Home ทั้งหมด ผู้รับเหมาฟ้องเรียกค่างวดงานที่ยังไม่ได้ลงมือทำได้หรือไม่ (มีฎีกา)

ผู้รับเหมาฟ้องเรียกค่างวดงานที่ยังไม่ได้ลงมือทำได้หรือไม่ (มีฎีกา)

3281

ผู้รับเหมาฟ้องเรียกค่างวดงานที่ยังไม่ได้ลงมือทำได้หรือไม่ (มีฎีกา)

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 สิงหาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 สิงหาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมนายณัฐพล ว่าจ้างจำเลยก่อสร้างโกดังพิพาทเพื่อใช้ในการเก็บสินค้าทางการเกษตร ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 50 เมตร รวมทั้งอุปกรณ์และค่าแรงเป็นเงิน 3,500,000 บาท ต่อมาจำเลยว่าจ้างโจทก์เหมาช่วงก่อสร้างโกดังพิพาทเป็นเงิน 1,400,000 บาท ตกลงแบ่งชำระค่าก่อสร้างออกเป็น 6 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระเงินล่วงหน้าก่อนที่โจทก์จะเริ่มทำงานเป็นเงิน 100,000 บาท งวดที่ 2 ปักผัง ขุดเสาตอม่อ เททับตะแกรง เทเสาตอม่อ ปรับคันดินโดยรอบคลังสินค้า เป็นเงิน 150,000 บาท งวดที่ 3 เทพื้นและขัดมันแล้วเสร็จเป็นเงิน 250,000 บาท งวดที่ 4 ตัดแผ่นเพลท ตั้งเสาไอบีมแล้วเสร็จเป็นเงิน 200,000 บาท งวดที่ 5 ติดตั้งโครงหลังคาและมุงหลังคาแล้วเสร็จเป็นเงิน 300,000 บาท และงวดที่ 6 ทำผนังปูน ผนังเมทัลชีท รวมทั้งเก็บรายละเอียดส่งมอบงานแล้วเสร็จเป็นเงิน 400,000 บาท ภายหลังโจทก์ทำงานก่อสร้างงวดที่ 2 และที่ 3 เสร็จแล้ว และงานงวดอื่นบางส่วน โดยโจทก์ได้รับเงินค่าจ้างไปแล้วเป็นเงิน 350,000 บาท ทั้งยังอ้างว่า จำเลยค้างชำระค่าก่อสร้างงานงวดที่ 2 และที่ 4 โจทก์จึงหยุดงานก่อสร้าง ส่วนจำเลยอ้างว่างานก่อสร้างชำรุดบกพร่อง ติดตั้งเสาเหล็กไม่ได้มาตรฐาน ไม่ติดตั้งและวางเสาตรงจุดกึ่งกลางตอม่อ ทำให้เสาเอียง ผนังและพื้นคอนกรีตมีรอยแตกร้าว ซึ่งจำเลยแจ้งให้โจทก์แก้ไขแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย ประกอบกับจำเลยไม่ชำระค่างวดก่อสร้างให้แก่โจทก์ โจทก์จึงหยุดงานก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 และนายณัฐพลก็ได้ว่าจ้างผู้รับเหมารายใหม่ทำการก่อสร้างต่อไป สัญญาก่อสร้างโกดังระหว่างโจทก์กับจำเลยถือว่าเป็นการเลิกกันโดยปริยายแล้ว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างโกดังเก็บสินค้า เป็นเงิน 1,400,000 บาท ตกลงแบ่งชำระค่าก่อสร้างออกเป็น 6 งวด ซึ่งโจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างงานงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 และงวดที่ 6 แล้ว คงเหลืองานงวดที่ 5 คือ การติดตั้งโครงหลังคาและมุงหลังคา วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยชำระเงินงวดที่ 1 ให้แก่โจทก์ และวันที่ 3 มีนาคม 2557 จำเลยชำระเงินงวดที่ 3 ส่วนค่าก่อสร้างงานงวดที่ 2 และที่ 4 จำเลยยังมิได้ชำระให้แก่โจทก์ นอกจากนี้ โจทก์ยังได้ดำเนินการก่อสร้างงานงวดที่ 6 เฉพาะส่วนผนังปูนประมาณร้อยละ 70 ส่วนผนังเมทัลชีท โจทก์ยังมิได้ดำเนินการ ปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามงวดงานที่แล้วเสร็จ โจทก์จึงหยุดการก่อสร้างและมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย ส่วนจำเลยเบิกความว่า หลังจากที่โจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ 2 คือเทพื้น ตั้งเสาและก่อผนังแล้ว จำเลยได้ชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท แต่โจทก์ขอเบิกเงินเพิ่มจากจำเลยอีก 100,000 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยไป 250,000 บาท โจทก์ดำเนินการเทพื้นและติดตั้งเสาโกดังได้เพียงบางส่วน เมื่อจำเลยตรวจสอบแล้วปรากฏว่าการติดเสาเหล็กไม่ได้มาตรฐานโดยโจทก์มิได้ติดตั้งและวางเสาที่บริเวณจุดกึ่งกลางของตอม่อ ทำให้เสามีลักษณะเอียง อีกทั้งผนังและพื้นคอนกรีตมีรอยแตกร้าว ซึ่งจำเลยก็ได้แจ้งให้โจทก์แก้ไขแล้ว แต่โจทก์ไม่ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว เห็นว่า เมื่อสัญญาก่อสร้างโกดังระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกกันแล้ว โจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืนท่านให้ทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ฉะนั้น จำเลยจึงต้องใช้เงินตามผลงานการก่อสร้างให้แก่โจทก์ เมื่อพิเคราะห์ตามสำเนาบันทึกข้อตกลงจ้างโกดัง ระบุว่า งวดที่ 2 ชำระเงินเมื่อปักผัง ขุดเสาตอม่อ เทลิ่ม เททับตะแกรง เทเสาตอม่อ และปักคันดินโดยรอบโกดังสินค้าเป็นเงิน 150,000 บาท งวดที่ 3 ชำระเงินเมื่อเทพื้นพร้อมขัดมันแล้วเสร็จเป็นเงิน 250,000 บาท ซึ่งจำเลยเบิกความว่า ในการชำระเงินค่าก่อสร้างวันที่ 3 มีนาคม 2557 เป็นการชำระเงินสำหรับงานงวดที่ 2 คือการเทพื้น ตั้งเสา และเทผนังเป็นเงิน 150,000 บาท แต่โจทก์ขอเบิกเงินเพิ่มเติมอีก 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 250,000 บาท และโจทก์ก็ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า การที่จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ในวันที่ 3 มีนาคม 2557 เป็นเงินค่างานก่อสร้างงวดที่ 2 แต่โจทก์ต้องการความต่อเนื่องในการทำงานเทพื้นและตั้งเสาไอบีม จึงขอเบิกเงินเพิ่มอีก 100,000 บาท ฉะนั้น การที่จำเลยชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์ในวันที่ 3 มีนาคม 2557 จึงมิใช่เป็นการชำระค่าก่อสร้างงวดที่ 3 ตามที่โจทก์นำสืบแต่อย่างใด แต่เป็นเงินค่างานก่อสร้างงวดที่ 2 ที่ 3 บางส่วน เมื่องานงวดที่ 2 โจทก์ได้รับชำระเงินไปครบถ้วนแล้ว ทั้งโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าก่อสร้างและมีคำขอให้จำเลยชำระค่างานในงวดที่ 3 แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระค่าจ้างงวดที่ 2 และที่ 3 บางส่วนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 70,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระเป็นเงิน 50,000 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง สำหรับงานงวดที่ 4 ติดแผ่นเพลทและตั้งเสาเหล็กไอบีม นั้น เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายแล้ว ปรากฏว่า การติดตั้งเสาโกดังมิได้ตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของตอม่อ ทำให้เสาเอียงและการรับน้ำหนักของเสาดังกล่าวอาจเสียศูนย์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าจ้างงานงวดที่ 4 ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 60,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว สำหรับงานงวดที่ 5 ติดตั้งโครงหลังคาและมุงหลังคา โจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการ ส่วนงานงวดที่ 6 ก่อผนังปูนและผนังเมทัลชีท ซึ่งโจทก์ได้ก่อสร้างผนังปูนไปได้เพียงบางส่วนและการฉาบผนังปูนก็ไม่เรียบร้อย ทั้งโจทก์ก็ยังมิได้ดำเนินการติดตั้งผนังเมทัลชีท แต่โจทก์ไม่ได้เรียกค่าก่อสร้างงานงวดที่ 6 ศาลจึงไม่กำหนดค่าจ้างในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ ดังนี้ จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

สรุป

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าจ้างก่อสร้างโกดังเก็บสินค้าสำหรับงานในงวดที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ค่างานก่อสร้างในงวดที่ 2 โจทก์ได้รับชำระเงินไปครบถ้วนแล้ว ทั้งโจทก์มิได้เรียกค่าก่อสร้างและมีคำขอให้จำเลยชำระค่างานในงวดที่ 3 แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยชำระค่าจ้างงวดที่ 2 และที่ 3 บางส่วนให้แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments