Home คดีครอบครัว สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ บริษัทต้องบอกล้างภายในกี่วัน

สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ บริษัทต้องบอกล้างภายในกี่วัน

3876

สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ ต้องบอกล้างภายในกี่วัน

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 101,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 กันยายน 2557) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับการยกเว้นนั้น ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจรับประกันภัย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 โจทก์เสนอคำขอเอาประกันภัยแบบไม่ตรวจสุขภาพ ประกันชีวิตนายวิชาญ ผู้ตาย แบบประกันชั่วระยะเวลา 15 ปี (พีแอล) จำนวนเงินเอาประกันภัย 500,000 บาท กับสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุสูญเสียอวัยวะ จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท และสัญญาเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลพิเศษ ค่าชดเชยรายวันอีกวันละ 1,000 บาท ไว้ต่อจำเลยโดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยรับประกันชีวิตและประกันภัยดังกล่าวในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2557 ผู้ตายถึงแก่ความตายจากภาวะติดเชื้อ และการหายใจล้มเหลว หนองในช่องปอด และมีภาวะอื่นที่เป็นเหตุหนุนจากอุบัติเหตุอิฐทับที่หน้าอก ครั้นวันที่ 20 มีนาคม 2557 โจทก์แจ้งขอให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยได้รับคำขอของโจทก์ในวันที่ 10 เมษายน 2557 แล้วยังไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนโดยขอให้โจทก์ส่งเอกสารเพิ่มเติม จากนั้นวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 จำเลยได้รับแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยให้ชี้แจงเหตุในการที่ยังไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 6 สิงหาคม 2557 ก่อนถึงวันนัด จำเลยทำหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตลงวันที่ 5 สิงหาคม 2557 ปฏิเสธความรับผิดส่งถึงโจทก์วันที่ 8 สิงหาคม 2557 โดยอ้างเหตุว่าผู้เอาประกันภัยปกปิดไม่แถลงให้จำเลยทราบว่า ผู้ตายมีอาการป่วยเจ็บด้วยโรคตับอ่อนอักเสบ โรคพิษสุราเรื้อรัง มีเลือดออกในทางเดินอาหาร และโรคตับแข็ง

มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยทราบมูลอันควรบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อใด เห็นว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ลงชื่อแทนผู้ตายในคำขอเอาประกันภัยแบบไม่ตรวจสุขภาพ โดยไม่ได้ตอบคำถามและกรอกข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำตัวและประวัติการรักษาตัวของผู้ตายให้จำเลยทราบ สัญญาประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา 15 ปี (พีแอล) ตกเป็นโมฆียะ เมื่อจำเลยได้รับข้อมูลประวัติการรักษาตัวของผู้ตายจากโรงพยาบาลสมุทรสาครในวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 และใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมในวันที่ 8 สิงหาคม 2557 จึงเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมภายใน 30 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่ง สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทราบมูลอันควรจะบอกล้างโมฆียะกรรมก่อนวันที่จำเลยได้รับข้อมูลประวัติการรักษาตัวของผู้ตายจากโรงพยาบาลสมุทรสาครในวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ ประเด็นว่าจำเลยทราบมูลอันควรจะบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อใด จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเมื่อศาลอุทธรณ์มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นพิจารณาวินิจฉัย ประกอบกับโจทก์ก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งประเด็นตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นการยกข้อต่อสู้ที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ขึ้นเป็นข้ออ้างในชั้นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะยกเหตุตามฎีกาของโจทก์ขึ้นพิจารณาวินิจฉัย แม้ว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้ก็ตาม

พิพากษายกฎีกาของโจทก์ โจทก์ไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา จึงไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องสั่งคืน

สรุป ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยบอกล้างโมฆียะกรรมภายใน 30 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทราบมูลอันควรจะบอกล้างโมฆียะกรรมก่อนวันที่จำเลยได้รับข้อมูลประวัติการรักษาตัวของผู้ตายจากโรงพยาบาล แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ ประเด็นว่าจำเลยทราบมูลอันควรจะบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อใด จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเมื่อศาลอุทธรณ์มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นพิจารณาวินิจฉัย ประกอบกับโจทก์ก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งประเด็นตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นการยกข้อต่อสู้ที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ขึ้นเป็นข้ออ้างในชั้นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะยกเหตุตามฎีกาของโจทก์ขึ้นพิจารณาวินิจฉัย แม้ว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้ก็ตาม

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments