Home คดีครอบครัว ลูกหนี้ผิดนัด บอกกล่าวผู้ค้ำประกันเกิน ๖๐ วันมีผลอย่างไรบ้าง

ลูกหนี้ผิดนัด บอกกล่าวผู้ค้ำประกันเกิน ๖๐ วันมีผลอย่างไรบ้าง

3430

กรณี หากหนังสือบอกกล่าวแจ้งไปถึงผู้ค้ำประกันเมื่อพ้น ๖๐ วัน ( ออกหนังสือภายในกำหนด ๖๐  วัน )  จะมีผลอย่างไร

 ประเด็นดังกล่าวนี้มีบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวโดยตรง คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๖๘๖ เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ

ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง

เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้หรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ตามวรรคหนึ่ง ผู้ค้ำประกันอาจชำระหนี้ทั้งหมดหรือใช้สิทธิชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้ก่อนการผิดนัดชำระหนี้  ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ตนต้องรับผิดก็ได้ และให้นำความในมาตรา 701 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในระหว่างที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามวรรคสาม เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดในระหว่างนั้นมิได้ การชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันตามมาตรานี้ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ค้ำประกันตามมาตรา 693

 

เดิมเมื่อเจ้าหนี้ออกหนังสือบอกกล่าวแจ้งไปยังผู้ค้ำประกันภายใน ๖๐ วัน แล้ว หลักแม้หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วัน ผู้ค้ำประกันก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ตามมาตรา๖๘๖ วรรค ๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเด็นนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๔๗/๒๕๖๒  วินิจฉัยว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด  อีกทั้งเจ้าหนี้ต้องสืบให้ได้ว่า ผู้ค้ำประกันได้รับหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด  หากเจ้าหนี้สืบไม่ได้ว่าผู้ค้ำประกันได้รับหนังสือบอกกล่าวภายใน ๖๐ วันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด เช่นนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย และค่าสินไหมทดแทน ตลอดตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อพ้นกำหนดเวลา ๖๐  วัน แล้วตามมาตรา ๖๘๖ ววรค ๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๔๗/๒๕๖๒

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด” บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดรูปแบบข้อความของหนังสือบอกกล่าวไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้วเพื่อผู้ค้ำประกันจะได้ใช้สิทธิเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้เพื่อลดภาระหนี้ การตีความข้อความในหนังสือบอกกล่าวจึงไม่จำต้องยึดถือรูปแบบที่เคร่งครัด

เมื่อปรากฎว่าหนังสือบอกกล่าวซึ่งโจทก์ส่งไปยังจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มีเนื้อความระบุว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมียอดหนี้จำนวนเงินค้างชำระและยังมิได้ชำระหนี้ ขอให้ไปชำระหนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวซึ่งมีข้อความที่แจ้งว่าลูกหนี้ผิดชำระหนี้ เข้าลักษณะเป็นหนังสือบอกกล่าวตามความมุ่งหมายมาตรา ๖๘๖ วรรคหนึ่ง แล้ว

จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มิได้รับหนังสือบอกกล่าวภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ผิดนัด จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็น อุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว ตามมาตรา ๖๘๖ วรรคสอง โจทก์คงเรียกให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่คิดได้เพียง ๖๐ วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ผิดนัด เท่านั้น

ดังนั้นพอสรุปได้ว่าหากผู้ค้ำประกันไม่ ได้รับหนังสือบอกกล่าวภายใน ๖๐ วันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย และค่าสินไหมทดแทน ตลอดตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อพ้นกำหนดเวลา ๖๐  วัน แล้วตามมาตรา ๖๘๖ ววรค ๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

 

Facebook Comments