Home คดีอาญา เจ้าหน้าที่ธนาคารโอนเงินลูกค้าเข้าผิดบัญชีฟ้องเรียกคืนได้หรือไม่

เจ้าหน้าที่ธนาคารโอนเงินลูกค้าเข้าผิดบัญชีฟ้องเรียกคืนได้หรือไม่

1927

เจ้าหน้าที่ธนาคารโอนเงินลูกค้าเข้าผิดบัญชี

#ผู้รับโอนมีความผิดฐานใดหรือไม่

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง คือ

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๓๕๒  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบในความผิดฐานยักยอก ต้องมีการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น แล้วเบียดบังโดย ทุจริต พิจารณาตาม การได้มาซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๖๗ บัญญัติว่า “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้สิทธิ์ ครอบครอง” และมาตรา ๑๓๖๘ บัญญัติว่า “การโอนการครอบครองย่อมทำ ได้โดยส่งมอบ ทรัพย์สินที่ครอบครอง” การครอบครอง อาจเป็นได้ โดย เจ้าของเป็นผู้ครอบครองเอง หรือ การครอบครองโดย ได้รับมอบหมายจากเจ้าของหรือจากตัวแทน หรือเป็นการครอบครองโดยปริยาย และมีการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคลที่สาม โดยเจตนาทุจริต จะมีความผิด ฐานยักยอก

จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๔๔๒/๒๕๔๐

พนักงานของธนาคารโจทก์ร่วมรับฝากเงินจากบริษัทท.จำนวน 2,132,770 บาท เพื่อโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ของบริษัท ท. แต่พนักงานของโจทก์ร่วมป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผิดพลาดไปเป็นเลขที่บัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ธนาคารโจทก์ร่วม สำนักงานใหญ่ ต่อมาเมื่อจำเลยนำเงินฝากเข้าบัญชีในวันดังกล่าวจึงทราบว่ามีเงินมาเข้าบัญชีของจำเลยโดยการผิดพลาด จากนั้นจำเลยได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวในบัญชีของจำเลยไปจากธนาคารของโจทก์ร่วม สำนักงานใหญ่ โดยการปิดบัญชี การที่จำเลยได้ถอนเงินที่เข้าบัญชีผิดพลาดนั้นออกไปตั้งแต่ในขณะที่โจทก์ร่วมเองก็ยังไม่ทราบว่าเงินจำนวนนั้นไม่ใช่เป็นเงินของจำเลยก็ตาม แม้จำเลยจะเป็นฝ่ายทราบแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยโจทก์ร่วมยังไม่ทราบว่าเงินจำนวน 2,132,770 บาท นั้นเข้าบัญชีของจำเลยผิดพลาดก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมีเจตนาทุจริตถอนเงินดังกล่าวไป และโจทก์ร่วมได้มอบเงินให้แก่จำเลยไปแล้วเช่นนี้ กรณีถือได้ว่าเงินจำนวน 2,132,770 บาทนั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยเพราะโจทก์ร่วมได้ส่งมอบให้โดยสำคัญผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 352 วรรคสอง

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า ได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้รับโอนเพราะผู้โอนได้ส่งมอบให้โดยสำคัญผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 352 วรรคสอง เมื่อผู้รับโอนมีเจตนาทุจริตถอนเงินดังกล่าวไป

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments