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตลอดมาและอยู่ในฐานะที่สามารถอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายมีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments