Home ข่าวสาร หลักการหักกลบลบหนี้ในคดีรับเหมาก่อสร้างศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

หลักการหักกลบลบหนี้ในคดีรับเหมาก่อสร้างศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

1305

 

หลักการหักกลบลบหนี้ในคดีรับเหมาก่อสร้างศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 12,009,506 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 8,975,849 บาท กับต้นเงินจำนวน 1,489,061 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,250,000 บาท และชำระเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ของดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าแห่งการงานจำนวน 8,975,849 บาท ซึ่งดอกเบี้ยอันเกิดขึ้นนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,017,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ก่อสร้างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท ในราคา 25,000,000 บาท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2538 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 23 กันยายน 2539 แต่ต่อมามีการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไป 2 ครั้ง กำหนดเวลาแล้วเสร็จครั้งสุดท้ายภายในวันที่ 19 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์ก็ยังก่อสร้างไม่เสร็จ จำเลยบอกเลิกสัญญาโจทก์จึงฟ้องเรียกเงินค่าก่อสร้างในงานที่ทำให้จำเลยไปแล้วเป็นคดีนี้ ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ แต่โจทก์ยังไม่พอใจในจำนวนเงินที่ศาลกำหนดให้ จึงยื่นฎีกา แต่ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์และขณะเดียวกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยได้ฟ้องโจทก์เรียกร้องเอาค่าปรับฐานที่โจทก์ผิดสัญญาก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาและศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้โจทก์ในคดีนี้ชำระเงินแก่จำเลยตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 154/2547 เอกสารท้ายฎีกาของจำเลย คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะขอหักกลบลบหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้และในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 154/2547 ของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า หนี้ทั้งสองคดีเป็นหนี้ตามคำพิพากษา ไม่ถือว่าเป็นสิทธิเรียกร้องที่มีข้อต่อสู้จึงหักกลบลบหนี้กันในชั้นนี้ได้ เห็นว่า ความรับผิดของจำเลยที่ต้องชำระค่างานให้แก่โจทก์กับความรับผิดของโจทก์ที่จะต้องชำระค่าปรับแก่จำเลยเกิดจากสัญญาเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างผูกพันในหนี้อันเดียวกัน จึงหาใช้เป็นการหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 344 ห้ามมิให้หักกลบลบหนี้หากสิทธิเรียกร้องนั้นยังมีข้อต่อสู้ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกขึ้นปรับบทวินิจฉัยไม่ เมื่อจำเลยและโจทก์ต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่กันในแต่ละคดีซึ่งการบังคับคดีตามคำพิพากษาต้องกระทำแยกต่างหากจากกัน ดังนี้ จำเลยจะขอหักหนี้ได้เพียงใดหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองคดีมาหักกันนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป ความรับผิดชอบจำเลยที่ต้องชำระค่างานให้แก่โจทก์กับความรับผิดของโจทก์ที่จะต้องชำระค่าปรับแก่จำเลยเกิดจากสัญญาเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างผูกพันในหนี้อันเดียวกัน จึงหาใช่เป็นการหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 344 ห้ามมิให้หักกลบลบหนี้หากสิทธิเรียกร้องนั้นยังมีข้อต่อสู้ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกขึ้นปรับบทวินิจฉัยไม่ เมื่อจำเลยและโจทก์ต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่กันในแต่ละคดีซึ่งการบังคับคดีตามคำพิพากษาต้องกระทำแยกต่างหากจากกัน ดังนี้ จำเลยจะขอหักหนี้ได้เพียงใดหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีต่อไป

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

โทร 086-807-5928

อ่านบทความเพิ่มเติม https://www.englawyers.com/

Facebook Comments