Home คดีครอบครัว แท็กซี่ทำละเมิด เจ้าของอู่ต้องรับผิดหรือไม่ มีฎีกาอับเดต 2564

แท็กซี่ทำละเมิด เจ้าของอู่ต้องรับผิดหรือไม่ มีฎีกาอับเดต 2564

4847

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 641,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 641,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงิน 320,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถยนต์ โจทก์เป็นเจ้าของรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน ทว 3308 กรุงเทพมหานคร โดยจดทะเบียนประเภทรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่ มีรถแท็กซี่ให้เช่า 60 คัน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่าซื้อรถแท็กซี่ดังกล่าวจากโจทก์แล้วนำไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับส่งคนโดยสาร รถแท็กซี่ที่เช่าซื้อมีชื่อโจทก์ เลขทะเบียนรถยนต์ และตราสัญลักษณ์ของโจทก์ที่ประตูรถด้านหน้าทั้งสองข้าง เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่คันดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนนายพุทธชาติได้รับอันตรายสาหัส นายพุทธชาติฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1415/2554 ต่อศาลชั้นต้น ให้ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทน คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนในการประกอบกิจการรับขนคนโดยสาร โจทก์จึงต้องรับผิดต่อนายพุทธชาติซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน และโจทก์ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่นายพุทธชาติร่วมกับจำเลยที่ 1 จำนวน 489,691 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาให้แก่นายพุทธชาติ 600,000 บาท โจทก์จึงฟ้องไล่เบี้ยจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 641,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่ มีรถแท็กซี่ให้เช่ามากถึง 60 คัน จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่รายใหญ่ จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถแท็กซี่คันเกิดเหตุจากโจทก์ซึ่งจดทะเบียนประเภทรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน อันเป็นรถยนต์สาธารณะตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ซึ่งอยู่ในความควบคุมของนายทะเบียนและผู้ตรวจการกรมการขนส่งทางบกภายใต้บังคับของกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ติดอยู่ที่ประตูรถด้านหน้าทั้งสองข้าง แล้วจำเลยที่ 2 นำรถแท็กซี่ไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับส่งคนโดยสารในนามของโจทก์เพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ แม้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18871/2557 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารรถแท็กซี่คันเกิดเหตุ ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะไม่นำทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปให้เช่า จำเลยที่ 2 ย่อมต้องทราบดีว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถนำรถที่ตนเช่าซื้อจากโจทก์ให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่าได้ การที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถแท็กซี่ของโจทก์เพื่อนำออกให้เช่าโดยที่โจทก์ได้จดทะเบียนรถแท็กซี่เป็นรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารตามกฎหมายแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 ใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ที่ติดอยู่ด้านข้างรถแท็กซี่นำไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรถส่งคนโดยสารเพื่อประโยชน์แก่กิจการของตนดังที่วินิจฉัยข้างต้น ส่วนโจทก์ก็ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารด้วย เพราะโจทก์สามารถให้เช่าซื้อรถยนต์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่ ซึ่งปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เช่าซื้อรถแท็กซี่ไปจากโจทก์รวม 6 คัน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้ผูกนิติสัมพันธ์กันแต่เฉพาะนิติกรรมการเช่าซื้อเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันเกี่ยวกับการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารรถแท็กซี่คันเกิดเหตุ เมื่อจำเลยที่ 2 นำรถแท็กซี่คันเกิดเหตุไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับขนคนโดยสาร จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับโจทก์เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนในการประกอบกิจการรับขนคนโดยสารด้วย จำเลยที่ 2 กับโจทก์จึงต้องร่วมกันรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่นายพุทธชาติแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่า ๆ กัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) และมาตรา 296 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 20,625 บาท รวมเป็นเงิน 320,625 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments