Home คดีครอบครัว ผิดสัญญาหมั้นตามกฎหมายคืออะไร

ผิดสัญญาหมั้นตามกฎหมายคืออะไร

4783

ผิดสัญญาหมั้นตามกฎหมายคืออะไร

การผิดสัญญาหมั้น

การผิดสัญญาหมั้น หมายตวามว่า การที่คู่หมั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดปฏิเสธไม่ยินยอมทำการสมรสด้วยกับคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงก็ตาม โดยปกติแล้วในการทำการหมั้นกันนั้นคู่สัญญาหมั้นอาจตกลงกันว่าจะทำการสมรสกันตามวันเวลาที่กำหนดไว้ตามปฏิทินหรือเมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งในกรณีที่ได้มีการกำหนดวันสมรสไว้ด้วยวิธีดังกล่าวแล้วจะยังไม่ถือว่ามีการผิดสัญญาหมั้นขึ้นจนกว่าพ้นวันเวลาที่ตกลงทำการสมรสกันไว้หรือเมื่อเหตุการณ์เช่นว่านั้นเกิดขึ้นแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่คู่สัญญาหมั้นจะได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งบอกปฏิเสธไม่ยอมทำการสมรสกับอีกฝ่ายก่อนถึงวันเวลาที่ตกลงกันไว้ หรือทำให้การสมรสเป็นการพ้นวิสัยโดยได้ทำการสมรสกับบุคคลอื่นก่อนแล้ว สำหรับในกรณีที่ชายไม่ยอมทำการสมรสกับหญิง หรือหญิงไม่ยอมสมรสกับชาย กรณีเช่นนี้จะบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาหมั้นไม่ได้ กล่าวคือจะบังคับให้ทำการสมรสกันไม่ได้ เพราะการหมั้นนั้นไม่เป็นเหตุฟ้องร้องให้บังคับให้ทำการสมรสได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1438 “การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ” เกี่ยวกับข้อตกลงจะให้เบี้ยปรับนั้น ตัวอย่างเช่น ในขณะทำสัญญาหมั้นนั้น ชายได้ให้คำมั่นกับหญิงว่าหากฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้นไม่ทำการสมรสกับหญิงในอนาคต ชายยินยอมใช้เงินให้แก่หญิงเป็นค่าปรับ ดังนี้คำมั่นที่ชายไว้ให้ไว้กับฝ่ายหญิงเกี่ยวกับค่าปรับในกรณีมีการผิดสัญญาหมั้นดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามผลของมาตรา 1438 ดังนั้นหากเกิดการผิดสัญญาหมั้นกันหญิงจะเอาเบี้ยปรับดังกล่าวจากชายไม่ได้ แต่สัญญาหมั้นยังคงมีผลสมบูรณ์ทุกประการ หญิงยังคงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนอย่างอื่นจากชายได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 1440 เฉพาะแต่ข้อตกลงเรื่องค่าปรับดังกล่าวเท่านั้นที่จะมีผลเป็นโมฆะ

ดังนั้นเมื่อมีการผิดสัญญาหมั้นกันเกิดขึ้นจะต้องบังคับให้ใช้ค่าทดแทนให้แก่กันได้เท่านั้น ซึ่งตามกฎหมายแล้วกรณีที่จะเรียกค่าทดแทนกันได้จะต้องมีการหมั้นเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น หากเพียงแต่เป็นการตกลงจะทำการสมรสกันไม่ได้ทำเป็นสัญญาหมั้นก็จะเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1440 ไม่ได้ รวมถึงกรณีที่ชายมีการสมรสกับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายไว้อยู่แล้วแต่ได้ทำสัญญาหมั้นกับหญิงอีกคนหนึ่งอีก ต้องถือสัญญาหมั้นนั้นเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 150 หากต่อมาชายที่ทำการหมั้นกับหญิงไม่ยอมสมรสกับหญิง หญิงก็จะฟ้องเรียกค่าทดแทนไม่ได้เพราถือว่าสัญญาหมั้นได้ตกเป็นโมฆะแล้ว

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments