Home คดีครอบครัว หลักเกณฑ์ใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้ วินิจฉัยคดีหน่วงเหนี่ยวกักขัง

หลักเกณฑ์ใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้ วินิจฉัยคดีหน่วงเหนี่ยวกักขัง

5504

หลักเกณฑ์ใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้ วินิจฉัยคดีหน่วงเหนี่ยวกักขัง

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 285, 310

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 279 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 และมาตรา 65 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 1 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน (ที่ถูก ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน จำคุก 1 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน และฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดานอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และให้จำเลยไปรับการบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตจากแพทย์ที่โรงพยาบาล ส. หรือคลินิกอายุรกรรมโรงพยาบาล ช. โดยให้รายงานผลการรักษาต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในเวลาที่รอการลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 8 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, มาตรา 279 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285, 310 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน จำคุก 10 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 5 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 16 ปี ไม่รอการลงโทษจำคุก ไม่คุมประพฤติ และไม่ปรับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เด็กหญิง อ. ผู้เสียหาย เป็นบุตรของจำเลย ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 7 ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่บ้านเกิดเหตุ และที่บ้านของนาง ษ. ซึ่งเป็นย่าของผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้กระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและเป็นผู้สืบสันดาน และกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีและเป็นผู้สืบสันดาน ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน จำเลยมิได้ฎีกา ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง

ปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพียงแต่ห้ามปรามมิให้ผู้เสียหายออกจากบ้าน ผู้เสียหายมิได้ถูกล่ามหรือพันธนาการใด ๆ หรือถูกทำร้ายร่างกาย การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยพูดข่มขู่ว่าจะฆ่าผู้เสียหายหากผู้เสียหายออกไปจากบ้านเกิดเหตุ มิใช่เพียงแต่ห้ามปรามมิให้ผู้เสียหายออกจากบ้านดังที่จำเลยฎีกา การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนั้นเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ โดยไม่จำกัดวิธีการ เพียงแต่ให้สำเร็จผลเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

อนึ่ง สำหรับความผิดฐานกระทำชำเรา ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 3 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา “(18) “กระทำชำเรา” หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น” มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน โดยวรรคสี่บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ…” จากบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวยังคงบัญญัติว่าการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) การปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า และโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะที่จำเลยกระทำความผิด และโทษตามมาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) ก็มีระวางโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากัน โดยระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต จึงต้องลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราก็ตาม แต่การปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดนั้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยโดยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และสำหรับความผิดฐานกระทำอนาจาร ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่บัญญัติเพิ่มเติมความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีแยกต่างหากจากความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่บัญญัติเฉพาะความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไว้เพียงบทเดียว และโทษในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามกฎหมายใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งแตกต่างจากโทษในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามกฎหมายเดิมที่ระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามกฎหมายใหม่ได้บัญญัติไว้ในวรรคสาม มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง และมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น โทษจำคุกและโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงสูงกว่าโทษจำคุกและโทษปรับตามกฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย และมาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 285 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน โดยบัญญัติหลักเกณฑ์ที่ต้องรับโทษหนักขึ้นเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่บัญญัติไว้เฉพาะกรณีที่เป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดาน ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการหรือผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์หรือในความอนุบาล โดยให้รวมถึงกรณีที่เป็นการกระทำแก่บุพการี พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ญาติสืบสายโลหิต หรือผู้อยู่ภายใต้อำนาจด้วยประการอื่นใดไว้ด้วย แต่ยังคงระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ หนึ่งในสาม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยเช่นกัน ส่วนความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 โดยไม่ได้ระบุวรรค ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 285 (เดิม), 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 285 (เดิม), 310 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

สรุป

การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนั้นเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ โดยไม่จำกัดวิธีการ เพียงแต่ให้สำเร็จผลเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขณะผู้เสียหายอยู่กับจำเลยในบ้าน จำเลยพูดข่มขู่ว่าจะฆ่าผู้เสียหายหากผู้เสียหายออกไปจากบ้านเกิดเหตุ ผู้เสียหายรู้สึกกลัว จึงไม่ได้ออกไปไหน การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคหนึ่ง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments